|
พระมหานรินทร์ ขึ้นปกหนังสือพิมพ์ NORTHERN UTAH ขายของช่วยวัดในงานแฟร์เมืองอ็อกเด้นท์ รัฐยูท่าห์ วันอาทิตย์ ที่ 31 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2541 (1998)
ของฝากไปแบโร่ว์
ผู้เขียนพอทราบมาบ้างว่า เมืองแบโร่ว์นั้นอากาศหนาวจัด ปลูกพืชผักไม่ได้เลย พืชผักผลไม้จึงมีราคาแพงมาก ส่วนใหญ่แล้วใครไปเยี่ยมใครก็จะมีของฝากติดมือไปด้วย ก็เลยถาม ดร.คีติกานต์ว่า จะไปเยี่ยม อยากได้อะไรเป็นของฝากบ้าง ดร.K ก็บอกว่า ได้หมดครับ โดยเฉพาะพวกผักสด ถือว่าเป็นคำนิยามที่กว้างมาก
ในฐานะที่เข้าครัวตั้งแต่เป็นเด็กวัด บวชเณรแล้ว บ่ายบางวันก็ข้ามกำแพงไปยังตลาดสดติดกับที่วัดเจดีย์งาม (ฝาง) บรรดาแม่ค้าซึ่งเป็นญาติโยมของวัดเจดีย์งามก็ตะโกนถามว่า "เณรอยากได้อะไร" พอผู้เขียนบอกไป ป้าคนโน้นพี่คนนี้ก็หยิบโน่นโยนนี้ให้มาจนเต็มตะกร้า ครั้นมาอยู่อเมริกานึกว่าจะต้องห่างจากห้องครัว ที่ไหนได้ แทบทุกวัดพระต้องเข้าครัวทำอาหาร ยิ่งวัดธรรมคุณาราม ยูท่าห์ มีกิจกรรม "ขายอาหารการกุศล" อยู่ทุกอาทิตย์ในฤดูร้อน ก็ต้องเข้าไปทำงานในโครงการนี้อีก ดังถึงขนาดลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รัฐยูท่าห์เมื่อ 22 ปีก่อน (ลงรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย ประเดี๋ยวจะหาว่าโม้)
ครั้นมาสร้างวัดเองในเมืองลาสเวกัส ก็หนีไม่พ้นจะต้อง "เดินตลาดเอง" เพื่อสำรวจทั้งตลาดอเมริกัน ตลาดจีน ตลาดไทย ตลาดลาว ตลาดแม๊กซิกัน ฯลฯ จึงมั่นใจว่า ผู้เขียนน่าจะพอรู้เรื่องอาหารไทยอยู่บ้าง ดังนั้น จึงตีความตามคำบอกเล่าของ ดร.K ออกมาเป็นรายการของฝากจากวัดไทยลาสเวกัส และวัดมหาพุทธาราม แอลเอ ดังต่อไปนี้
ผู้เขียนมองโดยภาพรวมว่า บรรดาคนไทย เมื่อจะทำอาหารไทย ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องมี "เบญจภาคีเครื่องปรุงอาหารไทย" ไว้ประจำครัว ซึ่งได้แก่
1. พริก ทั้งพริกสดและพริกแห้ง คนไทยขาดพริกไม่ได้ และพริกพันธุ์ไทยของเราก็ถือว่าสุดยอด ไม่เผ็ดเกินไป แถมยังมีกลิ่นหอม ซอยใส่น้ำปลาก็ทานได้แล้ว และไหนๆ จะไปทั้งทีก็ต้องเอาไปทั้งสองแบบนั่นแหละ เผื่อเหลือเผื่อขาด
