มหาเถรสมาคมออกกฎ
ให้พระสงฆ์อายุ 80 ปีขึ้นไปต้องเกษียน
!   
 


     เป็นข่าวฮอตที่สุดจากเมืองไทยอีกข่าวหนึ่ง ซึ่งร้อนแรงเป็นอย่างยิ่ง หัวอกหัวใจของพระหนุ่มเณรน้อยนั้นเต้นตูมตามขึ้นมาทันใด เมื่อได้รับทราบข่าว
ใหม่ ซิง ๆ จากเมืองไทย ให้พระสังฆาธิการไทยทุกระดับต้องรีไทร์ตัวเองเมื่อมีอายุได้ 80 ปี ไม่มีข้อยกเว้น แถมยังจะเล่นงานถึงพระสังฆาธิการผู้มีอายุอ่อนกว่า 80 ปี ถ้าไม่มีผลงานชัดเจนเป็นตัวเป็นตน เป็นคนไร้สมรรถภาพ เช่น ไม่เคยได้รับเลื่อนสมณศักดิ์หรือตำแหน่งแห่งหนใด ๆ ที่สูงกว่าในอดีตเป็นเวลากี่ปีกี่วันกี่เดือนเป็นต้น พวกนี้จะถูกรวบเข้าในบัญชีผีให้ตัดชื่อออกจากตำแหน่งพระสังฆาธิการในทันที

            คำว่า "พระสังฆาธิการ" นั้น ท่านระบุว่า ได้แก่พระที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่รองเจ้าอาวาสไปจนถึงเจ้าคณะภาค ส่วนเจ้าคณะหนและกรรมการมหาเถรสมาคมนั้นท่านถือว่า ไม่ใช่พระสังฆาธิการ ความหมายก็คือว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับเฉพาะพระที่ดำรงตำแหน่งในทางปกครองตั้งแต่เจ้าคณะภาคลงมาเท่านั้น ส่วนตำแหน่งเจ้าคณะหนและกรรมการมหาเถรสมาคม (กรรมการมหาเถรสมาคมมี 2 ประเภท ได้แก่ โดยตำแหน่ง มี 9 รูป คือ สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง เทียบได้กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในทางบ้านเมือง และสมเด็จพระราชาคณะ 8 รูป เป็นฝ่ายมหานิกาย 4 รูป ฝ่ายธรรมยุติกนิกายอีก 4 รูป เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง จะหมดสถานภาพก็ต่อเมื่อลาสิกขาหรือมรณภาพเท่านั้น แต่ท่านคงไม่ลาสิกขาหรอก เพราะส่วนมากกว่าจะได้เป็นก็หงำเหงือกกันแล้ว อีกประเภทหนึ่งนั้นเป็นกรรมการโดยแต่งตั้ง ซึ่งจะลงนามโดยสมเด็จพระสังฆราช) นั้น จะไม่ถูกปลดแต่อย่างใด ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น คือต้องดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะตายในผ้าเหลืองว่างั้นเถอะ

นั่นแหละคือข่าวใหญ่ ข่าวดัง หนังสือพิมพ์ดัง ๆ พาดหัวข่าวกันเกรียวกราวจนน่ากลัว เช่น ไทยรัฐ ฉบับวันที่  30 กันยา 2546 โฆษณาว่า วงการสงฆ์ป่วน ไล่ปลดพระชรา และปิดท้ายด้วยคำว่า นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายระบบอาวุโสที่มีมาแต่เดิมด้วย อีก 3 วันต่อมาในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ออกทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเต็มพิกัดว่า

เรื่องใหม่วงการสงฆ์กลายเป็นเรื่องฮือฮาในวงการคณะสงฆ์ เมื่อมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหเถรสมาคม 2 ฉบับ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมหาเถรสมาคม ฉบับแรก แก้ไขกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 ว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์ ฉบับที่สอง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 24 ว่าด้วยการ แต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการ โดยมีสาระสำคัญให้ปลด พระสังฆาธิการผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป และขึ้นหิ้งเป็นที่ปรึกษา

