BARROW AND ESKIMO TODAY

 

 

วิถีชีวิตของชาวเอสกิโมนั้น ว่ากันตามจริงแล้วก็มิได้โดดเดี่ยว แต่เขาก็มีเผ่าพันธุ์ญาติพี่น้องอาศัยอยู่รอบๆ ขั้วโลก ที่เรียกว่าวงเวียนอาร์คติกนั่นเอง เพียงแต่การไปมาหาสู่อาจจะลำบากบ้าง แต่นานวันเข้าวิวัฒนาการด้านการคมนาคมก็ช่วยให้ไปไหนมาไหนสะดวก ปัจจุบันชาวเอสกิโมเขานั่งเครื่องบินไปเยี่ยมญาติกันแล้ว

 

ถ้าจะทำการ "ตัดศักราช" หายุคของชาวเอสกิโมว่าเวลาไหนเป็นยุคเก่า-ยุคใหม่ ในทัศนะของผู้เขียนแล้ว ก็เชื่อว่าทฤษฎีนี้น่าจะเป็นไปได้

 

คือผู้เขียนเชื่อว่า วิถีชีวิตของชาวเอสกิโมนั้น ยังคงบริสุทธิ์อยู่ ยิ่งเมื่ออยู่กับรัสเซียมาเรื่อยๆ จนกระทั่งรัสเซียได้ตัดสินใจขาย "อลาสก้า" รวมทั้ง "แบโร่ว์" ให้แก่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2410 ในราคา 7.2 ล้านดอลล่าร์ (เจ็ดล้านสองแสนเหรียญ) นั่นถือว่าชาวเอสกิโม่ถูก "โอนสัญชาติโดยการซื้อแผ่นดิน" เป็นครั้งแรก แต่พวกเขาอาจจะไม่รู้ก็ได้ เพราะไม่มีใครบอก ถึงบอกก็คงไม่มีใครเชื่อ

 

 

 

 

NORTH SLOPE BOROUGH

รัฐบาลท้องถิ่นปกครองตนเองของชาวเอสกิโม

 

 

 

มาถึงวันขึ้นปีใหม่ ที่เรียกว่าวันตรุษสงกรานต์ เป็นวันเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตของชาวเอสกิโมอย่างพลิกแผ่นดิน เมื่อมีการตั้งองค์กรปกครองตนเองของชาวเอสกิโมขึ้นมาในปี ค.ศ.1972 (พ.ศ.2515) นอร์ธ สโลป โบโร่ ก็เหมือนองค์การบริหารส่วนตำบลในบ้านเรา มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของชาวเมืองนั้น มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สินในท้องถิ่นทั้งสิ้นทั้งปวง

 

แต่นอร์ธ สโลป โบโร่ หรือชาวอลาสก้า แทบว่าถูกหวยระดับซูเปอร์ล็อตโต้ เมื่อมีการสำรวจใต้ดินในถิ่นของชาวอลาสก้า รวมทั้งถิ่นชาวเอสกิโม พบน้ำมันและแร่ธาตุจำนวนมหาศาล มูลค่านั้นแทบว่าจะสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งโลก

 

 

 

 

เปรียบเทียบรายได้ของชาวแบโร่ว์กับชาวอเมริกันทั่วไป

 

 

 

