ถวายคืนพระราชอำนาจ

 

ต้องขอเรียนต่อท่านผู้อ่านว่า บทความในวันนี้ เขียนขึ้นด้วยความยากลำบากอย่างที่สุด ตั้งแต่เคยทำงานตรงนี้มา เพราะมีข่าวว่า พระวัดไทยลาสเวกัส ติดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องจริง จนบัดนี้ก็ยังมีพระรักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาล ถือว่าสถานการณ์ยังวิกฤติ ผู้เขียนแม้ตรวจแล้วไม่มีเชื้อเป็นบวก แต่ก็ต้องอยู่ดูแลสถานการณ์ไปจนกว่าจะเป็นปกติ

แต่เมื่อมีข่าวเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ศกนี้ ที่ผ่านมา ว่า "มหาเถรสมาคม ออกมติแก้ไข กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 โอนอำนาจการแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการ ตั้งแต่เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด จนถึงเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ให้ต้องผ่านการพิจารณาของสำนักพระราชวังทั้งสิ้น" นี่ถือเป็น "ข่าวใหญ่และสำคัญที่สุดในรอบ 88 ปี" ของคณะสงฆ์ไทย คือนับตั้งแต่การอภิวัฒน์การปกครองประเทศไทยในปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

เมื่อเรื่องสำคัญของบ้านเมืองปรากฏต่อสาธารณชนเช่นนี้ กลับไม่เห็นว่าจะมีใคร "แสดงความคิดเห็น" ต่อกรณีดังกล่าว ผู้เขียนซึ่งก็มิได้มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ในทางคณะสงฆ์ เป็นแต่เพียงสมาชิกสามัญคนหนึ่งเท่านั้น จะหลับหูหลับตาให้ผ่านไป เหมือนไม่รู้ไม่ชี้นั้น ก็ทำได้

แต่ที่ทำไม่ได้เพราะ ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มานาน ปฏิญาณตนเองว่าจะเป็นหูเป็นตาแทนบรรดาพระเณรไทย ก็จำใจต้องมองว่า "ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ" คิดดังนี้ จึงจำเป็นต้องสละเวลามาเขียนเรื่องนี้ในวันนี้ ใครไม่อ่านข้อเขียนวันนี้ ถือว่าไม่ใช่คนที่รู้จัก "อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม" เลยนะ จะบอกให้ บอกแล้วไงว่าสำคัญที่สุดในรอบร้อยปี

ก่อนอื่นต้องขอเท้าความว่า การบริหารกิจการคณะสงฆ์ ซึ่งก็แปลว่า "การปกครองคณะสงฆ์ไทย" นั่นแหละ ตั้งแต่เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ.2325 นั้น การปกครองคณะสงฆ์ทุกอย่าง ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้ "พระราชอำนาจ" โดยสมบูรณ์ พระเจ้าอยู่หัวมีอำนาจเด็ดขาด จะแต่งตั้งพระรูปไหนเป็นอะไร หรือจะปลดพระรูปไหนจากตำแหน่งอะไร ก็ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชลงมาจนถึงพระธรรมดาๆ ก็มีสิทธิ์ได้รับ "พระเดช-พระคุณ" อย่างทั่วหน้า เราจึงได้เห็นพงศาวดารกรุงธนบุรีบันทึกไว้ว่า พระสงฆ์ในกรุงธนส่วนใหญ่ พร้อมใจกันกราบไหว้พระเจ้าตากสิน ซึ่งทรงสำคัญพระองค์ว่าได้บรรลุโสดาบันแล้ว พระสงฆ์ปุถุชนจึงต้องไหว้พระอริยะในผ้าลาย มีเพียงวัดระฆังและอีก 2-3 วัด ที่ไม่ยอมไหว้ เลยโดนสั่งปลด สั่งเฆี่ยน และสั่งให้ไปล้างส้วมจนเหม็นไปทั้งตัว

แล้วถามว่า พระสงฆ์ไทยสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น มาจากไหน ? คำตอบก็คือ มาจากพระในกรุงศรีอยุธยาทั้ง 3 นิกาย ที่ตอนกรุงแตกนั้น ก็แตกกระจายไป 3 ทิศทาง คือ

ส่วนหนึ่งไปอยู่กับเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคโลก (ที่กรุงเทพเรียกว่าเมืองเหนือ) เมื่อก๊กเจ้าพระฝางถูกพระเจ้าตากสินปราบลง ก็หนีไปได้เฉพาะเจ้าคุณเรือน และบริวารอีกเล็กน้อย พระสงฆ์ที่เหลือก็ยังอยู่ที่เดิม บางส่วนที่เห็นว่าเป็นพระสำคัญระดับก่อการ จะปล่อยไว้ที่เดิมก็อาจจะกำเริบเสิบสานขึ้นอีก (เพราะเจ้านายยังไม่ตาย เพียงแต่หาไม่เจอ เหมือนธรรมกาย) ดังนั้น จึงต้องนิมนต์พระรูปสำคัญๆ ในหัวเมืองเหนือ ให้ลงมาอยู่ในกรุงธนบุรี ใกล้หูใกล้ตาหน่อย อยู่ไกลไว้ใจไม่ได้

ส่วนที่สองนั้น เป็นพระจากหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก อันได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยึดเป็นฐานที่มั่น ก่อนจะระดมพลกลับมากู้กรุงศรีได้

