ชีวประวัติพระยาพรหมโวหาร
พระยาพรหมโวหาร เกิดเมื่อ พ.ศ.
2345 ปีจอ จัตวาศก
จ.ศ. 1164
พ่อชื่อแสนเมืองมา แม่ชื่อแม่นายจั๋นทร์เป็ง
ท่านมีอายุอ่อนกว่าสุนทรภู่กวีเอกแห่งรัตนโกสินทร์ 6 ปี เกิดที่ข้างวัดสิงห์ชัย
ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
มีน้องชายคนหนึ่งชื่อว่าบุญยงหรือพญาบุญยง (รับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองทหารอาทมาทหรือนายทหารหน้าของพ่อเจ้าตนหลวงวรญาณรังสี
แห่งนครลำปาง) ส่วนตัวท่านมีชื่อเดิมว่าพรหมินทร์
เมื่อโตขึ้นได้ 8
ขวบบิดาของท่านได้นำตัวไปฝากเป็นเด็กวัดไว้กับท่านครูบาอุปนันต๊ะ
เจ้าอาวาสวัดสิงห์ชัย จนมีอายุ 17 ปีจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร
อยู่ศึกษาที่วัดนี้จนมีอายุครบ 22 ปีจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านครูบาอุปนันต๊ะได้พิจารณาเห็นแววของพระภิกษุพรหมินทร์ว่า
จะมีความก้าวหน้าทางการศึกษา จึงได้นำตัวท่านไปฝากให้เป็นลูกศิษย์ของท่านครูบาปินตา
เจ้าอาวาสวัดสุกเข้าหมิ้นซึ่งอยู่ติดกับวัดเจดีย์หลวงเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นบริเวณโรงเรียนเมตตาศึกษา)
พระภิกษุพรหมินทร์ได้ศึกษาบาลีมูลกัจจายน์และสัททาทั้ง 8
กับท่านครูบาปินตา
เรียนอยู่ประมาณ 2-3
ปีจึงได้กราบลาท่านครูบาปินตากลับลำปางอยู่จำพรรษาที่วัดเดิม
ตุ๊เจ้าพรหมินทร์เป็นผู้มีปฏิภาณโวหาร สนใจในการแต่งคร่าว
เป็นนักเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีลือชื่อของเมืองลำปางในเวลานั้น
เป็นที่นิยมชมชอบของศรัทธาญาติโยมเป็นอันมาก พอมีอายุได้ 25-26 ปี ก็เกิดเบื่อผ้าเหลืองอยากลาสิกขาบท
แต่ก่อนเมื่อจะลาท่านก็ถูกอาจารย์และศรัทธาญาติโยมอ้อนวอนให้ท่านอยู่เป็นพระต่อไป
ท่านจึงได้แต่งคร่าว
“ใคร่สิกข์”
ขึ้นเป็นเรื่องแรก บรรยายถึงความคับแค้นแน่นใจไม่อาจอยู่ในสมณเพศต่อไปได้
ใครๆ ได้อ่านต่างก็เห็นใจและยินยอมให้ท่านสึกออกมาเป็นขนาน
(ทิด)
หลังจากสึกออกมาแล้ว ท่านได้ไปทำงานเกี่ยวกับการเขียน-แต่งหนังสือ อยู่ที่คุ้มเจ้าหลวงลำปางอยู่กับพญาโลมวิสัยอยู่ระยะหนึ่ง
อุปนิสัยส่วนตัวของพญาพรหมนั้นว่ากันว่าเหมือนๆ
กับกวีแก้วศรีปราชญ์ หรือกวีเอกสุนทรภู่ อย่างพี่น้องกันเลยทีเดียว