2. กระเทียม ถือว่าเป็นนางพญาแห่งเบญจภาคีอาหารไทย จะผัดจะแกงก็ต้องมีการ "คั่วหรือเจียวกระเทียม" ให้น้ำมันหอมก่อน จึงค่อยนำเอาพริก เนื้อ หมู ไก่ หรือผักอื่นใด ผัดตามลงไป ในการตำพริกแกงก็ต้องมีกระเทียม กระเทียมยังเป็นยอดของก๋วยเตี๋ยวสูตรไทย เพราะใช้ทำ "น้ำมันกระเทียมเจียว" เพื่อให้ก๋วยเตี๋ยวมีกลิ่นหอม ดูเถิดว่ามาม่าหรือก๋วยเตี๋ยวชาติอื่นๆ จะไม่มีกระเทียมเจียว ดังนั้น กระเทียมจึงขาดไม่ได้ในห้องครัวไทย
3. ข่า ข่าสำคัญกว่าขิง เพราะขิงนั้น ถ้าไม่นำไปทำน้ำขิงแล้ว ก็จะใช้เพียง "ผัดขิง" เป็นเมนูหลัก อื่นๆ นั้นแทบไม่ค่อยได้ใช้ ส่วนข่านั้น นำหน้ามาในเครื่องแกงทุกประเภท ยิ่งเมนู "ต้มข่าไก่" หรือต้มยำทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นต้มแบบป่า ต้มยำบก ต้มยำทะเล เป็นต้องมีข่า ขาดข่าก็แทบว่าขาดใจ ข่าสดนั้นก็แพง แง่งหนึ่งหนักเพียง 2-3 ขีด ราคาก็วิ่งขึ้นไปหลายเหรียญ ยิ่งหน้าหนาวก็ยิ่งแพง แต่เดี๋ยวนี้มีข่าสดแช่แข็ง เขาล้างสะอาด เปิดถุงก็นำไปใช้ได้เลย เอาแบบนี้ไปสบายกว่า ขืนไปซื้อข่าสดมา ก็ต้องเป็นภาระ "ล้าง-หั่น-บรรจุถุง" แค่ข่าอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้วโยม
4. ตะไคร้ นี่ก็ถือว่าเป็นหัวใจของอาหารไทย แม่ครัวคนไหนไม่รู้จักตะไคร้ก็ไล่ออกห้องครัวไปเลย ตัวปลอมแน่ๆ ตะไคร้นั้นก็ใช่คู่กันกับข่า ข่า-ตะไคร้ ก็ใช้ทำนอง ต้นหอม-ผักชี บางที่บางแห่งเขาขายคู่กันไปเลย ไม่ต้องหาซื้อให้ยุ่งยาก ส่วนคุณสมบัตินั้นคงไม่ต้องอธิบาย เพราะใครๆ ก็รู้ดี
5. ใบมะกรูด มะกรูดถือว่าเป็นต้นไม้มงคลของคนไทยในสหรัฐอเมริกา แบบว่าถ้ามีงานแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่ เจ้าภาพได้ต้นมะกรูดเป็นของฝากจากใคร ก็จะชื่นใจ เพราะได้ต้นไม้มงคลที่ใช้กินได้ ทั้งผัดเผ็ด ต้มยำทำแกง สารพัดเมนู มักจะโรยใบมะกรูดปิดท้าย แล้วกลิ่นมะกรูดจะหอมเตะจมูก ผิวลูกมะกรูดยังนิยมซอยตำกับน้ำพริก ช่วยดับคาวเนื้อคาวปลาไปในตัว ลำพังแถวๆ แผ่นดินใหญ่ในอเมริกา ใบมะกรูดก็มีค่าเพียงนี้ แล้วนี่ถ้าได้ใบมะกรูดไปฝากถึงขั้วโลกเหนือ จะเหลือเชื่อปานใด
นี่คือเบญจภาคีอาหารไทย ใครคิดจะเข้าครัวไทยก็ต้องใส่ใจใน 5 สมุนไพรไทยเหล่านี้ไว้ให้ดี รวมทั้ง "ผักชี" อีกต่างหากด้วย