ส่วนที่สาม ได้แก่พระสงฆ์จากภาคใต้ มีเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งพระเจ้าตากเสด็จไปเจรจาให้กลับเข้ามาเป็นแผ่นดินเดียวกันอีกครั้ง ทรงอาราธนาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณความรู้ พร้อมทั้งพระไตรปิฎก กลับมายังกรุงธนบุรี มุ่งหมายจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาซึ่ง "เสื่อมทรุดเศร้าหมอง" ให้เรืองรองอีกครั้ง

พระสงฆ์ในกรุงศรีอยุธยานั้น แต่เดิมมี 3 นิกาย ได้แก่

1. คณะคามวาสีฝ่ายซ้าย หรือนิกายหนเหนือ

2. คณะคามวาสีฝ่ายขวา หรือนิกายหนใต้

3. คณะอรัญวาสี หรือนิกายมอญ

ส่วนตำแหน่งพระสังฆราชนั้น ก็จะทรงตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้านิกายใดนิกายหนึ่ง ตามแต่คุณสมบัติจะเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากตำแหน่ง "สมเด็จพระวันรัต" และ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" อันเป็นตำแหน่ง "สูงสุด" ในทางสายวิปัสสนาธุระและคันถธุระ พระวันรัตนั้นต้องมีเกียรติคุณในทางวิปัสสนาอย่างเอกอุ ส่วนพระพุทธโฆษาจารย์นั้นต้องชำนาญบาลีอย่างเอกอุเช่นกัน ส่วนใครจะได้เป็นนั้นก็ขึ้นอยู่กับวาสนา เพราะว่าผู้ชี้ขาดคือพระเจ้าแผ่นดิน เพียงพระองค์เดียว แบบว่าทรงโปรดปรานสายไหน สายนั้นก็จะได้ครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

พระสงฆ์อยุธยาทั้ง 3 นิกายนั้น เมื่อกรุงแตก ก็แตกหนีไปคนละทิศทาง บ้างถูกจับไปพม่า บ้างหนีไปทางเหนือ บ้างไปทางใต้ บ้างไปทางตะวันออก พอพระเจ้าตากสินตั้งกรุงธนบุรีได้แล้ว พระทั้งสามนิกาย รวมทั้งพระจากภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ก็ชวนกันเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรี โดยไม่มีการตั้งนิกายใหม่ขึ้น อยู่กันอย่างหลวมๆ ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากมาย สุดท้ายก็มาถึงกรณี "กราบพระเจ้าตากสิน" ดังกล่าว จนกลายเป็นปัญหาทางการเมือง ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแผ่นดินอย่างสำคัญ เพราะพระเจ้าตากสินทรงถูกข้อหา "เสียพระสติ" จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครพิสูจน์ว่าข้อหานี้เป็นจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ราชวงศ์พระเจ้ากรุงธนบุรีถูกล้มล้าง และมีการตั้งราชวงศ์จักรีขึ้นมาแทน

ครั้นสิ้นกรุงธนบุรี เข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ พระสงฆ์ทั้ง 3 หัวเมือง หรือ 3 กลุ่ม 3 นิกายเหล่านี้ ก็ถูกโอนมาอยู่ในกรุงเทพมหานคร ยุบรวมลงเป็น "นิกายสยาม" เพียงนิกายเดียว แต่ก็มีร่องรอยของความแตกแยกกันมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีแล้ว ว่าการที่พระสงฆ์ 3 นิกายมาอยู่รวมกัน แม้มิได้ปิดป้ายบนจีวรว่าไม่มีนิกาย แต่ในหัวใจของแต่ละกลุ่มก็ยังมี "นิกาย" หรือลัทธิครูบาอาจารย์เดิมอยู่ในใจ ส่งผลให้การตีความพระธรรมวินัย "แตกต่างกัน" อย่างเห็นได้ชัด จนเป็นเหตุ "สิ้นกรุงธน" อย่างสำคัญ

คณะสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา-ธนบุรี-รัตนโกสินทร์ จึงอยู่ภายใต้ "พระราชอำนาจ" จึงสามารถควบคุมดูแลประชากรสงฆ์ การปกครอง การศึกษา รวมทั้งวัตรปฏิบัติ ให้อยู่ในร่องในรอยได้ เพราะพระสงฆ์เองไม่มีทหารตำรวจในสังกัด จึงไม่สามารถจะจับใครสึกได้ถ้าเห็นว่าผิดพระธรรมวินัยอย่างฉกรรจ์ ทำได้อย่างมากก็แค่ "อเปหิ" คือขับไล่ออกจากหมู่สงฆ์ แล้วผู้ที่โดนไล่ก็แยกตัวไปตั้งนิกายใหม่ ไม่สิ้นสุด เหมือนพระพุทธองค์ทรงกระทำกับพระเทวทัต ซึ่งประกาศแยกตัวเองออกไปปกครองต่างหาก พระพุทธองค์ก็ไม่สามารถจับพระเทวทัตสึกได้ หมายถึงว่า ถ้าไม่มีการอุปถัมภ์จากพระราชา พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย ก็คงแตกแยกและแปรเปลี่ยนไปมากมายหลายสิบนิกาย เพราะมีช่องว่าง คือ การไม่มีอำนาจในตัวเอง เป็นจุดอ่อนของพระศาสนา ลำพังพระธรรมวินัยนั้น ไม่มีทางจะสร้างองค์กรสงฆ์ขนาดใหญ่มีสมาชิกเป็นแสนๆ ได้

จาก พ.ศ.2325 ถึง พ.ศ.2475 กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 150 ปี ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นั่นคือการปฏิวัติที่ภายหลังเรียกให้นุ่มขึ้นว่า "การอภิวัฒน์การปกครอง" ของสยาม อันนำโดย ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ อดีตนักเรียนเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยปารีส และต่อมารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ก็เปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น "ประเทศไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน  พ.ศ.2486

