อาการป่วยพระธรรมปิฎก
 

 

     เป็นข่าวน่าตกใจในแวดวงพุทธบริษัททั่วโลก เกี่ยวกับอาการอาพาธของ "พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก" พระนักปราชญ์เสาหลักของวงการพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทย เพียงหนึ่งเดียวในยุคปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ ที่ 27 ตุลาคม 2546 รายงานว่า
 

เวลา ? อาตมาเหลือน้อย" คำขอ..อาจารย์มหาประยุทธ์

     ก่อนหน้านี้ หรือแม้ช่วงที่สังคมไทยกำลังอยู่ในกระแสเอเปค พุทธบริษัทหลายคนที่เคยทราบบ้างว่า อาจารย์พระมหาประยุทธ์ หรือพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)...อาพาธ แต่น้อยคนที่จะรู้ลึกถึงขั้นว่า ท่านอาจารย์ถูกโรคภัยรุมเร้าอยู่ถึง 6 โรค

     ความที่พระคุณเจ้าไม่เพียงเป็นพระเถระชั้นนำของประเทศ ซึ่งผู้คนให้ความเคารพกราบไหว้ ยังเปรียบเสมือนเสาหลักสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เมื่อเสาหลักเริ่มง่อนแง่นไปตามวาระสังขาร...ผู้ที่รู้ข่าว...ก็ยิ่งเป็นห่วง

     ประวัติโดยย่อ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิด ตั้งแต่อายุ 12 ปี ต่อมาย้ายไปอยู่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพฯ ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคตั้งแต่ยังเป็นสามเณร นับเป็นสามเณรเปรียญ 9 ของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการอุปสมบทเป็นนาคหลวงเมื่อปี 2504 สอบได้ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) ในปี 2505 และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. ในปีถัดมา

     ผลงานสำคัญมากมาย เมื่อครั้งยังไม่ถูกโรคภัยรุมเร้า ท่านเคยเป็นทั้งอาจารย์สอนที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (วัดมหาธาตุฯ) คณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โครงการศาสนาเปรียบเทียบของมหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายวิชาพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

     ด้วยความรู้ความสามารถชนิดหาผู้ทัดเทียมยาก ในเวลาต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ รวมมากถึง 13 สถาบัน

     ญาติโยมซึ่งเคยติดตามผลงานทางวิชาการของท่าน ย่อมรู้ดีว่านอกจากการบรรยาย ปาฐกถา และธรรมเทศนา ที่ท่านเจ้าคุณได้รับเชิญทั้งภายในประเทศ และในที่ประชุมระดับนานาชาติบ่อยครั้ง ยังมีงานนิพนธ์รวมกันอีกมากกว่า 257 เรื่อง

     ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่น ได้แก่ พุทธธรรม การศึกษาของคณะสงฆ์ ความจริงแห่งชีวิต คนไทยกับป่า พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ทั้งฉบับประมวลศัพท์ และประมวลธรรม ศิลปศาสตร์แนวพุทธ ธรรมนูญชีวิต พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ Buddhist Economics และ Thai Buddhist in the Buddhist World เป็นต้น

     วันนี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกในวัย 64 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม (อยู่ด้านหลังพุทธมณฑล) แม้สังขารของท่านจะถูกโรคภัยรุมเร้าถึง 6 โรค ไม่เอื้อต่อวัตรปฏิบัติที่ต้องตรากตรำ แต่ท่านยังคงทุ่มเทเวลาทุกนาทีอย่างมีค่าให้แก่งานนิพนธ์ เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา เวลาแต่ละนาทีของท่านจึงมีคุณค่ามากกว่าที่จะฝืนสังขารออกมารักษาน้ำใจญาติโยม

     พระครูปลัดปิฎกวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน หนึ่งในลูกศิษย์ใกล้ชิดติดตามท่านเจ้าคุณมานานกว่า 30 ปี ได้เล่าถึงอาการ อาพาธในปัจจุบันของท่านเจ้าคุณว่า


   
 “เวลานี้ท่านอาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ปวดท้องจากอาการพังผืดรัดลำไส้ ตาเป็นต้อหินและต้อกระจก ทั้ง 2 ข้าง บางครั้งมีอาการกดดันในสมอง และอาการชีพจรกับความดันโลหิตแปรปรวน”


    
โรคนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์เพิ่งตรวจพบเมื่อช่วงก่อนเข้าพรรษาปีนี้ และลงความเห็นว่าต้องผ่าตัด แต่ท่านยังขอผัดผ่อน อาการพังผืดรัดลำไส้ บางวันท่านเจ้าคุณปวดท้องมาก อาการนี้เกิดขึ้นหลังจากท่านเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งเมื่อหลายปีก่อน แพทย์เห็นว่าหากผ่าตัดรื้อพังผืดต้นเหตุของอาการออก อีกไม่นานก็เกิดพังผืดขึ้นมาใหม่ จึงรอให้ถึงที่สุดก่อนจึงค่อยผ่า

     “ทั้ง 2 โรคท่านรับนัดหมอไว้ แต่ยังขอผัดผ่อน ส่วนอาการต้อหินและต้อกระจกแพทย์เพิ่งตรวจพบก่อนเข้าพรรษา มีความดันในลูกตาสูง ตาเป็นต้อกระจกและต้อหินทั้ง 2 ข้าง มีอาการตาเอียงร่วมด้วย หมอบอกว่า ช่วงนี้ไม่เหมาะที่ท่านจะใช้สายตาเขียนหนังสือ แต่เพราะเป็นงานที่ท่านรักและทุ่มเทมาทั้งชีวิตจึงอดไม่ได้”