ผักชีนั้น ถือว่าเป็นราชินีอาหารไทยอีกสมุนไพรหนึ่ง หรืออาจจะถึงกับยกให้เป็น "สุดยอดของโสมไทย" ก็คงไม่อายใคร เพราะพ่อครัวแม่ครัวไทยเรานั้น นิยมใช้ผักชีตั้งแต่รากไปยันกิ่งและใบ รวมทั้งลูกผักชีด้วย โดยรากผักชีนั้น ใช้หั่นฝอยตำรวมในน้ำพริกแกง จะทำให้น้ำพริกแกงนั้นหอมกรุ่น ก๋วยเตี๋ยวไทยทุกหม้อต้องมี "รากผักชีทุบ" ใส่ก่อนจะลงกระดูกซี่โครงตุ๋น ก็จะได้น้ำซุปที่หอมกรุ่นสุดยอด ใช่เพียงเท่านั้น ครั้นทำอาหารสำเร็จแล้ว ทั้งต้มยำทำแกง ก็จะนิยม "ปิดท้ายรายการ" ด้วยการ..โรยผักชี ผักชีจึงเป็นราชินีอาหารไทย เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนจบรายการ ดังกล่าวมาฉะนี้
เมล็ดผักชี : เมล็ดพริกไทย
แต่ผู้เขียนก็มองไปแล้ว เห็นว่า ถ้าเอาผักชีสดขึ้นไปเมืองแบโร่ว์ ก็คงจะใช้ได้ไม่เกินวันสองวัน ดังนั้น คงจะสู้เมล็ดผักชีไม่ได้ เพราะเมล็ดผักชีนั้น นิยมนำมาใช้ในการหมักเนื้อทำปิ้งย่าง คู่กับเมล็ดพริกไทยขาว เพราะคนไทยนิยมพริกไทยขาวมากกว่าพริกไทยดำ แต่พริกไทยก็มี 2 อย่าง คือเป็นเมล็ดกับบด เพื่อความสะดวกในการใช้ จึงเลือกไปทั้งสองประเภท ส่วนเมล็ดผักชีนั้นไม่นิยมบดขายเหมือนพริกไทย
เดินกลางตลาดไปก็คิดในใจว่า น่าจะขาดอะไรอีกบ้างในการเปิดครัวไทยในแบโร่ว์ของผู้เขียนครั้งนี้ นึกได้ว่า บรรดาอาหารไทยแล้ว ก็น่าจะมีพวกนี้แหละ สำคัญ คือ
1. พริกแกง ที่วางขายในท้องตลาดก็จะมี 2 ชนิด คือ พริกแกงแดงกับพริกแกงเขียว พริกแกงเขียวนั้นน่าจะเน้นไปทางแกงเขียวหวาน ซึ่งเมนูยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ส่วนพริกแกงแดงนั้น คุณสมบัติครอบคลุมอาหารไทยไม่ว่าจะเป็นผัด แกง ทุกประเภท บางทียังใช้แทนพริกแกงเขียวได้ด้วย เอาไปเก็บไว้ในครัวก็ไม่เสีย ใช้ได้ทั้งปี ที่สำคัญก็คือ ไม่ต้องมานั่งตำพริกแกงเมื่ออยากจะทำอาหารที่ใช้พริกแกง เดี๋ยวนี้ร้านอาหารไทยก็ใช้พริกแกงสำเร็จรูปทั้งนั้น ไม่มีใครมานั่งตำพริกแกงให้หลังแข็งอีกต่อไป
2. มะขามผง หรือผงมะขาม มีคุณสมบัติในการทำต้มยำรสชาติลงตัวอย่างง่ายๆ แบบว่ามือสมัครเล่นก็เป็นมืออาชีพได้ เพียงแค่คุณต้มน้ำให้เดือด ใส่หมูหรือไก่ลงไป ตามด้วยเกลือ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และผงมะขาม ปรุงด้วยน้ำปลา โรยผักชี ก็จะได้ต้มแซซ่บถ้วยโปรดแล้ว หมู หรือไก่ นั้น ในอเมริกาไม่ว่าร้านไหนเขาก็แช่แข็งมาขาย แถวๆ แบโร่ว์คงหาได้ไม่อยาก น่าจะขาดก็เพียง "เครื่องปรุงรสมะขาม" เท่านั้น งานนี้ผู้เขียนจัดไปหลายสิบซอง แบบว่าต้มยำหม้อใหญ่ให้คนนับสิบกินได้เป็นเดือนเลยทีเดียว