เมื่อเกิดการอภิวัฒน์การปกครองประเทศแล้วนั้น ก็เกิดความเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ไทยในนิกาย "มหานิกาย" ซึ่งเป็นนิกายใหญ่และมีมาก่อนธรรมยุติกนิกาย (มหานิกายคือนิกายสยามวงศ์ มีมาแต่สมัยอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พอถึงรัชกาลที่ 3 พระภิกษุวชิรญาณ ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวชนาน 27 ปี ก่อนจะเสด็จปริวัตร (ลาสิกขา) ออกมาครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 4 โดยทรงตั้งคณะธรรมยุตขึ้นมาที่วัดราชาธิวาสและวัดบวรนิเวศวิหาร พอได้ครองราชย์ ก็ทรงใช้พระราชอำนาจสนับสนุนคณะธรรมยุตให้เหนือกว่ามหานิกาย ฝ่ายธรรมยุตได้เป็นสังฆราชตลอดมา)

พระมหานิกายเหล่านั้น เห็นว่า ก่อนหน้านี้ พระมหานิกายไม่ได้รับความสนับสนุนจากราชสำนักให้มีโอกาสได้เป็นผู้นำสงฆ์ แม้ว่าจะมีจำนวนมากกว่าถึง 10 เท่าก็ตาม (พระมหานิกายทั่วประเทศ มี 3 แสน พระธรรมยุต มี 3 หมื่น) แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงอำนาจสิทธิ์ขาด จึงพูดอะไรไม่ได้ ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน มีกติกาปกครองประเทศใหม่ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน เพราะพระเจ้าแผ่นดินยังต้องอยู่ "ภายใต้" รัฐธรรมนูญ

การเคลื่อนไหวของพระมหานิกายเหล่านั้น ส่งผลให้รัฐบาลประชาธิปไตยและรัฐสภาไทย ได้ออกกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ฉบับประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2484 มีการแบ่งอำนาจคณะสงฆ์ออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

ฝ่ายบริหาร มีพระสังฆนายกเป็นหัวหน้า และมีสังฆมนตรีอีก 4 องค์การ คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ

ฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่เหมือนรัฐสภา มีสมาชิกที่น่าจะเรียกว่า "ส.ส.พระ" จำนวน 45 รูป ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่พระสงฆ์องค์เณรทั่วประเทศ คือออกและแก้ไขกฎหมาย เรียกกฎหมายที่ออกจากสังฆสภาว่า "สังฆาณัติ" หัวหน้าฝ่ายนี้คล้ายๆ ตำแหน่งประธานรัฐสภา

ฝ่ายยุติธรรม มีการตั้งผู้พิพากษาทางสงฆ์ขึ้นมา เรียกว่า "คณะพระวินัยธร" ซึ่งแปลว่า คณะพระที่ธำรงไว้ซึ่งพระวินัย อันคล้ายกับตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลอาญา มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยอรรถคดีความทางสงฆ์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา

ส่วนตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ก็ถูกยกขึ้นเป็นเจ้าบนศาล ไม่มีอำนาจในการบริหารใดๆ เหมือนพระมหากษัตริย์ไทยที่ถูกยกขึ้นหิ้ง ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แถมยังมีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องจากประชาชนได้อีกด้วย

นั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในคณะสงฆ์ไทย เท่าที่ปรากฏ

 

 

มหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน

 

 

คณะสงฆ์ไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ในปี พ.ศ.2502 และต่อมาในปี พ.ศ.2505 รัฐบาลสฤษดิ์ ก็ฉีก พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ของคณะราษฎรทิ้ง ออก พรบ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่ ใช้ชื่อว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งยังใช้มาจนกระทั่งปัจจุบันวันนี้

พรบ.คณะสงฆ์ 2505 ประกาศใช้ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2505 ต่อมาได้รับการแก้ไขแล้ว 4 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2535 ในรัฐบาลรัฐประหาร รสช. ของนายอานันท์ ปันยารชุน แก้ไขในมาตราว่าด้วยการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งฉบับเดิมนั้นให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาเลือกและแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช "พระองค์หนึ่ง" ได้ตามพระราชอัธยาศัย ก็เขียนใหม่ ให้เป็น "ให้มหาเถรสมาคม เลือกสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุด คือได้เป็นสมเด็จก่อนเพื่อน ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

ครั้งที่ 2 วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2547 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยได้แก้ไขในมาตราว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ครั้งที่ 3 วันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2560 ในรัฐบาล คสช. มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แก้ไขในมาตราว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ให้กลับไปเป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์อีกครั้ง (มหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจเสนอ และตัดข้อความว่าด้วยสมเด็จพระราชาคณะผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดออกไป)

ครั้งที่ 4 วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2561 ในรัฐบาล คสช. มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แก้ไขในมาตราว่าด้วยมหาเถรสมาคม ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมทุกตำแหน่ง และยกเลิกมิให้มีกรรมการมหาเถรสมาคมโดยสมณศักดิ์ (หรือโดยตำแหน่ง)

คือก่อนหน้านี้ พระที่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป จะได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติ (มิต้องได้รับการแต่งตั้งซ้ำ) และตำแหน่งนี้จะอยู่ไปจนตาย ยกเว้นแต่ถูกถอดสมณศักดิ์ คือโดนปลด ตำแหน่งก็จะถูกปลดตามไปด้วย หมายความว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา ล้วนแต่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ก่อนหน้านั้น พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชจะดำรงตำแหน่ง "ประธานมหาเถรสมาคม" โดยอัตโนมัติ ส่วนสมเด็จพระราชาคณะทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ก็จะได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง แถมยังมีกรรมการโดยแต่งตั้งอีกนิกายละ 6 รูป (รวมเป็น 12 รูป) ส่วนนี้ให้เป็นอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระบัญชาแต่งตั้ง