คือมีนิสัยโอหัง ปากไวใจกล้า ชอบทำให้คนเสียหน้าต่อธารกำนัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเจ้าชู้เพราะว่าเจ้าบทเจ้ากลอน
พญาพรหมเก่งกาจสามารถถึงขนาดรับจ้างเขียนคร่าวใจ๊คือจดหมายรักให้แก่หนุ่ม-สาวผู้ปรารถนาจะสื่อสัมพันธ์กัน
แต่เรื่องที่ทำให้พญาพรหมเดือดร้อนก็คือการไปเหยียบตาปลาเจ้านายผู้มีอำนาจในสมัยนั้น
เล่าว่าครั้งหนึ่ง พญาโลมวิสัยได้แต่งคร่าว
“หงษ์หิน”
ขึ้นมา ก่อนจะนำขึ้นถวายแด่เจ้าหลวงวรญาณรังสีเจ้าเมืองลำปาง
ก็ได้ขอให้พญาพรหมช่วยขัดเกลาสำนวนให้
พญาพรหมก็รับปากท่านอือๆ ออๆ พอผ่านๆ ไป เหมือนไม่มีอะไรบกพร่อง
แต่ครั้นเข้าสู่ที่ประชุมต่อหน้าพระพักตร์เจ้าหลวงลำปาง
พญาพรหมก็ใช้ลีลาพญาหงส์ลบเหลี่ยมพญาโลมวิสัยผู้เป็นนายให้เสียหน้าแบบที่ว่าแตกจนเย็บไม่ติด
ซึ่งเรื่องนี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับประวัติของสุนทรภู่ที่ฉีกพระพักตร์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(รัชกาลที่ 3)
ต่อพระพักตร์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นั่นเอง
การกระทำของพญาพรหมครั้งนั้นแม้ว่าจะไม่ได้ให้โทษมหันต์แก่ตนเอง
แต่ก็ได้ทำให้เกิดการผูกใจเจ็บสร้างศัตรูขึ้นมาโดยไม่จำเป็น
พญาพรหมได้รับเลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นเป็นอาลักษณ์ประจำคุ้มหลวงแทนพญาโลมวิสัย
ซึ่งได้รับเลื่อนให้ขึ้นเป็นที่ปรึกษาในเวลาเดียวกัน
เจ้าหลวงวรญาณรังสีได้จัดแจงให้พญาพรหมแต่งงานอยู่กินกับเจ้าหญิงสุนา
หน้าที่การงานของพญาพรหมก็ก้าวหน้าโดยลำดับ
และล้ำหน้าเสียจนกระทั่งว่าสาส์นต่าง ๆ
ที่ออกจากคุ้มเจ้าหลวงลำปางส่งไปถึงหัวเมืองเหนือในเวลานั้น
พญาพรหมได้แต่งเป็นคร่าวหรือบทกลอนทั้งสิ้น
ซึ่งคิดว่าคงจะได้สร้างสีสันต์ให้แก่แผ่นดินลานนาในเวลานั้นเป็นอย่างยิ่งทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่จะต้องติดตามมาแน่ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ในราชสำนักหรือคุ้มของเจ้าเมืองต่างๆ
ในเวลานั้น
อันเป็นผลให้ชื่อเสียงของพญาพรหมขจรกระจายไปด้วย
เหตุนี้กระมังที่ส่งผลให้พญาพรหมได้กลายเป็นกวีเอกแห่งลานนาไทยไปในที่สุด
อยู่รับราชการมาเรื่อยแล้วก็เกิดเหตุพลิกผันในชีวิต
เมื่อเจ้าหลวงลำปางใช้ให้ท่านไปซื้อช้างมงคลที่เมืองแพร่
พี่หนานพรหมินทร์พร้อมกับลูกน้องสองคน
