สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ
อาสโภ ป.ธ.8) มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกในสมัย 25 พุทธศตวรรษ
เนื่องเพราะท่านดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์ นั่นคือ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น
นอกจากนั้นท่านยังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
พระอารามหลวงอันดับที่ 1 ในเมืองไทย ดำรงตำแหน่งสภานายกมหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อันดับที่ 1 ของเมืองไทย ที่สำคัญก็คือ ทรงสมณศักดิ์เป็นที่
"พระพิมลธรรม" ตำแหน่งรองสมเด็จพระราชาคณะ หรือที่เรียกกันว่า
พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฎ ขอนำประวัติของท่านมาเสนอเป็นวาระพิเศษดังต่อไปนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมชื่อ อาจ ดวงมาลา
เป็นบุตรของคุณพ่อพิมพ์ คุณแม่แจ้ ดวงมาลา ชาวบ้านโต้น อำเภอเมือง
จังหวัดขอนแก่น ชาตกาลของท่านคือ วันอาทิตย์ ที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.
2446 มีพี่น้องร่วมท้องแม่เดียวกันทั้งหมด 4 คน เป็นชายสองหญิงสอง
อายุ 13 ปี ในปี พ.ศ. 2459 ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร
ที่วัดศรีจันทร์ ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
มีพระอาจารย์หน่อ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์
เริ่มศึกษาภาษาธรรมแบบอีสานจนอ่านออกเขียนได้
อายุ 15 ปี ในปี พ.ศ. 2461
เมื่อทางการประกาศรับสมัครผู้มีความรู้ภาษาไทยเข้ารับการอบรมเป็นครู
สามเณรอาจได้สมัครกับเขาด้วย
จบแล้วได้รับการบรรจุเป็นครูประชาบาลที่โรงเรียนวัดกลาง ตำบลเมืองเก่า
อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้เงินเดือน 6 บาท
อีกสองปีต่อมา คือในปี พ.ศ. 2463 สามเณรอาจอยากจะเรียนต่อ
จึงขอลาออกจากตำแหน่งครู ลาพ่อแม่และครูบาอาจารย์
เดินเท้าเข้าสู่กรุงเทพฯ ทีแรกก็ไปสมัครอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
แต่กุฏิไม่ว่าง จึงไปพำนักอยู่ที่วัดชนะสงครามเป็นการชั่วคราว
และได้ย้ายไปศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถร ป.ธ.9)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
สามเณรอาจมีความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษา ดังนี้
พ.ศ. 2464 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. 2465 สอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. 2466 สอบได้บาลีเปรียญธรรม
3 ประโยค และได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีนี้ ในวันจันทร์ ที่ 18
มิถุนายน 2466 ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ มีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายา อาสโภ แปลว่า องอาจ
พ.ศ. 2467 สอบได้เปรียญธรรม 4
ประโยค
พ.ศ. 2468 สอบได้เปรียญธรรม 5
ประโยค
พ.ศ. 2469 สอบได้เปรียญธรรม 6
ประโยค
พ.ศ. 2471
สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 7 ประโยค
พ.ศ. 2472 สอบได้เปรียญธรรม 8
ประโยค
พ.ศ. 2476 พระมหาอาจ อาสโภ ป.ธ.8
ถูกส่งตัวไปทำงานในตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
พ.ศ. 2477 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระศรีสุธรรมมุนี"
พ.ศ.
2478 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2482
ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
พ.ศ. 2484
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสังฆสภา ชุดแรก ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.
2484
พ.ศ. 2486
ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะผู้ตรวจการภาค 4 เป็นองค์แรก
พ.ศ. 2488 ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
เทียบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พร้อมทั้งดำรงตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวง
และเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2489
ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การศึกษา
เทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
พระเทพเวที
พ.ศ. 2490 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่
พระธรรมไตรโลกาจารย์ พระราชาคณะชั้นธรรม
พ.ศ. 2491 พระพิมลธรรม (ช้อย
ฐานทตฺโต) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ รูปที่ 15 ได้ถึงแก่มรณภาพลง
หาพระภิกษุผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งไม่ได้
คณะสงฆ์วัดมหาธาตุทั้งปวงจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กราบอาราธนาพระธรรมไตรโลกาจารย์
(อาจ อาสโภ ป.ธ.8) วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศิษย์วัดมหาธาตุ กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
ซึ่งเป็นพระอารามหลวงอันดับที่ 1 ของประเทศไทย
และเพียงแค่ย่างขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุเท่านั้น
ความยิ่งใหญ่ของพระธรรมไตรโลกาจารย์ก็แรงรุ่ง
ในวันที่ 4
ธันวาคม 2492 พระธรรมไตรโลกาจารย์ อายุ 46 พรรษา 26 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะในราชทินนาม
“พระพิมลธรรม” ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
และถือเป็นการเริ่มต้นสงครามชีวิตของพระพิมลธรรมด้วย
โดยเรื่องก็เนื่องมาจากยศถาบรรดาศักดิ์นั่นเอง
พระพิมลธรรมเวลานั้นมีความโดดเด่นเป็นสง่าอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่มีวัดมหาธาตุมานั้น ก็มีอธิบดีสงฆ์รูปนี้แหละที่หัวก้าวหน้าที่สุด
หนุ่มแน่นที่สุด อายุเพียง 46 ปี แต่มีดีกรีเป็นถึงรองสมเด็จ
เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
เป็นสภานายกมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งประเทศไทย และที่สำคัญก็คือ ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง
ในปี พ.ศ. 2498 ตำแหน่งนี้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอำนาจล้นฟ้า
!