ก่อนการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ครั้งที่ 4 นี้ ชี้ให้เห็นว่า มีการแบ่งอำนาจกันคนละครึ่ง ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระสังฆราช โดยพระมหากษัตริย์ทรงตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม "โดยสมณศักดิ์" หรือ "โดยตำแหน่ง" คือตั้งพระสังฆราชกับสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 9 รูป และให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยอัตโนมัติ ส่วนพระสังฆราชจะมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม "โดยแต่งตั้ง" อีกจำนวน 12 รูป รวมเป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งสิ้น 21 รูป

แต่เมื่อมีการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ครั้งที่ 4 นี้ ปรากฏว่า อำนาจของสมเด็จพระสังฆราชในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ถูกยึดไปสิ้น กรรมการ มส. ทุกตำแหน่ง ต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เท่ากันหมด ไม่เว้นแม้แต่สมเด็จพระสังฆราช

แถมด้วย พระราชบัญญัติแก้ไข ครั้งที่ 4 นี้ ยังเพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์ ทรงมีพระบรมราชโองการ "แต่งตั้ง" เจ้าคณะผู้ปกครองอื่นๆ นอกจากสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคมอีกด้วย นั่นคือ ให้การแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ (เจ้าคณะหน) และเจ้าคณะภาค ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ทั่วประเทศ เป็นพระราชอำนาจ โดยในทางกฎหมายใช้สำนวนว่า

"การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการตามพระราชดำรินั้น"

และ

"สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอน พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น"

สรุปว่า ใน พรบ.คณะสงฆ์ แก้ไขครั้งที่ 4 นี้ ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ ในการแต่งตั้งและถอดถอนพระสงฆ์ได้ทุกตำแหน่ง ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงไปถึงเจ้าอาวาสวัด ทั้งที่มีสมณศักดิ์และไม่มีสมณศักดิ์ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในมาตราที่ว่า "สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอน พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น" นั้น ยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน จะบอกว่า พระมหากษัตริย์ตั้งได้เฉพาะพระสังฆราช กรรมการ มส. เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เท่านั้น ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะกฎหมายระบุว่า "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น..เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นอื่น"

คือในข้อก่อนหน้านี้ มีการระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้ง สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค" แต่พอถึงมาตรานี้กลับระบุอีกว่า "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น..เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นอื่น" ก็หมายถึงว่า ยังให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุที่กฎหมายยังมิได้ระบุไว้อีกด้วย

แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่า "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น" นั้น คือใครบ้าง เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างหลวมๆ

ดังนั้น ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2563 มหาเถรสมาคม ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2543) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ (พระสังฆาธิการคือพระผู้มีตำแหน่งในทางปกครองสงฆ์ ตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่ (หน) เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส) เพิ่มอำนาจให้ราชสำนัก ในการแต่งตั้งและถอดถอน (ปลด) พระสังฆาธิการได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แต่เดิม

 

รายละเอียด ของมติมหาเถรสมาคมครั้งนี้ มีอยู่ว่า การแต่งตั้ง เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้ผ่านการพิจารณามหาเถรสมาคมแล้ว ให้สมเด็จพระสังฆราช นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงมีพระดำริเห็นชอบ (หรือไม่เห็นชอบ) โดยทรงมีพระราชดำริเป็นประการใด ก็ให้รับสนองพระราชดำริเป็นประการนั้น

ส่วนสาระของมติมหาเถรสมาคมฉบับนี้ มีหลายนัยยะ อาทิเช่น

1. มหาเถรสมาคมออกมติครั้งนี้มา อธิบายเพิ่มเติมเนื้อหาของมาตรา 22/2 แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขครั้งที่ 4 ที่ระบุว่า "สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอน พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น" ทั้งนี้ มีการระบุ "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น" นั้น ได้แก่ เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง (เพิ่มเติมจากเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค)

ตรงนี้เห็นได้ว่า มหาเถรสมาคม ได้ทำหน้าที่เป็น "กฤษฎีกา" อธิบายเนื้อหาของ พรบ.คณะสงฆ์ โดยนำเอากฎมหาเถรสมาคมมาเป็นกฎหมายลูก อธิบายขยายความในมาตรา 22/2 ของ พรบ.คณะสงฆ์ ซึ่งไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน

อย่าลืมว่า พรบ.คณะสงฆ์นั้น ออกและแก้ไขโดยรัฐสภาไทย การที่มหาเถรสมาคมจะนำเอา "กฎมหาเถรสมาคม" ไปแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.คณะสงฆ์นั้น ทำได้หรือไม่ ?