3. น้ำปลา น้ำปลาถือว่าเป็นสุดยอดเครื่องปรุงอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็น ผัด แกง ต้ม ยำ ลาบ ฯลฯ เป็นต้องมีน้ำปลาไว้คู่ครัวเสมอ การใช้น้ำปลาเป็นจึงถือว่าเป็น "สุดยอดเคล็ดลับอาหารไทย" ที่คุณแม่บ้านต้องใส่ใจ ขนาดไข่เจียวยังขาดน้ำปลาไม่ได้ อะไรจะปานนั้น
น้ำปลาที่ดีนั้น ต้องไม่มีกลิ่นฉุน แต่รสชาติดี ในกรณีนี้ ผู้เขียนเลือกตรา "ทิพรส" ถือว่าเป็นแบรนด์มาตรฐานในวงการน้ำปลาไทย น้ำปลานั้นต้องใช้ในแทบทุกมื้ออาหาร จึงต้องหาไปหลายขวดหน่อย นิดๆ หน่อยๆ เอาไปทำอะไร ไม่พอยาไส้
น้ำพริกเผา
น้ำพริกเผา : เป็นชื่อที่นึกขึ้นมาก่อนจะปิดรายการอาหารไปแบโร่ว์ แต่เดิมมานั้นผู้เขียนก็ไม่รู้จักน้ำพริกเผา นึกว่าเป็นน้ำพริกที่เอาพริกไปเผาเท่านั้น เมื่อเริ่มรู้จักกินน้ำพริกเผาก็เอาทาขนมปัง คนละรสชาติกับนมข้นตราหมี ครั้นภายหลังจึงทราบว่า คุณสมบัติของน้ำพริกเผานั้น หากใช้ให้เป็นก็เข้าได้หลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นลาบ ผัดกะเพรา หรือต้มยำ ดังนั้น น้ำพริกเผาจึงถือว่าเป็นสมาชิกในครัวที่แทบจะขาดไม่ได้ ไปครั้งนี้จึงหยิบเอาน้ำพริกเผาแบบซองขนาดใหญ่ไปหลายซอง จะเอาแบบขวดไปก็หนักและกลัวแตก
ถามว่า มีอะไรอีกไหมที่อยากเอาไปฝากชาวแบโร่ว์ ก็ตอบว่า มีอีกมากมาย แต่ของฝากไม่จำเป็นต้องเป็นทุกอย่าง ควรเป็นเฉพาะของสำคัญและหายากเท่านั้น อีกอย่าง ผู้เขียนยังไม่เคยไปแบโร่ว์ จึงไม่รู้ว่าทางโน้นเขา "มี" หรือ "ขาด" สิ่งใดไปบ้าง ที่พอประมาณได้เหล่านี้ก็เชื่อว่าถือไปแล้วคงไม่ไร้ค่า เพราะอยู่ที่นี่ก็ต้องหาซื้อไว้ในครัวเป็นประจำอยู่แล้ว หากไปครั้งนี้แล้วได้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรายการของฝากในคราวต่อไป
กะเพรา = โหระพา = แมงลัก
มาถึงสุดยอดของฝากจากพระมหานรินทร์