ชื่อว่า นายเปี้ย และนายผัด จึงได้เดินทางไปเมืองแพร่เพื่อหาซื้อช้างตามรับสั่ง
แต่ไปเจอบ่อนขิ่น (บ่อนการพนัน)
ที่บ้านป่าแมด ทั้งเหล้าผู้หญิงและการพนันทำให้ท่านถลำตัว ในที่สุดเงินจำนวน
4000 แถบ หรือสี่พันรูปี ที่จะนำไปซื้อช้างก็หมดลง
เมื่อไม่รู้จะหาเงินที่ไหนซื้อช้างกลับไปถวายท่านเจ้าหลวง
พี่หนานจึงคิดแต่งคร่าวเรื่อง
“จ๊างขึด”
คือเรื่องช้างอัปมงคล ส่งกราบเรียนให้ท่านเจ้าหลวงทราบ
มีใจความว่า
“ไปพบช้างขึดมีลักษณะเป็นอัปมงคล
ไม่อาจซื้อมาถวายได้ เมื่อไปหาอีกก็เจอแบบเดียวกันอีก
หาไปหามาเงินที่จะซื้อช้างก็พลอยหมด”
พี่หนานพรหมินทร์จึงกลับเมืองลำปางไม่ได้เลยในระยะนั้น
คร่าวจ๊างขึดนั้นมีตัวอย่างดังนี้
ในจ๊างใจ๊ ได้ให้ไปจริ๋ง |
เนื้อตั๋วคิง โบราณจ๊างบ้าน |
นัยต๋าขาว สามหาวขี้หย้าน |
กลั๋วไฟฟืนตื่นล้อ |
ระนาดป้าดป๋น ถอยหนต๊นจ๊อ |
กลั๋วสว่าห้อปานเด็ง |
หมอควาญผ่อเลี้ยง บ่เป๋นแหนเก๋ง |
หางมันเอง บังซอนหย่อนป้าน |
ต๋ามต๋ำฮา ว่าจ๊างขี้หย้าน |
หมอควาญต้านจุ๊มื้อ |
เงี้ยวเมืองนาย มาขอไถ่ซื้อ |
ข้าบาทหื้อปั๋นไป |
บ่หันแต่ทรัพย์ บาทเบี้ยเงินใส |
ม่อนกึ๊ดเล็งไป ตางไกล๋เป่งกว้าง |
เพราะเป๋นขอบขันธ์ เสมาป้องข้าง |
หื้อหอมยืนนานยิ่งกู๊ |
เจ้านายก่หัน ไพร่ไตยก็ฮู้ |
บ่ใจ้เผือกแก้วใดเลย |
อยู่ที่เมืองแพร่ก็เอาดีทางเมืองแพร่
พญาพรหมได้เข้าไปอาสาเป็นนายอาลักษณ์ของเจ้าหลวงพิมพิสารหรือเจ้าหลวงขาเค
เจ้าเมืองแพร่ และได้รับตำแหน่งกวีคุ้มหลวง
อันเจ้าหลวงเมืองแพร่องค์นี้ ว่ากันว่าทรงมีนิสัยเจ้าชู้จัด
ไม่ว่าลูกใครเมียใครหากทรงประสงค์ต้องพระทัยแล้วก็เป็นต้องได้
และแน่นอนว่าการที่เจ้าชู้มาเจอเจ้าชู้มันก็ต้องอยู่ร่วมกันไม่ได้ข้างหนึ่งแน่ละ
ดังนั้นเวลาต่อมาพญาพรหมก็มีเรื่องกินใจกับเจ้าหลวงพิมพิสารขึ้น
ซึ่งเป็นปฐมเหตุให้เกิดคร่าวใจ๊ฉบับนี้ เรื่องมีอยู่ว่า
ระหว่างอยู่ที่เมืองแพร่
พี่หนานพรหมินทร์รู้จักกับแม่หม้ายคนหนึ่งชื่อสีจมหรือศรีชม
และท่านมักจะแวะไปเที่ยวที่เรือนของสนมพระเจ้าแพร่ชื่อหม่อมจันทร์อยู่เป็นประจำ เพราะรู้จักมักคุ้นกันแต่เมื่ออยู่เมืองเชียงใหม่
ในเวลานั้นที่เมืองแพร่มีช้างงายาวอยู่ตัวหนึ่ง
เจ้าราชวงสาได้จัดให้มีการประกวด
“คร่าวฮ่ำจ๊างงายาว”
ขึ้น
มีนักเลงคร่าวส่งคร่าวเข้าประกวดหลายคน
ผลปรากฏว่าคร่าวของพี่หนานพรหมินทร์ได้รับรางวัลชนะเลิศ