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคมทั้ง 2 ฉบับ ถ้าได้รับความเห็นชอบจาก ที่ประชุม มหาเถรสมาคม จะมีผลทำให้ผู้ บังคับบัญชามีอำนาจ สามารถปลดพระสังฆาธิการ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะภาคลงไปจนถึงรองเจ้าคณะตำบล หรืออาจจะถึงระดับ รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส ถ้าผู้นั้นอายุถึง 80 ปี และให้แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา เจ้าคณะคนใหม่ ผู้เข้ารับตำแหน่งสืบแทนจากผู้ที่ถูกถอดถอน

พระสังฆาธิการ ได้แก่ พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ ตั้งแต่ ระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป จนถึงเจ้าอาวาส รองเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะภาค เป็นต้น มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ รวมทั้งรับผิดชอบดูแล ด้านการศึกษา การเผยแผ่และอื่นๆ ในเขตปกครอง

เนื่องจากสามารถอยู่ในตำแหน่งโดยไม่มีการเกษียณอายุ เหมือนกับข้าราชการของฝ่าย อาณาจักร พระสังฆาธิการส่วนหนึ่งจึงมีอายุสูงจนถึง 70 หรือ 80 ปี และบางรูปสุขภาพ ไม่ดีจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีเสียงเรียกร้องให้แก้ไข กฎหมายมหาเถรสมาคม ให้พระสังฆาธิการเกษียณเมื่ออายุ 80 ปี เพื่อเปิดทางให้พระหนุ่ม ผู้มีความรู้ความสามารถปฏิบัติหน้าที่แทน

          กฎมหาเถรสมาคมที่แก้ไขเพิ่มเติม อาจจะเป็นผลดีในแง่ที่เปิดทางให้พระภิกษุที่ยังไม่แก่ชรา แต่มีความรู้ความสามารถและมีพลานามัยที่สมบูรณ์ สามารถดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการผู้รับผิดชอบในการปกครองคณะสงฆ์ เป็นการแบ่งเบาภาระของพระสังฆาธิการผู้ชราภาพได้ และเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อวงการคณะสงฆ์ วงการพระพุทธศาสนา ตลอดจนประเทศชาติเป็นส่วนรวมแต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเปิดช่องโหว่ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจ ถอดถอนพระสังฆาธิการ ผู้ใต้บังคับบัญชาออกจากตำแหน่ง และตั้งให้เป็นที่ปรึกษาได้ ถ้าเห็นว่าหย่อนความสามารถ แม้อายุจะยังไม่ถึง
80
ปี ก็ตาม ควรจะมีระบบการตรวจสอบความสามารถที่ถูกต้อง เพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม ไม่เปิดช่องโหว่ให้มีระบบเส้นสายและวิ่งเต้นแบบข้าราชการ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับล่างถึงระดับกลาง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับบน วงการพระสงฆ์และชาวพุทธเคยเรียกร้องจนได้มา ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายคณะสงฆ์ ดังที่เคยมีการเสนอให้มีองค์กรใหม่ๆ เช่น มหาคณิสสร และอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระมหาเถรสมาคมในการบริหารงานคณะสงฆ์