 

อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานกฎหมายของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็คงจะพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว จึงออกมตินี้มา ทั้งนี้ คงจะอ้างอิง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (มาตรา 15 ตรี) ข้อที่ว่า

"เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคม มีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติ หรือประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายหรือพระธรรมวินัย ใช้บังคับได้ ฯลฯ"

ซึ่งทางทีมกฎหมายของมหาเถรสมาคม คงจะพิเคราะห์แล้วว่า มหาเถรสมาคมออกมติแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 นี้มา ถือว่าเป็นการอธิบายตัวบทกฎหมายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตนเอง จึงถือว่าทำได้

ซึ่งโดยรูปการณ์แล้ว ถ้าหากว่ามหาเถรสมาคมกับทางรัฐบาล มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน การทำงานก็คงราบรื่น ไม่มีปัญหา ไม่ว่ากรณีใดๆ เพราะคงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป

แต่ก็อย่าลืมว่า มหาเถรสมาคม ได้เคยออกมติสำคัญ "ครั้งพิเศษ/2559" ในวันที่ 5 มกราคม 2559 มีมติเป็นเอกฉันท์ (17-0) ให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช และให้เลขามหาเถรสมาคม นำรายงานสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความขึ้นทูลเกล้าฯ และมีพระบรมราชโองการโปรดฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ ต่อไป

แต่กลับปรากฏว่า รัฐบาลไทยสมัยนั้น (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไม่ยอมนำเอามติมหาเถรสมาคมครั้งนั้นขึ้นทูลเกล้า ดองเรื่องเอาไว้โดยไม่อธิบายความ และต่อมาในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยการเสนอของรัฐบาล ได้ผ่านร่างแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (2535) สามวาระรวด แก้ไขให้ "มหาเถรสมาคม ไม่มีอำนาจเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช โดยให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ" ความหมายก็คือ ตัดมหาเถรสมาคมออกจากกระบวนการพิจารณาสรรหาสมเด็จพระสังฆราช

 

 

 

มหาเถรสมาคมและรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

 

อ่านแล้วอย่างงครับท่านผู้ชม คือว่า

มาตรา 7 แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ 2505 นั้น ระบุสั้นๆ ว่า "พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์หนึ่ง"

มาตรา 7 แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2535) ระบุว่า

"พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่ สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

 

มาตรา 7 แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 (พ.ศ.2560) ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ"

นั่นก็เท่ากับว่า พรบ.2560 นี้ ให้กลับไปใช้ของเก่าคือ 2505 ครึ่งหนึ่ง และเพิ่มเติมของใหม่เข้าไปอีก ครึ่งหนึ่ง จึงออกมาดังที่เห็น จะว่าเก่าก็ไม่ใช่ จะว่าใหม่ก็ไม่เชิง เหมือนกางเกงเก่า แต่เสื้อใหม่ จึงดูเก่าๆ ใหม่ๆ

แต่การแก้ไขของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2560 นั้น ทำกันในช่วงที่มหาเถรสมาคมออกมติตาม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ไปแล้ว คือว่าเรื่องอยู่ในกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ตามปกติก็ต้องเดินเรื่องไปให้สิ้นสุดกระบวนการ แต่รัฐบาลกลับนำเรื่องไปดองไว้ร่วมปี ตกต้นปี 60 จึงออก พรบ.ฉบับใหม่ แก้ไขและดำเนินการตั้งพระสังฆราช ตามกฎหมายฉบับใหม่ ทิ้งให้มติ มส. ตามกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับเก่าไร้ผล จนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องนับว่าเป็นกรณีประวัติศาสตร์ไปอีกหน้าหนึ่ง ซึ่งถ้ามองก็คงเท่ากับว่า รัฐบาลประยุทธ์ ทำการรัฐประหารคณะสงฆ์ไทย ฉีก พรบ.คณะสงฆ์ทิ้ง (เป็นบางมาตรา แต่ว่าสำคัญที่สุดกว่าทุกมาตรา) แล้วเขียนกฎหมายเอง ตั้งสังฆราชเอง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

มองอีกด้านหนึ่งจะเห็นว่า การแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ไทยเรานั้น ยกเว้นฉบับ พ.ศ.2484 เสีย ที่เหลือไม่เคยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเลย ทุกครั้งต้องแก้ไขในสมัยรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น กระบวนการประชาธิปไตยไม่เคยเข้ามาดำเนินการในทางพระศาสนา นักการเมืองมุ่งแต่แสวงหาอำนาจ รัฐบาลเผด็จการดูจะสนใจกิจการพระศาสนามากกว่า แต่การเข้ามายุ่งของรัฐบาลทหารทุกยุค ก็จะเป็นไปเพื่อ "พระที่ตนเองชอบ" อีกนัยหนึ่ง เขาทำเพื่อความบริสุทธิ์ แต่ไม่ยุติธรรม มันก็ต้องทำใจ ในเมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยมีอำนาจ ก็สนแต่คะแนนนิยมทางการเมือง แต่ไม่เคยใช้อำนาจนั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางพระศาสนา เมื่อตัวเองไม่ทำ แต่คนอื่นเขาทำ ก็ว่าเขาไม่ได้ มีอำนาจแต่ไม่ใช้ก็ไลฟ์บอย

 


 

ที่ผ่านมานั้น ว่าด้วยเรื่องกฎหมาย แต่ต่อไปนี้จะว่าด้วย กรณีทางกฎหมาย ตัวบุคคล หรือผลงานที่ผ่านมหาเถรสมาคม ซึ่งยังคงค้าง ยังไม่ลุล่วง โดยไม่รู้ว่าติดขัดตรงไหน หรือมีปัญหาอะไร

ปัญหาที่ว่านั้น ได้แก่

1. โผเจ้าคณะภาค ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ซึ่งผ่านมหาเถรสมาคมนานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

2. โผเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และเจ้าอาวาสวัดสามพระยา พระอารามหลวง ซึ่งผ่านมหาเถรสมาคมไปนานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2562