กะเพรา : เป็นสมาชิกหมายเลขสุดท้าย ผู้เขียนมองว่า ในเมื่อเมืองแบโร่ว์นั้นหนาวจัดเพราะอยู่ขั้วโลกเหนือ พืชผักผลไม้ปลูกไม่ได้เลย จะต้องซื้อหาไปจากด้านล่าง แต่จะหาแบบสดๆ เหมือนเด็ดจากสวนตรงเข้าครัวเลยนั้น ย่อมจะเป็นเรื่องยาก แต่นะ แต่ถ้าเราสามารถนำเอาใบกะเพราสดๆ จากสวนวัดมหาพุทธาราม แอลเอ ซึ่งช่วงนี้กำลังโตวันโตคืน นำขึ้นเครื่องบินตรงจากแอลเอ-แบโร่ว์ ได้ภายในวันเดียว เปิดกล่องออกมายังพบว่าใบกะเพราเหมือนเพิ่งเด็ดจากสวนเมื่อกี้นี้เอง มันก็เป็นเรื่องสิคะ รับรองว่ายิ่งกว่ายกแบโร่ว์ไปไว้ในสวนผักแอลเอ
ผู้เขียนจึงบอกกับอาจารย์ถาวรวัดมหาพุทธารามว่า สามวันจากนี้ ก่อนอาจารย์จะเดินทาง ขออย่าเพิ่งตัดกะเพราให้ใครไปนะ จะขอตัดไปแบโร่ว์สักชุด ท่านมหาถาวรก็รับปาก ครั้นวันพรุ่งนี้จะเดินทาง คืนนั้นเวลา 3 ทุ่ม จึงช่วยกันเอาไฟฉายไปส่องร่องกะเพรา อาจารย์ถาวรก็พิถีพิถันตัดทั้งกิ่งใบ เพื่อให้แข็งแรงคงทน และไม่เหี่ยวไว ได้ใบกะเพราหนักเป็นกิโลแล้ว ก็ขอโหระพาเพิ่มเติมอีก เสร็จจากตัดโหระพาแล้ว อาจารย์ถาวรก็เสนอว่า "อาจารย์ไม่เอาใบแมงลักไปด้วยหรือครับ หากินยากนะครับ" ผู้เขียนก็เลยเชิญคุณแมงลักไปด้วย เป็นสามใบเถาอย่างแท้จริง
ถังพลาสติกใส่ใบกะเพรา โหระพา และแมงลัก ไปแบโร่ว์
การนำสามใบเถา คือ กะเพรา โหระพา และแมงลัก ขึ้นเครื่องในครั้งนี้ ต้องพิถีพิถันกว่าของชิ้นอื่นๆ เพราะใบสดๆ จะบอบช้ำได้ง่าย เห็นออกบ่อยว่าพนักงานขนสัมภาระบนเครื่องนั้น มักจะโยนกล่องหรือกระเป๋าของเรา แบบไม่แคร์ว่าของข้างในจะแตกหรือไม่ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของใบกะเพราและสหาย ผู้เขียนจึงหาถังพลาสติกมีฝาปิด ขนาดกว้างยาวซักศอกกว่าๆ ประมาณว่าฟิตกับกล่องใบใหญ่ และไม่ล้นเกินตัวกล่องออกมา ปรากฏว่าลงตัวพอดี
ตีสี่เช้าวันที่ 13 อันเป็นเวลาเดินทาง เครื่องจะออกเวลา 8 โมงเช้า จึงต้องรีบไปก่อนนิดหน่อย กันพลาด โดยเฉพาะน้ำหนักกระเป๋าต้องเคลียร์ก่อนขึ้นเครื่องให้ได้ ไม่งั้นสิ่งที่คาดหวังไว้จะเป็นหมันหมด แต่สิ่งแรกที่ตื่นขึ้นมาทำก็คือ แพ็กกล่องใส่กะเพราและสาย เพราะเมื่อคืนนั้นตัดเสร็จก็ปรึกษากันว่า ถ้าเราเอาใส่กล่องไปในตอนนี้เลย กว่าจะถึงพรุ่งนี้เช้าก็นานหลายชั่วโมง ภายในกล่องจะอับและร้อน ทำให้กะเพราเฉาหรือช้ำได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงต้องนำออกไปไว้กลางแจ้งให้โดนน้ำค้างตลอดคืน ครั้นตื่นขึ้นมาจึงรีบเก็บใบกะเพราและสหายใส่กล่องดังกล่าว แต่..