ทำให้ชื่อเสียงของท่านยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ทางพระเจ้าแพร่ทรงทราบว่าพี่หนานพรหมินทร์มีความสนิทชิดเชื้อเป็นชู้อยู่กับนางจันทร์พระสนมเอกก็พิโรธ
รับสั่งให้จับพี่หนานพรหมินทร์เข้าคุก
กำหนดจะให้ประหารชีวิตในวันเสาร์ เดือน
4 แรม 5
ค่ำ แต่เจ้าราชวงสาทูลขอระงับไว้
ขอให้ประหารหลังจากวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว
เพราะต้องการให้พี่หนานพรหมินทร์แต่งพรปีใหม่ให้
ส่วนพญาบุญยงน้องชายของพี่หนานพรหมินทร์
ได้ทราบข่าวว่าพี่ชายต้องโทษประหารอยู่ที่เมืองแพร่
จึงได้รีบรุดเดินทางมาเมืองแพร่ นำคาถาสะเดาะโซ่ตรวนมาให้
เมื่อได้คาถาแล้ว
พี่หนานพรหมินทร์ก็สะเดาะโซ่ตรวนแล้วเขียนคำจ่มติดฝาคุกไว้
คำจ่มนี้เป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่งของพญาพรหม
ท้ายที่สุดของคำจ่มท่านลงด้วยโคลงว่า
อกปุ๊ทโธธัมโม |
พรหมมอยดำพ่อฮ้าง |
หลัวะโซ่เจื้อกจ๊าง
|
ก๋องไว้ตี้นอนห่าง |
เมื่อเสดาะโซ่ตรวนได้แล้ว
(แต่จริงๆ แล้ว ท่านว่าพญาพรหมได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าราชวงศา
ซึ่งเป็นเจ้าหอหน้าหรือวังหน้าเมืองแพร่ในเวลานั้นให้หนีออกจากคุกและบอกให้หนีหายไปเลย)
ท่านจึงได้รีบพาสีจมหนีจากเมืองแพร่ไปอยู่เมืองลับแลง (อำเภอลับแล
จังหวัดอุตรดิตถ์) อยู่ที่บ้านสันคอกควาย
ความตั้งใจของท่านก็คงคิดว่าจะตั้งหลักปักฐานอยู่ที่นั่น
แต่มีครั้งหนึ่งท่านได้ไปทวงหนี้ที่บ้านท่าเสาทิ้งให้สีจมอยู่เฝ้าบ้าน
คล้อยหลังพี่หนานออกบ้านไปก็มีคนมารับเอาสีจมกลับไปเมืองแพร่
พอพี่หนานกลับมาไม่พบนางสีจมก็เกิดความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก
จึงได้แต่งคร่าวใจ๊คือจดหมายรักฉบับนี้
ฝากส่งไปถึงสีจมที่เมืองแพร่ให้ได้รับทราบความในใจ
กล่าวถึงประวัติของพญาพรหมอีกนิดหนึ่ง
มีเกร็ดเกี่ยวกับชีวิตของพญาพรหมค่อนข้างมาก เพราะพูดอะไรก็เป็นที่สนใจของผู้คน
เช่น เมื่อตอนเดินทางจากเมืองลำปางไปหาซื้อช้างที่เมืองแพร่นั้น
พญาพรหมพร้อมกับลูกน้องเดินผ่านสวนแตงแห่งหนึ่ง
แดดร้อนระอุอย่างนี้ได้แตงก็เหมือนได้ไอสครีมโฟรโมส
แรกนั้น พญาพรหมใช้ให้เด็กเข้าไปขอกับคุณป้าเจ้าของสวนก่อน
โดยสอนบทกลอนให้ไปว่า
อกปุ๊ทโธ แต๋งโมแม่ป้า |
หยังเป๋นก้าเครือหน่วยนัก |
เป๋นเครือหวันกั๋น หวันจิ๊นจ้องจั๊ก |