นั่นคือทัศนะจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งให้ทั้งการสนับสนุนและตั้งข้อสังเกตในการใช้วิจารณญาณในการ ปลด พระชรา ความจริงแล้ว ผู้เขียนว่าไม่น่าห่วง ห่วงอย่างเดียวว่าจะเป็นเพียง นโยบาย ที่ไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเท่านั้น เพราะพระสังฆาธิการส่วนใหญ่นั้นก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า เด็กใคร เส้นไหน มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว พูดก็พูดเถอะ พระสังฆาธิการทั้งบ้านเมืองในขณะนี้ ไม่มีซักองค์เลยที่จะได้รับการเลือกตั้งจากส่วนล่าง มีแต่แต่งตั้งมาจากเบื้องบนคือเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะหนหรือมหาเถรสมาคมทั้งนั้น เพราะถ้าท่านไม่เห็นชอบด้วยก็อย่าหวังว่าจะได้นั่งเก้าอี้สมใจ ในจุดนี้จึงควรพิจารณาว่า ในเมื่อออกกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้มีอำนาจในการพิจารณาความเหมาะสมแล้วปลด พระชรา ได้นั้น ถามว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจในการปลด คำตอบก็คือ พระผู้ใหญ่ในระดับสูงกว่าขึ้นไป นั่นก็คือ เจ้าคณะหน ซึ่งส่วนมากก็ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรคือเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะสงฆ์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ดังนั้น จึงขอบอกว่า ไม่ต้องวอรี่อะไรหรอก เพราะไม่มีทางที่คนแก่ระดับเจ้าคณะหนซึ่งเป็นกรรมการมหาเถร ซึ่งส่วนมากจะมีอายุเกิน 70-80 ปีขึ้นไป จะมองเห็นพระสังฆาธิการผู้มีอายุ 80 ปีหรือตำกว่านั้นว่าเป็น ผู้เฒ่าหรือด้อยสมรรถภาพ เพราะถ้าปลดก็จะเป็นภาพฟ้องตัวเองด้วยว่า แล้วพระเดชพระคุณล่ะ ยังไม่แก่ไม่เหี่ยวเลยเหรอ หรือว่าพระเดชพระคุณมีสมรรถภาพแน่นปั๋งเหมือนเมื่อยังอายุ 20 คำถามนี้ควรสนใจเป็นอย่างยิ่ง

กล่าวให้ครอบคลุม ปัญหาในวงการคณะสงฆ์ปัจจุบันนี้ทั้งหมด มันไม่ได้อยู่ที่พระสังฆาธิการ หากแต่ติดอยู่ที่มหาเถรสมาคมหมด ไม่ว่าปัญหาอะไร ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ พระสังฆาธิการในระดับล่างไม่มีอำนาจในการจัดการได้เด็ดขาด ต้องอาศัยมหาเถรสมาคมให้ลงมาเล่นแทนในทุกบท แต่มหาเถรสมาคมนั้น แปลว่า สมาคมของพระที่แก่มาก หรือแก่ยิ่งกว่าแก่ เพราะมหานั้นแปลว่ามาก เถระก็แปลว่า แก่ เฒ่า หรือชรา ทีนี้เมื่อพระผู้เฒ่าแบบนอนโรงพยาบาลบริหารบ้านเมืองยังคงกุมอำนาจไว้ในย่ามอยู่อย่างไม่รู้วันตาย ก็อย่าหวังเลยว่าสังฆมณฑลไทยจะเจริญ นี่มิได้กล่าวจาบจ้วงโจมตีพระเถระ แต่เราต้องพิจารณาความเป็นจริงกันให้หนัก ว่าปัจจุบันวันนี้โลกพัฒนาไปถึงไหน มีใครบ้างในมหาเถรสมาคมให้ความสนใจในเรื่องของการศึกษาและพัฒนาวงการคณะสงฆ์ นอกจากจะรับกิจนิมนต์เปิดโน่นเจิมนี่ไปวัน ๆ หรือไม่ก็ไปนั่งปรกปลุกเสกพระเครื่อง

เป็นการทำลายระบบอาวุโสที่มีมาแต่เดิม นั่นเป็นวิสัยทัศน์ของเมืองไทยสมัยสามพันปีก่อนที่ยังตกตะกอนอยู่จนเดี๋ยวนี้ เพราะคนไทยเราให้ความเคารพเชื่อมั่นในพระภิกษุผู้ชรา ว่าคงไม่มีกิเลสแล้ว น่าไว้วางใจกว่าพระหนุ่มเณรน้อย ไม่รู้ว่าจะเกี้ยวสีกาในเวลาไหน ดังนั้น ถ้าได้พระผู้เฒ่าเป็นเจ้าอาวาสหรือเป็นพระสังฆาธิการก็จะให้ความเคารพนับถือ