แต่นะ แต่ผู้เขียนไม่ยอมเอากะเพราเข้าตู้เย็นเด็ดขาด เพราะความเย็นนั่นแหละตัวดีที่ทำให้กะเพราช้ำ สู้เก็บไว้ในร่มเย็นๆ ด้านนอกดีกว่า กะเพราเหี่ยวดีกว่ากะเพราช้ำ ใครไม่เชื่อก็ตามใจ
นี่คือกระบวนการ "นำกะเพราสดไปแบโร่ว์" ในประวัติศาสตร์ของผู้เขียน
บัตรขึ้นเครื่องจากแอลเอไปแองคอเร็จ อลาสก้า เวลา 8:20 AM
ออกจากวัดมหาพุทธารามเวลาตี 5 ครึ่ง ถึงสถานีรถ Fly Away ซึ่งเป็นรถชัตเทิลไป-กลับจากสถานีใกล้บ้านแวนนาย (Van Nuys) - LAX ซื้อตั๋วแล้วหารถเข็นกระเป๋า ปรากฏว่าต้องรอเจ้าหน้าที่บริการ พอพนักงานยกกระเป๋าขึ้นก็บ่นว่าหนักเกินไป มันผิดกฎหมายถ้าจะให้ยกขนาดนั้น ผู้เขียนเลยควักแบ๊งค์ 20 ดอลล่าร์ยื่นให้ ปรากฏว่าแกยิ้ม และตอบว่า ครั้งนี้ครั้งเดียวนะ ต่อไปอย่าใส่ของหนักเกิน ผู้เขียนก็ยิ้มในใจ หนักขนาดไหนก็สู้แรงเงินไม่ได้หรอก
รถขนส่ง Fly Away วิ่งเข้าสนามบินแอลเอรวดเร็วอย่างน่าพิศวง คือไม่มีติดเลย ไปถึงก่อนเวลาที่ประมาณไว้ ครั้นเอากระเป๋าเข้าชั่งน้ำหนัก ก็ปรากฏว่าโชคดีอีก ขนาดว่ากระเป๋าใหญ่หนักถึง 105 ปอนด์ แต่คนเช็คกระเป๋าเป็นผู้ชาย ดูท่าว่าเป็นคนเอเชียด้วย ก็อนุโลมให้ เพราะเราบอกว่า "Check through to Barrow" ครั้นเขาเอาสติ๊กเกอร์แบโร่ว์แปะลงบนกล่องก็ลงตัวทุกอย่าง เดินผ่านด่านเช็คกระเป๋าอย่างสบายตัว เพราะของหนักเดินทางล่วงหน้าไปอยู่ใต้เครื่องก่อนแล้ว เชื่อเถิดว่าคนเดินทางส่วนใหญ่หน้าไม่ค่อยเสบยก็ตรงเวลาชั่งน้ำหนักกระเป๋านี้แหละ กลัวน้ำหนักเกิน กลัวโดนปรับ กลัวตกเครื่อง ฯลฯ สารพัดกลัว
เวลาขึ้นเครื่องก็คือ 08:20 น. เครื่องจะออกเวลา 09:00 น. ตรง จะบินตรงเข้าเมืองแองคอเร็จโดยไม่แวะที่ไหน คาดว่าน่าจะถึงแองคอเร็จราวๆ บ่ายโมงครึ่ง (1:30 PM)
จากนั้นจะต่อเครื่องจากแองคอเร็จไปแบโร่ว์ เวลา 3:05 PM โดยจอดพักที่ Deadhorse Airport เมือง Prudhoe Bay (พรูโดว์ เบย์) มีรายละเอียดดังนี้
เครื่อง Non-stop จากแอลเอ เวลา 9:00 AM ถึงแองคอเร็จ เวลา 1:30 PM ใช้เวลาบิน 5 ชั่วโมง 30 นาที ระยะทาง 2,341 ไมล์