นั่นเองที่ส่งผลให้ชาวเอสกิโมในรัฐอลาสก้าของสหรัฐอเมริกา พลิกฐานะจากชาวเขาเผ่าจนๆ ทั้งจนและน่าสงสารที่สุดในโลก แบบว่าจนระดับติดลบของความจน กินแต่ปลาดิบเนื้อดิบเหมือนหมีขาวยังไงยังงั้น จับได้ก็ไม่ต้องแกง แต่กัดกินกันเลย เสียเวลาปรุงแต่ง เพราะปรุงก็ไม่มีเครื่องปรุงอะไรให้ปรุง กลายเป็นมหาเศรษฐีกินพิซซ่าราคาแพงได้ภายในพริบตา เพราะว่า นอร์ธ สโลป โบโร่ ได้ส่วนแบ่งค่าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัฐบาลกลาง "มหาศาล" นำเงินเหล่านั้นมาตั้งเป็นกองทุน และด้วยความที่ชาวเอสกิโม่มีจำนวนไม่กี่พัน เลยไม่ต้องขึ้นทะเบียนคนจนอะไรให้มากความ แค่ประกาศ "ให้ชาวเอสกิโม่ทุกคนที่เกิดมา เป็นสมาชิกของนอร์ธ สโลป โบ่โร่ โดยอัตโนมัติ หรือโดยสัญชาติ" ได้รับทุนสวัสดิการ "ทุกอย่างในชีวิต" แบบว่าตั้งแต่เกิดจนโตไปจนตาย รัฐบาลท้องถิ่น "จ่ายให้หมด" ชาวเอสกิโมเกิดมาปุ๊ปก็มีหุ้นในนอร์ธ สโลป โบโร่แล้ว 100 หุ้น ปีหนึ่งๆ ว่ากันว่า ชาวแบโร่ว์มีรายได้เป็นรายหัวสูงถึง 80,000 ดอลล่าร์ เมื่อเทียบกับชาวอเมริกันผู้มีรายได้ปานกลางแล้ว ชาวแบโร่ว์สูงกว่าเกือบเท่าตัว จะไม่ให้เรียกว่ารวยได้อย่างไร ?

 

เงินที่ชาวเอสกิโม่ได้รับนั้น ว่ากันว่ามีถึง 2 ส่วนด้วยกัน คือ

 

1. เงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง ในฐานะเป็นชาวอเมริกัน

2. เงินอุดหนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น (นอร์ธ สโลป โบโร่) ในฐานะเป็นชนเผ่าเจ้าของที่ดินซึ่งมีน้ำมันอยู่จำนวนมหาศาล

 

แต่ไหนแต่ไรมา ใครๆ ได้อ่านประวัติศาสตร์ของชาวเอสกิโม่แล้วก็อดสงสารไม่ได้ ดูสิต้องกินนอนกลางน้ำแข็ง น้ำก็ไม่ได้อาบตลอดชาติ กินก็ต้องกินดิบ ไม่มีสุก จะทุกข์ยากลำบากขนาดไหน ฯลฯ แต่ถ้าได้อ่านประวัติศาสตร์หน้าใหม่แล้ว ก็จะตกใจว่า "โห..ชาวเอสกิโม่กลายเป็นชนเผ่ารวยที่สุดในโลกไปแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ อยู่ฟรี กินฟรี มีเงินเก็บ และมีสวัสดิการไปจนตาย อยากไปอยู่แบโร่ว์จัง" อยากรู้เหลือเกินว่าใคร หรือหมอดูคนไหน ที่ชี้ให้พวกชาวมองโกเลียกลุ่มนั้น "เดินหน้าเข้าหาพระอาทิตย์" ไปจนสุดขอบฟ้า และกลายเป็นเจ้าของ "แบโร่ว์" ในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

แบโร่ว์ สุดยอดทำเลทองของโลก

 

 

 

แบโร่ว์นั้น เป็นผืนดินเล็กๆ ติดกับฝั่งมหาสมุทรอาร์คติก ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ทั่วไปในโลก ก็ต้องใช้สำนวนไทยสมัยศรีธนญชัยว่า "กว้างเท่าแมวดิ้นตาย" คือมีอาณาบริเวณเพียง 54 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แบ่งโซนออกเป็นผืนดิน 47 ตารางกิโลเมตร และแอ่งน้ำจืดอีก 8 ตารางกิโลเมตร ด้านบนติดน้ำ ด้านล่างติดเขา ไม่มีใครเอา เขายกให้ชาวเอสกิโมฟรีๆ ที่ไหนได้ รู้แล้วจะหนาว

 

แบโร่ว์ จัดว่าเป็น "เมืองใหญ่ที่สุด" ในขั้วโลกเหนือของสหรัฐอเมริกา มีชาวเอสกิโมอาศัยอยู่มากที่สุด เป็นศูนย์กลางของชนเผ่าทั้งหมด ปัจจุบันนี้ แบโร่ว์ มีประชากรประมาณ 4,500 คน เป็นชาวเอสกิโมเสียครั้งหนึ่ง รองลงมาเป็นชาวฟิลิปปินส์ ชาวฮาวาย ชาวอเมริกัน ชาวเอเชียอื่นๆ เช่น ไทย ลาว ฯลฯ