หากแต่ในโลกยุคปัจจุบันนั้น เราท่านก็ได้เห็นว่า ระบบอาวุโสที่ใช้ในวงการคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยสร้างชาติมานั้น ไม่ทันการณ์ มีแต่พระผู้เฒ่ามะงุมมะงาหราอยู่กับตำราเก่า ๆ เทศน์แต่ละทีก็ต้องส่องกล้องทางไกลให้ตัวหนังสือโต ๆ สำนวนก็หลงยุค เขาถามเรื่องไอที ท่านก็เล่นตอบเรื่องพระขุนแผน เขาถามเรื่องการศึกษาและพัฒนา ท่านก็ตอบเรื่องการสร้างโบสถ์สร้างวิหารว่าเป็นการสร้างงานพระศาสนาและมีบำเหน็จเป็นสมณศักดิ์ ทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยล้าหลัง สู้พระสงฆ์ต่างชาติ เช่น ศรีลังกา พม่า มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น ธิเบต หรือแม้แต่เวียตนามก็สู้เขาไม่ได้ จริง ๆ เลย ทุกวันนี้คนอเมริกันรู้จักกันก็แต่พระจีนและพระธิเบต ถ้าเรื่องวิปัสสนาเขาก็บินเข้าพม่า เพราะว่าขนาดพระไทยยังใช้พระพม่าเป็นครูสอนวิปัสสนากรรมฐานเลย มีพระจบด๊อกเตอร์ดังอยู่องค์เดียว คือพระเมตตานันโท แต่ก็ฝรั่งจ๋า พูดจาอะไรก็การแพทย์ และโลกตะวันตก ลืมโลกตะวันออก ตำหรับตำราเก่าก็ไม่เอามาประยุกต์ เชื่อแต่ทฤษฎีฝรั่ง พฤติกรรมอย่างนี้เลยถูกพระไทยรุมตีจนเกือบสลบ เพราะท่านจบแค่ประโยค 1-2 แต่อุตริสอนมหาเปรียญเก้า

สำนวนฝรั่งที่ว่า “put the right man in the right job” นั้น คณะสงฆ์ไทยคงไม่เคยได้ยิน ทั้ง ๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้ให้เป็นแนวทางมาเนิ่นนานแล้ว กรณีแต่งตั้งพระโมคคัลลาน์-พระสารีบุตร ซึ่งเพิ่งจะบวชใหม่ให้เป็นพระอัครสาวกซ้าย-ขวา ข้ามหน้าพระภิกษุเบญจวัคคีย์และองค์อื่น ๆ เช่นพระยสะ พระอุรุเวลากัสสปะ เป็นต้นไปเสียนั้น สมัยนั้นถูกพระสงฆ์โจษจันกันมากมายว่า พระพุทธองค์ทรงลำเอียง แต่ปัจจุบันก็ปรากฏชัดเจนแล้วว่า การใช้คนให้ถูกกับงาน โดยไม่ต้องผ่านระบบอาวุโสนั้น เป็นเรื่องถูกต้อง

มุมมองนี้จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับคำว่า ระบบอาวุโส ของพระสงฆ์ไทยที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เราลองย้อนอดีตกันไปในสมัยศรีสุริโยทัยกันซักหน่อยดีไหม

ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาหลายหน้าก็บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า สมัยอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นต้นมาหรืออาจจะก่อนหน้านั้นแล้ว ได้มีชาวต่างประเทศเช่น โปรตุเกส ฮอลันดา เป็นต้น เข้ามาติดต่อทำการค้าขายและแผ่อิทธิพลทางการทหารในบ้านเราแล้ว ยุคหลังมาก็เป็นฝรั่งเศษ ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏว่ามีการส่งนักบวชคริสเตียนมาสู่อยุธยาเป็นจำนวนมาก นักบวชเหล่านี้ตีเมืองขึ้นตั้งแต่จีนลงมาถึงไทย มีสังฆราชเป็นหัวหน้าในแต่ละภูมิภาค มีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ สมเด็จพระนารายณ์ถึงกับสร้างวันสันเปาโลให้แก่นักบวชคณะเยซูอิตชาวฝรั่งเศสที่ลพบุรี และทรงเข้ารับการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ เช่น ดาราศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น จนกระทั่งมีการส่งสาร์นถึงกันระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีพระราชสาร์นเชิญให้สมเด็จพระนารายณ์ เข้ารีตพระเยซูคริสต์ เรื่องมาวิปริตไปมากจนพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ต้องปฏิวัติยึดอำนาจและทำการไล่ฝรั่งออกจากกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผลจากการ ไล่ฝรั่ง ในครั้งนั้น ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าเป็นครั้งสุดท้าย ในปี พ.ศ. 2310