     “เวลาอาตมาเข้าไปรับใช้ ต้องปรินต์ตัวหนังสือขยายใหญ่สุดถึง 120 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ท่านอ่านได้ง่าย แต่ก็น่าแปลก ตั้งแต่ท่านเริ่มอาพาธ ทำงานได้ไวขึ้น โดยเฉลี่ยสามารถเขียนหนังสือได้ถึงเดือนละ 2 เล่ม โดยมากเขียนขึ้นจากคำบรรยาย ซึ่งนำมาถอดเทป เรียบเรียง ตรวจทาน และปรับสำนวนใหม่ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจง่าย”

     ผู้ช่วยเจ้าอาวาสยกตัวอย่างบางอาการที่รุมเร้าท่านเจ้าคุณ เช่นเมื่อฉันอาหารเสร็จใหม่ๆ หากท่านหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านทันที แม้เพียงประโยคเดียว แทบทุกครั้งจะเกิดอาการเหมือนบีบ กด และไม่สบายในสมองไปเกือบตลอดวัน แต่ถ้าหากฉันอาหารแล้วท่านได้นอนพักสัก 15 นาที จะอ่านหนังสือต่อถึง 12 ชั่วโมงก็ไม่มีปัญหา

     ส่วนอาการชีพจรและความดันโลหิตแปรปรวน ท่านเริ่มเป็นมาตั้งแต่หลังเข้ารับการผ่าตัด เส้นเลือดใหญ่สู่สมองฝั่งซ้าย (carotid artery) เมื่อปี 2540 ซึ่งศัลยแพทย์แจ้งว่า หลังการผ่าตัด อวัยวะที่ช่วยปรับชีพจรและความดันโลหิตได้ถูกทำลายไปด้วย ผลก็คือทำให้เกิดอาการชีพจรและความดันโลหิตแปรปรวน มานานถึง 6 ปี

     “ช่วงที่ชีพจรและความดันโลหิตของท่านเป็นปกติ คือชีพจรประมาณ 65/75 ความดันประมาณ 112/70 ท่านเจ้าคุณจะไม่มีแรงพูด มีอาการง่วง มึนงง และหาวตลอด” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสตั้งข้อสังเกต แต่พอชีพจรและความดันโลหิตของท่านสูงจนใกล้ขีดอันตราย เช่นอยู่ที่ประมาณ 120-135 ท่านกลับดูแข็งแรง สามารถบรรยายธรรมได้นาน 2-3 ชั่วโมงอย่างสบาย แต่ถ้าหากปล่อยให้ชีพจรเต้นสูงเกิน 100 ต่อเนื่องไปนานๆ ผลก็คือ ในวันต่อมาท่านจะเริ่มมีอาการเจ็บที่หัวใจ อาการเช่นนี้แพทย์วินิจฉัยว่า อาจเป็นเพราะเมื่อหัวใจเต้นเร็วจนเคยชิน ในช่วงที่ชีพจรกลับ มาเต้นช้าลง ทำให้เลือดส่งไปเลี้ยงที่หัวใจไม่พอ

     ท่านพระครูบอกว่า เนื่องจากสภาพปัญหาทางกายภาพของท่านเจ้าคุณไม่อำนวย ตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมาท่านเจ้าคุณจึงงดรับกิจนิมนต์ แม้แต่ภายในวัดเองก็ไม่ได้ออกมาร่วมพิธีทั่วไป เว้นแต่ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือในวาระจำเป็นจริงๆ ยิ่งระยะนี้ตาทั้ง 2 ข้างของท่านเป็นทั้งต้อหินและต้อกระจก ร่วมกับมีภาวะตาเอียงเกินขนาด แม้จักษุแพทย์กำลังทำการรักษา แต่อาการยังไม่ลงตัว ขณะเดียวกันทางศัลยแพทย์ก็เร่งรัดให้ท่านไปเข้ารับการผ่าตัดในช่องท้อง แต่ท่านยังขอผัดผ่อน

     ท่านพระครูปลัดปิฎกวัฒน์ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้าย โดยปกติพื้นนิสัยของท่านเจ้าคุณเป็นผู้สันโดษ มักน้อย ชอบปลีกหลีกเร้นจากผู้คน แต่จะใช้เวลานำปัญญามาแก้ไขปัญหาทำงาน เพื่อพระศาสนาเป็นหลัก ช่วงที่ท่านมีอาการหลายโรครุมเร้า จึงยิ่งต้องการเป็นอิสระจากผู้คนมากขึ้น

     ท้ายสุด ท่านเจ้าคุณได้ฝากคำพูดบางประโยคผ่านผู้ช่วยเจ้าอาวาส มายังญาติโยมพุทธบริษัทที่มีความห่วงใยในอาการของท่านว่า

     “เจริญพรโยมญาติมิตรผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน อาตมภาพต้องขออภัยอย่างยิ่ง ด้วยสภาพร่างกายไม่อำนวย สมองกับหัวใจทำงานขัดกันอย่างมาก เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว แต่ยังมีงานอีกมากมายที่คั่งค้าง ระหว่างนี้ อาตมภาพขอโอกาสเพื่อใช้เวลาเร่ง ทำงานคั่งค้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอเจริญพร”



     แม้ว่าสังขารจะเป็นสิ่งไม่เที่ยง แต่สังขารที่มีประโยชน์ เช่น พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก นี้ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกก็ล้วนปรารถนาให้อยู่คู่พระพุทธศาสนาไปนานที่สุด นับเป็นข่าวที่น่าเศร้าใจ อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างจริงจังมั่นคง ก็เป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยในพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์สุปฏิปันโน เช่น พระเดชพระคุณพระธรรมปิฏก ได้อย่างหนึ่ง และเชื่อว่าเป็นความดำริของพระคุณท่านเช่นเดียวกัน ที่จะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่คู่โลกที่มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้านี้ตราบนานเท่านาน

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
27  ตุลาคม  2546

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264