แน่นอนว่ายอมเป็นที่หมายปองของพระหลายรูปหลายวัดด้วย โดยเฉพาะก็คือ
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตร อยากเป็นนักเป็นหนา
ถึงขนาดว่าเคยเอ่ยปากขอ "แลก" ตำแหน่งกับพระพิมลธรรมมาแล้ว
แต่พระพิมลธรรมปฏิเสธ จึงเป็นเหตุแห่งความแค้น !
สมเด็จพระวันรัต (ปลด)
วัดเบญจฯ นั้น มีดีกรีเป็นถึงเณรนาคหลวง
คือสอบเปรียญธรรมเก้าประโยคได้ขณะเป็นสามเณรในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเป็นนาคหลวง
ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ก้าวหน้าในผ้าเหลืองมาเรื่อย ๆ
จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือการอภิวัตน์ของคณะราษฎรมีนายปรีดี พนมยงค์
เป็นหัวหน้าในปี พ.ศ. 2475 และต่อมาก็เกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484
ให้คณะสงฆ์มีการปกครองแบบประชาธิปไตย มีสมเด็จพระสังฆราช
ดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของศาสนา ในทางบ้านเมืองนั้น
มีคณะรัฐมนตรีสงฆ์เรียกว่าสังฆมนตรี บริหารวัดวาอารามทั่วประเทศในนาม
คณะสงฆ์มนตรี มีสังฆนายกเป็นหัวหน้า เทียบกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังแบ่งไปอีก 4 กระทรวงหลัก แต่เรียกว่าองค์การ ได้แก่
องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ
เนื้องานก็แยกไปตามชื่อ คือศึกษาก็คุมการศึกษา เผยแผ่ก็คุมเรื่องการเทศน์
สาธารณูปการก็จับฉ่าย ไฟไหม้ น้ำท่วม ใครเจ็บไข้ได้ป่วยก็ยกสังฆทานไปช่วย
ที่ได้น้ำได้เนื้อมากกว่าเพื่อนก็คือองค์การปกครอง
ซึ่งคุมอำนาจในทางการเมืองไว้เบ็ดเสร็จ เผลอ ๆ จะมากกว่าตำแหน่งสังฆนายกด้วยซ้ำไป
นั่นจึงเป็นปัญหาว่าด้วยตำแหน่งของพระพิลธรรม
อีกด้านหนึ่ง
พระพิมลธรรมรุกหนักในด้านการศึกษา ส่งพระภิกษุ-สามเณรไปเรียนต่อในต่างประเทศ
ทั้งญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา และพม่า !
อา..หาเรื่องแล้วสิ
พม่ากับไทยนั้นไม่ถูกกันมาตั้งแต่สมัยพระไชยราชาเมื่อเริ่มสงครามเมืองเชียงกรานแล้ว
สงครามช้างเผือก เสียกรุงครั้งที่ 1-2-3 สงครามเก้าทัพ
สารพัดจะเจ็บปวดเมื่อพูดถึงเรื่อง "พม่า"
แบบเรียนสมัยเก่าไทยเรามีพม่าเป็นศัตรูคู่ชาติ ชาติไทยจะไชโยที่สุดถ้าชนะพม่า
แต่ว่าพระพิมลธรรมกลับทำในสิ่งที่ใครไม่กล้าทำ
นั่นคือส่งพระไปเรียนอภิธรรมและกรรมฐานที่พม่า
วันนำพระนิสิตไปกราบลาขอพรต่อสมเด็จพระวันรัต (ปลด) วัดเบญจฯ นั้น
จึงถูกกระเทียบเปรียบเปรยแบบนิ่ม ๆ ว่า "ท่านพิมลธรรมเอ๋ย ท่านจะเอาดีไปถึงไหน
การพระศาสนาในเมืองไทยเราดีที่สุดอยู่แล้ว"
นับเป็นพรอันแปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา
ต่อมา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2503
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร
ได้รับการ สถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่
14
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รังสีแห่งความอำมหิตจึงแผ่ครอบงำวัดมหาธาตุทันที
|