ไทยเราเริ่มติดต่อกับฝรั่งอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 และเริ่มมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นางแอนนาถูกเชิญตัวจากสิงคโปร์ให้มาสอนภาษาอังกฤษแก่พระลูกเธอในพระบรมมหาราชวัง ด้านอื่นนั้น มิชชั่นนารีชาวอเมริกันและอังกฤษ เช่น หมดบลัดเล่ย์เป็นต้น ก็รุกฆาตเข้ามาทางด้านการศึกษาและวิทยาการ มีหลักฐานยืนยันว่า ขณะพระลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักนั้น มีหมอนักบวชชาวอเมริกันและอังกฤษดูแลรักษาพระอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็คือในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระไทยซึ่งนิยมกินยาสมุนไพรผสมเยี่ยวนั้นมิได้รับอาราธนา นั่นเป็นด้านการแพทย์ วิทยาการการศึกษานั้น มิชชั่นนารีชาวอเมริกันนำเข้าทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น หมอบลัดเล่ย์เป็นคนแรกที่นำเอาแทนพิมพ์สมัยใหม่มาใช้ในเมืองไทย แทนระบบพระไทยที่นิยมใช้ใบลานจารึก สมัยผู้เขียนเป็นสามเณรก็ยังเคยอ่านใบลานประเภทนี้อยู่ โรงเรียนที่เป็นชื่อนักบุญต่างๆ เช่น เซนหลุย เซนโยเซฟ หรืออื่น ๆ เช่น มงฟอร์ต ปรินซ์รอย มาแตร์เดอี อัสสัมชัญ ซึ่งปัจจุบันพัฒนามาเป็นเอแบค กล่าวขานกันว่า ค่าเรียนแพงที่สุด และมีคนไทยแห่ไปเรียนกันมากที่สุด ทั้งปวงนี้เป็นผลงานของผู้สอนศาสนาชาวอเมริกัน และชาติคริสต์อื่นๆ

ส่วนพระสงฆ์ไทยเรานั้นก็เอาแต่อวดดี เช่น สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร ตะคอกใส่หน้าพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุ ซึ่งพาพระภิกษุไปกราบลาจะไปศึกษาต่อเมืองนอกว่า ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน การพระศาสนาในเมืองไทยเราน่ะ ดีที่สุดในโลกอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ปัญหาบ้านเมือง เรื่องสงครามอินโดจีน หรือแม้กระทั่งสงครามเงินบาทในปี 2540 ทำให้ประเทศไทยล่มจมจนท่วมหัว แต่พระสงฆ์ไทยที่มีมหาเถรสมาคมเป็นรัฐบาลบริหารอยู่นั้น กลับไม่มีบทบาทอะไรเลย วัน ๆ พระสงฆ์ไทยก็เอาแต่ปลุกเสกเลขยันต์ หลวงพ่อดังๆ ทางอีสาน มีคนเอาโฉนดที่ดินให้เหยียบด้วยความเชื่อมั่นว่า จะขายได้ แต่พอเมืองไทยล่มจม กลับไม่สามารถเหยียบให้ขายได้