ต่อเครื่องจากแองคอเร็จ ในเวลา 3:05 PM ถึงเมืองพรูโดว์ เบย์ (Prudhoe Bay) ในเวลา 4:40 PM ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 35 นาที รออยู่บนเครื่อง 55 นาที โดยไม่ต้องลงไป
เครื่องบินออจากเมืองพรูโดว์ เบย์ เวลา 5:35 PM ใช้เวลาบินอีก 45 นาที ถึงสนามบินเมืองแบโร่ว์ในเวลา 06:20 PM รวมระยะทางจากแองคอเร็จไปแบโร่ว์ 722 ไมล์
รวมระยะทางจากแอลเอ-แองคอเร็จ-พรูโดว์-แบโร่ว์ ทั้งสิ้น 3,063 ไมล์
รวมเวลาเดินทางจากแอลเอถึงแบโร่ว์ทั้งสิ้น 10 ชั่วโมง 20 นาที (เวลาที่แบโร่ว์ช้ากว่าแอลเอ 1 ชั่วโมง)
ก่อนขึ้นเครื่องนั้น ทาง ดร.คีติกานต์ ก็แจ้งมาว่า "มีเพื่อนจะเดินทางร่วมกับพระอาจารย์ที่สนามบินแองคอเร็จ เพราะมีไฟรท์มาแบโร่ว์เที่ยวเดียวกัน" ผู้เขียนได้ฟังก็อบอุ่นใจ ได้เพื่อนร่วมทางแล้ว
สหายของ ดร.คีติกานต์ที่เอ่ยถึงนั้น มีนามว่า คุณสิทธิศักดิ์ เป็นชาวลาว เคยบวชเรียนและอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน ก่อนจะเดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจที่วัดลาวในเมืองแองคอเร็จ เคยดำรงตำแหน่งเป็นถึงเลขาธิการองค์การพระธรรมทูตลาวในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะลาสิกขาออกมา และเดินทางขึ้นไปทำงานที่แบโร่ว์ดังกล่าว
คุณสิทธิศักดิ์เข้ามาไหว้ เพราะเห็นผู้เขียนยืนเข้าแถวรอขึ้นเครื่องไปแบโร่ว์ แทบว่ามิต้องแนะนำตัว เพราะ ดร.K บอกให้ทราบก่อนแล้ว จึงถือว่าผู้เขียนได้เพื่อนเดินทางก่อนจะถึงแบโร่ว์ รู้สึกอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูกเชียวล่ะ
สนามบินแบโร่ว์ อลาสก้า ภาพแรกที่จับได้เมื่อเดินทางถึงแบโร่ว์
ถึงเมื่อคืนจะนอนดึก และตื่นแต่ตีสี่ แต่ตลอดการเดินทางนั้นผู้เขียนกลับไม่ง่วงเลย อาจจะเพราะกาแฟหรือเปล่า ครั้นพอเครื่องบินเข้าเขตแบโร่ว์ สังเกตเห็นว่ามีฝนตกตลอดทาง พอเครื่องเข้าลานจอดแล้ว ผู้เขียนจึงรีบเปิดกระเป๋าเอากล้องมาเก็บภาพไว้ เพราะนี่คือการมาครั้งแรก ต้องรีบบันทึกความทรงจำ ประเดี๋ยวลืม
ทั้งลม ทั้งฝน เจ้าหน้าที่ถึงกับต้องเอาเส้นสีเหลืองมาคาดเป็นแนว ให้เดินเข้าไปภายในอาคารผู้โดยสาร
ลงจากเครื่อง เข้ามาในอาคารผู้โดยสารแล้ว จึงหันกล้องกลับไปจับภาพพาหนะที่นำผู้เขียนมาจากแอลเอ ซึ่งมีเพียงบริษัทเดียว อลาสก้า แอร์ไลน์