หน่วยเนิ้งก้านถมดิน |
ปอปั๋นข้าไท้ ซากก๋าเหลือกิ๋น |
ซักหน่วยบนดิน หล่อนเลาะเบาะขวั้น |
แต่ว่าหน้าแตก เพราะถูกแม่ป้าปฏิเสธเป็นบทกลอนย้อนกลับเข้าให้ว่า
หน่วยมันแต๊บ่นัก ต๋าหลานหันไกล๋ |
มันมีก้าใบ
ก้าจี๋ก้าจ้อน |
ปรากฏว่าเด็กของพญาพรหมจนปัญญาจะต่อกลอน จึงย้อนกลับมาหาพญาพรหมอีก
คราวนี้พญาพรหมจำต้องออกหน้าเข้าไปขอเอง ท่านได้ทักทายเจ้าของสวนโดยกล่าวเป็นคร่าวว่า
บะแต๋งซากนก ซากหนูกิ๋นเหลือ |
บะน้ำปล๋ายเครือ
บ่เหลือกาป้า |
คุณป้าก็ตอบเป็นสำนวนกลอนเช่นกันว่า
บะแต๋งอยู่ต่ำ บะเต้าอยู่สูง |
บ่สมกวรลุง จักกิ๋นของข้า |
พญาพรหมเห็นคุณป้าเล่นบทเล่นกลอนด้วยก็ยิ้มลูบริมฝีปากด้วยความกระหยิ่มใจว่า
"เสร็จโก๋แน่" แม่ป้าคนนี้คงไม่รู้จักว่าพญาพรหมเป็นไผ
จึงได้บังอาจเล่นคารมอมสำนวนเช่นนี้ พญาพรหมจึงถือโอกาสนั้นตื๊อเพิ่มเข้าไปว่า
ต๊ะเติ๋งเหยิง ตึงเปิงใจ๋ข้า |
ใคร่กิ๋นบะนอยบะน้ำ |
เพียงแค่นี้คุณป้าก็ใจอ่อน ยินยอมให้พญาพรหมได้เลือกแตงไปกินตามสบายว่า
เอ้ากิ๋นลุงกิ๋น ไปกลั๋วเสี้ยงซ้ำ |
ของม่อนข้าถมไป |
พญาพรหมจึงหันหน้าไปหาบ่าวไพร่ กวักมือเรียกให้เข้าไปในสวนด้วยสำนวนคร่าวเป็นการปิดท้ายว่า
เอ้า..มาเต๊อะน้อง เลือกกิ๋นต๋ามใจ๋ |
เปิ้นหื้อบ่ดาย เอานักบ่ได้ |
นี่เห็นไหม "ปรารถนาสิ่งใดในปัถพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง" การกล่าวว่า "เปิ้นหื้อกิ๋นบ่ดาย
เอานักบ่ได้" ของพญาพรหมนี้ นับเป็นคติอีกอย่างหนึ่งที่ว่า "ขออย่าได้เอามาก
ลักขโมยอย่าได้เอาน้อย" เพราะโอกาสลักมักไม่มีเป็นครั้งที่สอง
ส่วนการขอนั้นต้องเอาทีละนิดหน่อย ถึงขอบ่อยๆ เจ้าของก็คงไม่ตัดเยื่อใย
เมื่อเจ้าชีวิตอ้าวหรือพระเจ้าเชียงใหม่กาวิโลรสสุริยวงศ์
ซึ่งทรงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพญาพรหมถึงแก่พิราลัยลง
พระเจ้าเชียงใหม่องค์ต่อมาคือพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ได้สืบราชสมบัติ
ได้ทรงเมตตาให้ไปรับพญาพรหมมาจากเมืองแพร่
โปรดให้อยู่ในตำแหน่งอาลักษณ์เป็นกวีแก้วประจำราชสำนักเชียงใหม่
และให้แต่งงานกับเจ้าหญิงบัวจันทร์ ณ เชียงใหม่
เวลานั้นพญาพรหมคงมีอายุมากขึ้นแล้ว จึงได้เลิกละอบายมุขเพื่อขออยู่เป็นสุขในบั้นปลายชีวิต แต่ก็ยังมีคนรู้ดีไปแอบสืบทราบมาว่า