 

แต่ถ้านับประชากรของนอร์ธ สโลป โบโร่ว์ ซึ่งครอบคลุมชนเผ่าทุกแห่งในวงเวียนอาร์คติกแล้ว ท่านว่ามีประมาณ 9,000 คน ครึ่งหนึ่งอยู่เมืองแบโร่ว์ อีกครึ่งหนึ่งกระจายกันอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ รายรอบแบโร่ว์ 8 หัวเมือง ได้แก่

 

Anaktuvuk Pass

Atqasuk

Kaktovik

Nuiqsut

Point Hope

Point Lay

Wainwright

Prudhow Bay

 

เหล่านี้คือเมืองที่อยู่ในการปกครองของนอร์ธ สโลป โบโร่ มีแบโร่ว์เป็นศูนย์กลาง

 

 

 

 

 

 

 

Iḷisaġvik College Barrow

 

 

 

หลังการตั้งนอร์ธ สโลป โบโร่ ขึ้นมา ก็มีการพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยหลายด้าน ที่สำคัญก็คือ ค.ศ.1986 นอร์ธ สโลป โบโร่ ให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นเป็นแห่งแรก ชื่อว่า Iḷisaġvik College ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ลูกหลานชาวเอสกิโม และในอนาคต แบโร่ว์ก็อาจจะมีสถานศึกษาถึงระดับมหาวิทยาลัย เพราะมีเงินมาก ทำอะไรก็ง่าย

 

ปัจจุบัน แบโร่ว์มีทั้งห้องสมุดสาธารณะ โรงเรียนประถม มัธยม ไปรษณีย์ มีโบสถ์ให้นับถือศาสนา ตามด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านพิซซ่า-กาแฟ ฯลฯ อย่างอื่นนั้นก็กำลังตามกันขึ้นไป ไม่ต้องห่วงหรอก ที่ไหนมีตังค์ ที่นั่นมีคน และมีของกินของใช้ที่ทุกคนต้องการ ยิ่งมีตังค์จ่ายมาก ของก็ยิ่งมาก

 

1 ธันวาคม ค.ศ.2016 (สามปีที่ผ่านมา) ชาวแบโร่ว์ได้ทำประชามติให้เปลี่ยนชื่อจาก "Barrow" กลับไปใช้ชื่อเดิมของชนท้องถิ่น คือ Utqiagvik อ่านว่า อู-คี-อะ-วีก ดังนั้น ปัจจุบัน ถ้าท่านค้นหาในกูเกิล ก็จะไม่พบชื่อเมืองแบโร่ว์ แต่จะพบชื่อเมือง Utqiagvik แทน

 

อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปยังเมืองแบโร่ว์นั้น มีบางท่านให้คำนิยามว่า "มิใช่การท่องเที่ยว แต่เป็นการผจญภัยเสียมากกว่า" ทั้งนี้ก็เพราะแบโร่ว์ไม่มีอะไรให้ชม ตัวเมืองก็ไม่สวย พื้นดินก็คับแคบ หาดทรายก็สั้นๆ ถูกน้ำทะเลเหนือกัดเซาะหดตัวลงไปทุกวัน บ้านเรือนก็ผุๆ โทรมๆ เพราะตั้งอยู่กลางดงน้ำแข็งทั้งปีทั้งชาติ การจะสร้างบ้านทาสีให้สวยงามเหมือนซานฟรานซิสโกนั้น เป็นไปได้ยาก ถึงทำได้ก็ไม่คุ้ม จึงไม่รู้จะทำไปทำไม ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ ซึ่งอุจาดตามากกว่าสวยงาม คนต่างถิ่นจะรู้สึกขัดสายตาอย่างแรงเมื่อไปเห็นเมืองแบโร่ว์ แต่ถ้าอยู่นานๆ ก็คงทำใจได้ เผลอๆ เห็นสาวแบโร่ว์สวยพอๆ กับสาวสันกำแพงที่ชื่อ "ยิ่งลักษณ์" ด้วยซ้ำไป ในเมื่อมันไม่มีอะไรสวยไปกว่านี้แล้ว สวยในซอยก็สู้สวยในแบโร่ว์ไม่ได้ จริงไหมเอ่ย ?