ทั้งสองโผนี้ต้องบอกว่า "มีปัญหา" เพราะว่าผ่านมหาเถรสมาคมมาตั้งนานแล้ว แต่ตัวบุคคลที่มีชื่อในโผ ยังไม่ได้รับพระตราตั้งอย่างเป็นทางการ เงียบหายไปเฉยๆ ถามก็ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องแปลกแต่จริง

ว่าตามกฎหมาย โผเจ้าคณะภาค เจ้าคณะ กทม. และเจ้าอาวาสวัดสามพระยา-สระเกศ สองครั้งนี้ ปฏิบัติตามอำนาจใน พรบ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2561 ซึ่งระบุว่า

"การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการตามพระราชดำรินั้น"

สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอน พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น"

ซึ่งเมื่อโผเจ้าคณะภาคออกมาแล้วตั้งนาน ก็ยังไม่มีพิธีรับพระบรมราชโองการ หรือรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช อย่างเป็นทางการ คำถามจึงเริ่มดังขึ้นในสังคมสงฆ์ไทย ว่าทำไมโผที่ผ่าน มส. ยังไม่ผ่านกระบวนการตามปกติ

จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 2562 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แถลงข่าวว่า "การแต่งตั้งทั้งสองมตินั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนออกพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สาเหตุที่ล่าช้านั้น เพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีการปฏิบัติตาม พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2561) อย่างเคร่งครัด"

พระที่มีชื่อผ่าน มส. ทั้งเจ้าคณะภาคมหานิกายและธรรมยุต ทั้งเจ้าคณะ กทม. ทั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดสระเกศและสามพระยา ก็ตั้งหน้าตั้งตาคอยว่าเมื่อไหร่จะมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชออกมา

ปรากฏว่าผ่านไปกว่า 8-9 เดือน ก็ยังไม่มีบัญชาสมเด็จพระสังฆราชลงมา หนำซ้ำ วันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคม ก็ออกมติ แก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 เข้าไปอีกด้วยว่า

 

"ข้อ 5/1 การขอรับพระราชดำริในการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ตามความในมาตรา 20/2 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติดังนี้

(1) การแต่งตั้ง เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้ดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมแล้ว ให้เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี จากนั้น ให้สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้มหาเถรสมาคมมีมติให้มีพระบัญชาตั้ง หรือตราตั้ง แล้วแต่กรณี ตามพระราชดำรินั้น แล้วให้เลขาธิการมหาเถรสมาคม รายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อทราบต่อไป

(2) การถอดถอน จากตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้ดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี จากนั้น ให้สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้มหาเถรสมาคมมีมติเห็นชอบ โดยอนุวัตตามพระราชดำรินั้น แล้วจึงจะดำเนินการต่อไปได้ และให้เลขาธิการมหาเถรสมาคม รายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อทราบต่อไป

(3) การแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการอื่นนอกจาก (1) และ (2) ให้ดำเนินการไปตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ แต่ถ้ามีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ผู้ได้รับพระราชทานกระแสพระราชดำริ นำความกราบทูลหรือแจ้งผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ให้ดำเนินการอนุวัตตามพระราชดำรินั้น

(4) การแต่งตั้งพระสังฆาธิการตาม (1) กรณีครบวาระพร้อมกัน ให้ดำเนินการตามลำกับศักดิ์ของตำแหน่งพระสังฆาธิการ จากสูงลงมาต่ำ

ความในข้อนี้ ไม่กระทบถึงการที่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น ในทุกกรณี"

 

อ่านมติมหาเถรสมาคมฉบับนี้แล้ว ทำให้เห็นว่า นี่คือการออกกฎหมายลูก ขยายความเพิ่มเติม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2561 มาตรา 20/2 ซึ่งแต่เดิมกล่าวถึงเฉพาะตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคเท่านั้น ในมติมหาเถรสมาคมฉบับนี้เพิ่มเติมตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสพระอารามหลวง" เข้าไปด้วย

ซึ่งการให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้ง ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ (ในส่วนของยศหรือสมณศักดิ์) และเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค (รองภาค) เจ้าคณะจังหวัด (รองจังหวัด) และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจเต็ม ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ประหนึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเสียเอง เช่นข้อความที่ว่า "ให้สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท" ข้อความนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนใน พรบ.คณะสงฆ์ ไม่ว่าฉบับไหน ฐานะของสมเด็จพระสังฆราชไทยกลายเป็นผู้นำส่งสารไปยังราชสำนักเท่านั้นได้อย่างไร ?

ใช่แต่เท่านั้น ในมาตรา 3 แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ ยังขยายความออกไปอีกว่า "การแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการอื่นนอกจาก (1) และ (2) ให้ดำเนินการไปตามกฎมหาเถรสมาคมนี้ แต่ถ้ามีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ผู้ได้รับพระราชทานกระแสพระราชดำริ นำความกราบทูลหรือแจ้งผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอน ให้ดำเนินการอนุวัตตามพระราชดำรินั้น" นั่นหมายความว่าอย่างไร ?