ผู้หญิงที่เคยเป็นเมียของพญาพรหมตั้งแต่ต้นจนจบนั้นมีจำนวนมากถึง 42 คนทีเดียว
ขุนแผนก็ขุนแผนเถอะ รู้จักพญาพรหมแล้วจะหนาว
คราวหนึ่ง บัวจันทร์และวันดี
สองสาวใช้ของเจ้าแม่ทิพไกสรถูกกริ้วโดนไล่ออกจากวัง
ชวนกันไปนั่งกอดเข่าปรึกษากันอยู่ที่สี่แยก เผอิญพญาพรหมเดินผ่านมาพบเข้า
เมื่อเข้าใจเรื่องราวแล้ว ด้วยความอยากช่วยเหลือให้กลับไปทำงานเช่นเดิม
พญาพรหมจึงแต่งหนังสือขอโทษเป็นสำนวนคร่าวให้สองสาวใช้นำไปถวายเจ้าแม่อีก
ดังนี้
หนังสือสำหรับบัวจันทร์
จั๋นทร์กลีบหอม
เมืองขอมใต้หล้า |
แต่ก่อนออนมาก้านัก |
มีผู้นับถือ
ตือดีแต๊ตั๊ก |
ยามก่อนกี้เป๋นยา |
บัดเดียวเดี๋ยวนี้
กล๋ายเป๋นจั๋นทร์ผา |
บ่มีรากา
เข้ายาบ่ได้ |
บ่เหมือนแก่นจั๋นทร์
อันมาจากใต้ |
ไผบ่ตือดีอวดยก |
กล๋ายเป๋นหมากจัน
ซากฮุ้งคาวนก |
บ่เหมือนก่อนกี้คราวเดิม |
หนังสือสำหรับวันดี
วันดีก่อนนั้น เป๋นดีงูเหลิม |
ดีกระทิงเดิม
ฝูงหมอใคร่ได้ |
เข้ายาฝีขาง
ยาเจ็บยาไหม้ |
ยาบะเฮง (มะเร็ง)
ไฟโป่งซ้ำ |
บัดนี้กล๋ายเป๋น
ดีควายฮ่าซ้ำ |
บ่เหมือนก่อนอั้นดีงู |
วันดีเดี๋ยวนี้
กล๋ายเป๋นดีหมู |
ไผบ่มุตู เอ็นดูต๋าหน้า |
ปรากฏว่าเจ้าแม่ทิพย์ไกรสรได้อ่านก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
เรียกให้สาวใช้ทั้งสองกลับเข้าไปอาศัยอยู่ในวังทำหน้าที่ได้ตามเดิม
นับเป็นหนังสือสมัครงานดังแห่งยุคทีเดียว
พญาพรหมมีบุตรสาวกับเจ้าบัวจันทร์ด้วยคนหนึ่ง ตั้งชื่อว่า
อินทร์ตุ้ม
ชื่อเล่นชื่อขี้หมู และมีหลานสืบสกุลชื่อว่า
เจริญ อยู่บ้านฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่
พญาพรหมมีอายุยืนยาวมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
มีผู้นำความขึ้นบังคมทูลสมเด็จพระปิยมหาราชว่า
พญาพรหมผู้นี้มีปฏิภาณไหวพริบเชิงกวีเก่งกาจยิ่งนัก
เทียบได้กับศรีปราชญ์และสุนทรภู่เลยทีเดียว จึงทรงปรารถนาจะทอดพระเนตร
มีรับสั่งให้นำตัวพญาพรหมลงไปเฝ้าที่กรุงเทพมหานคร
แต่ท่านว่าพญาพรหมมีวาสนาน้อย
ยังไม่ทันถึงกำหนดจะเดินทางก็มีอันต้องเจ็บป่วยทุพพลภาพ
หูตาฝ้าฟางใช้การไม่ได้
ก่อนที่พระบรมราชโองการจะขึ้นมาถึงเมืองเชียงใหม่
พญาพรหมโวหารหรือป้อหนานพรหมินทร์
ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ
ในวันเสาร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ขณะมีอายุได้ 79 ปี ในปี
พ.ศ.