 

 

 

 

 

เส้นทางสายไหมใหม่

 

ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะมีการสร้างทางเชื่อมระหว่างสามทวีป (ยุโรป-เอเชีย-อเมริกา) ตามเส้นทางเดิมของชาวมองโกลหรือเอสกิโมเมื่อหลายพันปีก่อน โดยเริ่มจากกรุงลอนดอน ผ่านช่องแคบอังกฤษ ข้ามมายังกรุงปารีสของฝรั่งเศส เชื่อมเข้ามายังกรุงมอสโคว์ของรัสเซีย ข้ามไซบีเรีย ผ่านช่องแคบเบอริ่ง เข้าเมืองแฟร์แบงค์ของสหรัฐอเมริกา ผ่านแคนาดา ตัดลงตรงประมาณวิสคอนซิล มุ่งหน้าไปยังจุดสุดท้ายที่นิวยอร์ค ก็แทบว่าจะอ้อมโลกแล้ว เพราะถ้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปได้ก็จะเจอ "ลอนดอน" อีกครั้ง ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันก็มีรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมตัวอังกฤษกับประเทศในยุโรป (รวมทั้งรัสเซีย) ทั่วถึงกันหมดแล้ว ขาดก็เพียงช่วงข้ามช่องแคบเบอริ่งและสหรัฐอเมริกาในรัฐอลาสก้าเพียงสั้นๆ เท่านั้น อเมริกาเอาจริงวันไหน เปลี่ยนโลกทั้งใบได้ทันที

 

และเมื่อนั้น แบโร่ว์ ก็อาจจะกลายเป็น จุดศูนย์กลางการคมนาคม ในขั้วโลกเหนือ เทียบชั้นลอนดอน มอสโคว์ ปารีส และนิวยอร์ค พูดเป็นภาษาอเมริกันก็ต้องบอกว่า โอ..มายก็อด !

 

แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจมากเกินไป ในหลักการของพระพุทธศาสนานั้นยังคงเป็นอมตะ กับธรรมะข้อที่ว่า "สัพเพ สังขารา อนิจจา สรรพสิ่งไม่เที่ยง" ดังนั้น เรื่องน้ำมันอลาสก้าของชาวเอสกิโมก็ใช่ว่าจะไม่หมดสิ้น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่หันไปใช้พลังงานทดแทนน้ำมันกันเยอะ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ทั้งไฟฟ้า แสงแดดและพลังลม ผสมผสานกัน ลดการพึ่งพาน้ำมันลงเรื่อยๆ และบ่อน้ำมันซึ่งต้องมีกระบวนการ "ขุดเจาะ สูบ น้ำมันดิบ แล้วนำไปเข้าเตากลั่นออกมาเป็นดีเซล-เบนซิล" ซึ่งยุ่งยากซับซ้อนและต้นทุนสูง รวมทั้งก่อมลภาวะแก่โลกเพราะมีควัน จึงถูกลดการใช้ลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็จะไม่มีใครใช้น้ำมันกันต่อไป และเมื่อนั้น หลุมทองคำของชาวเอสกิโมก็จะกลายเป็นหลุมถ่านดำๆ ไร้ราคา

 

ทีนี้ว่า ถ้าชาวแบโร่ฉลาด เมื่อรู้ว่าวันสุดท้ายแห่งความรวยจะมาถึงในไม่ช้า ก็ต้องเตรียมตัวรับกับสภาวการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง โดยต้องพยายามใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น มาเป็นต้นทุนในอนาคตให้มากและคุ้มค่าที่สุด โดยอาจจะลงทุนด้านการศึกษา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมหลายอย่าง ถ้าหากว่าเวลานั้น แบโร่ว์ ก็มิใช่ที่ที่ชาวเอสกิโมควรจะอยู่อีกต่อไปแล้ว

 

ตราบใดที่ไม่ประมาท ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ แต่โอกาสจะกลายเป็นวิกฤติทันทีที่คนประมาท ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "ปมาโท มัจจุโน ปทํ ประมาทก็ตาย"

 

พระมหานรินทร์ นรินฺโท

5 กันยายน 2562

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV 89121 U.S.A. 702-384-2264