เมื่อพระสงฆ์ไทยไม่สนใจในด้านการศึกษา ไม่ค้นคว้าหาวิทยาการใหม่ ๆ วัน ๆ เอาแต่วิเคราะห์พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคนละภาษากับชาวบ้าน ทำให้พูดกันไม่รู้เรื่อง พระเทศน์ที่ไรโยมหลับทุกที ที่ขายได้มากหน่อยก็แหล่กันเป็นทำนอง องค์ไหนเสียงดีก็ถูกบริษัทเทปจีบให้สึกออกไปร้องเพลงขายได้กำไรแน่นอนกว่า โรงเรียนวัดที่เคยมีก็ถูกเปลี่ยนชื่อออกไปเรื่อย ๆ พระสงฆ์ไทยเรียนจบมหาวิทยาลัยสงฆ์ สึกออกไป เอาใบประกาศนียบัตรมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปสมัครงาน บอกว่า จบจากมหาจุฬา ก็ถูกนายจ้างถามว่า จุฬาไหน ทำไมไม่เคยเห็น พี่บัณฑิตก็ตอบว่า จุฬาท่าพระจันทร์ นายจ้างก็งงอีกว่า ที่ท่าพระจันทร์นั้นเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มิใช่หรือครับ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์นี่ พี่ทิดก็อ้างอิงว่า มหาวิทยาลัยจุฬาของคณะสงฆ์อยู่ในวัดมหาธาตุน่ะโยม เอ๊ย คุณ ผลสุดท้ายนายจ้างก็ปฏิเสธด้วยคำว่า ผมไม่รู้จัก พี่ทิดก็ต้องเป็นบัณฑิตตกงาน นั่นนานมาแล้วมั๊ง เดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์มีการปรับปรุงใหม่แล้ว เน้นเฉพาะเรื่องวิชาการอย่างเดียว ส่วนเรื่องพระธรรมวินัยนั้นไม่สน ขนาดมีปัญหาว่าพระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง (คือที่วัดมหาธาตุและวัดบวรนิเวศน์) ก็มุดหัวอยู่ในกุฏิ ของดออกเสียง ไม่อยากให้เปลืองตัวว่างั้น

นั่นคือเรื่องของเรื่อง เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ เป็นเรื่องของนโยบาย ก่อนที่จะมาว่ากันเรื่องวิธีการ เพราะทุกอย่างต้องเริ่มที่นโยบาย แบบที่ฝรั่งว่า ไอเดีย เฟิร์สท์ ไม่ใช่ ตำแหน่งเฟิร์สท์ แบบพระไทยท่องกันอยู่ จึงดูเหมือนว่า กฎมหาเถรสมาสมาคมใหม่สองฉบับจะสร้างสีสันต์ใหม่ให้แก่วงการพระพุทธศาสนาในเมืองไทย เราจะได้พระรุ่นใหม่เข้ามาบริหารให้ทันโลกทันเหตุการณ์ แต่ก็ขอท้าว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะคนที่มีอายุ 80 ปีแล้วโดนปลดนั้น มันเลยอายุงานมามากแล้ว ดูอย่างกฎหมายรีไทร์ของข้าราชการสิ เขามีอย่างมากก็แค่ 65 ปี ไม่ใช่ 80 ปี

คำถามแบบที่ว่า ถ้าปลดพระเถระแล้วจะเอาท่านไปไว้ไหน หรือว่า เกรงจะเป็นการทำลายระบบอาวุโสที่มีมาเนิ่นนาน นั้น ทำให้เกิดความสมเพชสังเวชใจ เพราะว่าเป็นการถามด้วยความเป็นห่วง ตัวบุคคล มากกว่าจะห่วงสังคมและพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม โดยไม่มีใครเคยคิดเลยว่า การให้พระผู้ชราภาพเกินวัย 70 ปีขึ้นไป ดำรงตำแหน่งผู้บริหารคณะสงฆ์นั้น ไม่เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาให้ล้าหลังหรือ

จริงอยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ในผ้าเหลืองได้นาน แต่คำว่า อยู่นาน กับ ความเจริญเติบโตแบบทันโลกทันเหตุการณ์ นั้นมันคนละเรื่อง ความจริงแล้ว ถ้าอยากได้แบบแก่เฒ่าเอาเข้าว่า ก็น่าจะออกกฎหมายใหม่ไปเสียเลยสิว่า พระที่มีอาวุโสพรรษาถึง 100 ปี ให้พิจารณาว่ามีคุณสมบัติควรดำรงตำแหน่งสูง ๆ ในคณะสงฆ์เป็นอันดับแรก จะได้สมใจผู้ใหญ่ทั้งหลายนะ จะบอกให้

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
12  ตุลาคม  2546

 

 

 
E-Mail ถึง บก.
peesang2003@hotmail.com

All Right Reserved @ 2003
This Website Sponsored by

 

www.alittlebuddha.com เจ้าของ : วัดไทย ลาสเวกัส 2920 McLeod Dr. Las Vegas Nevada 89121 USA (702) 384-2264