คือลำพังตั้งสังฆราช สมเด็จ รองสมเด็จ พระเจ้าคุณทุกระดับ และพระสังฆาธิการระดับสูง ตั้งแต่กรรมการ มส. เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ทั่วประเทศแล้ว แค่นี้ก็จะเห็นว่า พระราชอำนาจนั้นครอบคลุมกิจการคณะสงฆ์ไว้ทุกตารางนิ้ว แต่เดิมมานั้น ลำพังตั้งสังฆราชก็ถือว่าใหญ่สุดแล้ว จึงให้อำนาจพระสังฆราชไปตั้งกรรมการ มส. และพระสังฆาธิการได้ทุกระดับ มันมีข้อเปรียบเทียบ

ทีนี้เมื่อขยายพระราชอำนาจ ไปจนถึงระดับจังหวัดและพระอารามหลวงทั่วประเทศแล้ว ก็น่าจะพอ แต่ก็หาไม่ ยังมีการเขียนเพิ่มเติมไปอีกดังกล่าว เรียกว่ากิจการคณะสงฆ์ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ถูกราชสำนักยึดครองหมด สมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมไม่มีอำนาจอะไรเลย เป็นได้แค่เพียง "ผู้นำส่งสาร์น" คือกรมไปรษณีย์ดีๆ นี่เอง

โดยปกติแล้ว ไม่มีใครในโลก ที่จะสละอำนาจของตนเองให้แก่คนอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระหรือฆราวาส เพราะในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ยังไม่เคยเห็นพระสังฆราชองค์ไหนลาออกโดยสมัครใจ เห็นก็แต่พระสังฆราชไทยโดนปลดเท่านั้น

ดังนั้น การออกกฎมหาเถรสมาคม "ขยายพระราชอำนาจไปจนทั่วประเทศไทย" นั้น เชื่อว่าคงมิใช่ออกจากมหาเถรสมาคม แต่ต้องมีคนชงเรื่อง

มองให้ดีก็จะเห็นว่า รัฐบาลไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งจะแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ไปตั้ง 2 รอบ รอบแรกเรื่องสังฆราช รอบสองเรื่องตั้งเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค (ไม่มีเจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสพระอารามหลวง) แต่ในวรรคท้ายของมาตรา 20/2 นี้ ยังมีการเขียนขยักเอาไว้อีกว่า "สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นอื่น"

"พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น" ทีแรกก็คิดว่า น่าจะหมายถึง คณะสงฆ์อื่นที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายไทย อันได้แก่ จีนนิกาย และอานัมนิกาย หมายถึงพระจีนและพระญวน ซึ่งก็มีตำแหน่งประมุขของแต่ละนิกายเช่นกัน

แต่ครั้นมีมติ มส. ครั้งนี้ออกมา กลับปรากฏว่า คำว่า "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ตำแหน่งอื่น" นั้น ท่านหมายถึง "เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าอาวาสพระอารามหลวง" แทน ไม่เกี่ยวกับพระจีนและญวนเลย

การที่มหาเถรสมาคม ออกมติแก้ไขเพิ่มเติมกฎมหาเถรสมาคมนี้มา โดยระบุว่า "เพื่อให้การแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ เป็นไปตามความในมาตรา 20/2 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม" นั่นก็หมายความว่ารัฐบาลประยุทธ์ และรัฐสภาไทย สมัย คสช. ออกกฎหมายแบบเร่งร้อน ไม่รอบคอบ ไม่ระบุให้ชัดเจน จึงทำให้มหาเถรสมาคมต้องแก้ไขกฎมหาเถรสมาคม อธิบายขยายเนื้อหาของ พรบ.คณะสงฆ์ฉบับนั้น ให้ชัดเจน

แต่การขยายความของมหาเถรสมาคมเช่นนี้ ก็ชี้ให้เห็นว่า "เป็นการถวายคืนพระราชอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับ ให้แก่ราชสำนัก โดยสมบูรณ์ มหาเถรสมาคมเป็นเพียงหน่วยงานธุรการของราชสำนักไทยเท่านั้น" เพราะแม้แต่สมเด็จพระสังฆราชก็ไม่มีอำนาจแต่งตั้งใคร หรือตำแหน่งใดๆ เลย ต่ำกว่านั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง

การออกกฎหมายขยายอำนาจให้แก่ราชสำนักเช่นนี้ เป็นการทำงานที่เรียกว่า "เก็บตก" แต่ก็โอเค เพราะสามารถอธิบาย "ความคลุมเครือ" ใน พรบ.คณะสงฆ์ที่รัฐบาลประยุทธ์แก้ไขไปได้เปลาะหนึ่ง

แต่ผู้เขียนกฎหมายและผู้แก้ไข ก็ยังไม่ได้เขียนไว้ให้ชัดเจนว่า วิธีการที่จะนำความขึ้นกราบบังคมทูล จนกระทั่งทรงมีพระบรมราชโองการลงมานั้น ควรจะมีกรอบระยะเวลานานเท่าใด ดังเช่นว่า ถ้าภายใน 90 วัน ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ให้มหาเถรสมาคมนำความขึ้นกราบบังคมทูลใหม่ โดยอาจจะปรับเปลี่ยนมติที่นำขึ้นทูลเกล้าครั้งแรกนั้นก็ได้ ดังนี้เป็นต้น

เพราะจนป่านนี้ ผ่านมาเกือบปีแล้ว มติตั้งเจ้าคณะภาคก็ดี มติตั้งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครและเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดสระเกศกับวัดสามพระยา ก็ยังคงค้างเติ่ง ไม่รู้ว่าจะมีพระบรมราชโองการลงมาในวันไหน

ที่สำคัญก็คือ ไม่มีใครอาจหาญเข้าไปกราบบังคมทูลถามได้ !