2424 (บางแห่งว่า พ.ศ.2426) ณ บ้านข้างวัดเชตุพน
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอันจบบทบาทกวีสามแผ่นดิน คือ เมืองลำปาง
เมืองแพร่ และเมืองเชียงใหม่ ไว้แต่เพียงเท่านี้
ทิ้งสมบัติคือคร่าวอันเป็นอมตะไว้ให้ลูกหลานชาวลานนาได้ศึกษาร่ำเรียนอย่างเป็นอมตะมาทุกยุคสมัย
สมกับคำกล่าวที่ว่าท่านเป็นกวีเอกแห่งลานนาไทยอย่างแท้จริง
และในบรรดาผลงานการประพันธ์ทั้งหมดนั้น
“คร่าวสี่บท”
ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้
ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอกแห่งคร่าวของท่าน
และเป็นสุดยอดวรรณกรรมคร่าวเมืองเหนือด้วย
คร่าวใจ๊หรือจดหมายรักฉบับนี้
พระยาพรหมโวหารได้แต่งแบ่งออกเป็น 4 ภาค หรือสี่วรรคใหญ่ๆ จึงได้ชื่อว่า
“คร่าวสี่บท”
แรกเดิมทีนั้นท่านได้เขียนส่งให้นางสีจมเพียงฉบับเดียว
แต่นางสีจมอ่านหนังสือไม่เป็น จึงวานคนอ่านเป็นช่วยอ่านให้
คนอ่านอ่านไปก็ชอบใจในความสนุกสนานของอรรถรสและสำนวนโวหารที่ท่านแต่งจึงขอคัดลอกไว้
ครั้นคนอื่นๆ ทราบจึงขอคัดลอกไว้อ่านสืบๆ ต่อกันไปอีก
นานเข้าก็เลยกลายเป็นหลายเล่มต่างสำนวนโวหารกัน
แต่เรื่องราวโดยส่วนใหญ่แล้วก็เหมือนกัน
สำหรับสำนวนที่ท่านได้อ่านอยู่นี้
เป็นสำนวนที่อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ชำระตรวจสอบเรียงร้อยถ้อยคำใหม่
บรรจุไว้ในตำราเรียนอักขระลานนาไทย
เพื่อเป็นตำราเรียนของนักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ใน พ.ศ.
2518
ทั้งท่านยังได้เขียนจัดเป็นวรรคตอนให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์
ทำให้อ่านได้ง่ายไม่สับสนปนเปเหมือนกับคนโบราณที่มักเขียนติดกันเป็นพืด
ผู้เขียนได้ถอดความจากหนังสือเล่มนี้มาทั้งหมด โดยมิได้ขออนุญาตจากอาจารย์สิงฆะ
วรรณสัย ทั้งทราบว่าท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว
จึงเรียนบอกให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ
ทั้งนี้ที่ได้ทำงานนี้ขึ้นมามิได้มุ่งหวังเพื่อหาผลกำไรแต่ประการใด
กุศลผลบุญใดเกิดขึ้นแต่การสร้างและศึกษาตำราเล่มนี้ขออุทิศแด่พ่อแม่และบูรพาจารย์ทุกท่าน
มีพระยาพรหมโวหาร และอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย เป็นประธาน เชิญท่านหาความสำราญจากคร่าวสี่บทพญาพรหมโวหาร
ได้ ณ บัดนี้
หมายเหตุ
ข้อความเพิ่มเติมบางส่วน ได้มาจากหนังสือ "คร่าวสี่บทฉบับสอบทาน"
ของท่านอาจารย์อุดม
รุ่งเรืองศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
|