ถ้าหากเรื่องเงียบไปนานกว่านี้ เป็นปีๆ จะมิมีผลกระทบถึงราชสำนักดอกหรือ เพราะใครๆ ก็รู้ว่า อำนาจอยู่ที่ราชสำนัก

นั่นจึงบอกว่า พรบ.คณะสงฆ์ที่แก้ไขในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ รวมทั้งการแก้ไขกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 ทั้งสองครั้งนี้ บกพร่องอย่างแรง ไม่ว่าจะจำแนกแจกแจงตำแหน่งที่ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งถอดถอนละเอียดปานใด แต่เมื่อไม่มีการกำหนดระยะเวลา ก็เท่ากับว่าปล่อยเลยตามเลย ดังโผเจ้าคณะภาค เจ้าคณะ กทม. และเจ้าอาวาสพระอารามหลวงทั้งสองแห่ง (รวมทั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง) ที่แม้จะผ่านมหาเถรสมาคมมานานนับปี จนถึงบัดนี้ผู้มีชื่อก็ยังคงเป็นเพียง "รักษาการ" ใครตกอยู่ในสถานะเช่นนั้นก็ย่อมจะลำบาก เพราะไม่มีอำนาจเต็ม จะทำอะไรก็ไม่เต็มไม้เต็มมือ ทำให้กิจการคณะสงฆ์ชะลอตัว ไม่มีใครกล้าทำอะไร ทุกรูปล้วนแต่เกรงกลัวพระราชอำนาจ กลัวโดนปลด กลัวโดนดอง ฯลฯ สารพัดกลัวเลยพระสังฆาธิการไทย

ผลกระทบที่ตามมาก็คือว่า เมื่อมีการแก้ไขกฎมหาเถรสมาคมครั้งนี้ออกมา ย่อมจะส่งผลต่อ "มติมหาเถรสมาคมครั้งก่อน ที่มีมติให้แต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะภาค เจ้าคณะ กทม. และเจ้าอาวาสวัดสระเกศและวัดสามพระยา" ต้องมีอันตกไป คือต้องทำกันใหม่ทั้งหมด แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลใหม่ เพราะครั้งก่อนยังไม่มีระเบียบที่ชัดเจน ครั้งนี้ชัดเจนแล้ว แม้จะยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ในกระบวนการแต่งตั้งดังกล่าว แต่ก็เชื่อว่า อีกไม่นาน ก็คงมีมติมหาเถรสมาคมครั้งใหม่ จะแก้ไขหรือยืนยันการแต่งตั้งไปตามครั้งก่อนก็ตามแต่ แต่เรื่องจะเดินไปจนถึงสิ้นสุดกระบวนการ เพราะผ่านมานานแล้ว จนพระเณรทั้งประเทศเชื่อว่า นานเกินไป

ท้ายที่สุดนี้ แม้จะมีความเชื่อว่า มหาเถรสมาคม ไม่มีทางที่จะลดหรือสละอำนาจของตัวเองให้แก่ใคร แต่ถึงอย่างไร เมื่อได้เห็นมติมหาเถรสมาคมครั้งนี้ออกมา ก็ต้องยอมรับว่า มีการถวายอำนาจแก่พระมหากษัตริย์จริง ไม่ว่าจะโดยความยินยอมพร้อมใจของมหาเถรสมาคม หรือโดยการกำกับสั่งของรัฐบาลไทยก็ตาม ก็ทำให้ต้องยอมเชื่อว่า

นี่คือ การถวายคืนพระราชอำนาจ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

หมายความว่า คณะสงฆ์ไทยภายใต้การบริหารปกครองของมหาเถรสมาคม ได้น้อมนำเอาอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ ให้ทรงบริหารกิจการคณะสงฆ์ ประหนึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเสียเอง
 

และถ้าเปรียบเทียบว่า ในทางบ้านเมือง กำลังมีการเคลื่อนไหว "ต่อต้านเผด็จการซ่อนรูป" ของขบวนการนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ เขาเรียกร้องประชาธิปไตย อันมีอิสระเสรีภาพและภราดรภาพเป็นหลักใหญ่ แต่ในทางพระสงฆ์สามเณร กลับมีพฤติกรรมสวนกระแส สยบยอมต่ออำนาจในรัฐทางโลก "ขอขึ้นตรงต่อสมบูรณาญาสิทธิราชย์-ถวายอำนาจคืนแก่พระราชา" ให้ทรงบริหารกิจการพระศาสนา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ราวกับว่า บรรดาพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศนั้น ไม่มีใครมีความรู้ความสามารถจะปกครองกันเองได้แล้ว จึงต้องขอให้ราชสำนักช่วยปกครอง เขียนได้แม้กระทั่งว่า "ให้สมเด็จพระสังฆราช นำมติมหาเถรสมาคม ส่งให้แก่ราชเลขานุการในพระองค์ ฯลฯ"

อ่านดูก็แทบไม่อยากเชื่อสายตาว่า นี่สมเด็จพระสังฆราช ประมุขแห่งคณะสงฆ์ไทย ผู้สูงส่งและบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นที่สักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศนั้น ทรงกลายเป็นบุรุษไปรษณีย์ไปเสียแล้ว ด้วยอำนาจมติมหาเถรสมาคมครั้งประวัติศาสตร์นี้

เป็นบทบาทที่ควรจารึกไว้ในโลกา ของมหาเถรสมาคมชุดนี้ ชุดที่มีสมเด็จพระสังฆราชอำพร เป็นประธาน

ส่วนตัวผู้เขียนนั้น คิดเล่นในใจว่า

 

"เฮ้อ คนเราหนอ

อยากจะปกครองพระก็ไม่ยอมบวช

ที่บวชก็ไม่ยอมปกครองกันเอง"

 

เบิ๊ดคำสิเว่าแล้วล่ะครับ ท่านพระครู

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทยลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา
21 สิงหาคม 2563

 
 

 

 

ALITTLEBUDDHA.COM  WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA  89121 USA (702) 384-2264