สนามบินแบโร่ว์ยังไม่มีงวงช้างให้คนเดิน จึงต้องเอาบันไดไปพาดให้เดินทางเครื่องดังที่เห็น
ลงจากเครื่องแล้วก็มารอรับสัมภาระ ไม่นาน อาจารย์ ดร.คีติกานต์ ก็มารับ ถัดนั้นอีกไม่กี่นาที อาจารย์สันติภาพ ซึ่งเคยอยู่ที่ลาสเวกัสก่อนจะย้ายมาแบโร่ว์ ก็ตามมาสมทบด้วย ช่วยกันยกกล่องใหญ่ๆ ใส่รถของอาจารย์คีติกานต์ นำผู้เขียนไปยังบ้านเลขที่ 463 ซึ่งเรียกกันว่า "บ้านกลาง" เพราะเป็นบ้านเช่ารวมกันของทิดหลายท่าน ทุกท่านยังไม่มีครอบครัว จึงสามารถใช้บ้านหลังนี้ได้เหมือนศาลาการเปรียญ
บ้านเลขที่ 463 สถานที่นัดพบของกลุ่มแท็กซี่ไทยในแบโร่ว์
ครั้นผู้เขียนขึ้นนั่งรถของ ดร.คีติกานต์ ออกจากสนามบินได้ไม่กี่อึใจ ก็ได้ยินเสียงพูดคุยตอบรับทางเครือข่ายแท็กซี่ไทยในแบโร่ว์ ประกาศข่าวต่อๆ กันไปว่า "อาจารย์นรินทร์มาถึงแล้ว จะไปที่บ้านกลาง ใครอยากพบท่านเชิญไปได้เลย" เลยทำให้ทราบว่า ทางกลุ่มคนขับแท็กซี่เขาจะมี "สื่อสาร" ในกลุ่มเป็นการเฉพาะ ใช้ทั้งบริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ทั้งติดต่อข่าวสารระหว่างกัน หรือจะพูดจาหยอกล้อกันเล่น เป็นการผ่อนคลายในเวลาทำงานด้วยก็ได้ ได้ฟังแล้วก็ทึ่งใจ นี่คนไทยเรายิ่งใหญ่ถึงกับมีคลื่นความถี่เป็นของตัวเองที่ขั้วโลกเหนือแล้วกระนั้นหรือ ?
ส่วนหนึ่งของอดีตนักบวชไทยในแบโร่ว์ ชุดแรกที่ผู้เขียนพบ
ครั้นรถยนต์ของ ดร.คีติกานต์ เข้าจอดหน้าบ้านสีเขียวหลังงาม ก็พบว่ามีบรรดาอดีตพระธรรมทูตหลายท่านมารอต้อนรับอยู่แล้ว ทั้งอาจารย์สุเทียน อาจารย์สนอง อาจารย์วีรยุทธ (ใหญ่) และอาจารย์วีรยุทธ (น้อย) อาจารย์สันติภาพ อาจารย์สิทธิศักดิ์ อาจารย์ทยาน และอาจารย์เดโช ซึ่งแต่ละท่านก็มีเกียรติภูมิแบบที่เรียกว่า เรื่องยาว เล่ากันทั้งวันไม่จบ และหลังจากนั้นก็ทยอยกันมาเรื่อยๆ เลยไม่ได้เข้ากล้อง เพราะแต่ละคนก็มีเวลาน้อย ต้องวิ่งรับส่งผู้โดยสาร มีเวลาว่าง 5 นาทีก็รีบมาหาไหว้พระ
ของฝากที่นำมาจากแอลเอ
บนโต๊ะอีกตรึม
ภาพประวัติศาสตร์
กะเพรา-โหระพา-แมงลัก จากแอลเอ เดินทางถึงแบโร่ว์ ขั้วโลกเหนือ ตัดไปเป็นกิ่งๆ ดังที่เห็น ช่วยรักษาความสดให้ไปตลอดทาง
ทักทายปราศรัยกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ผู้เขียนก็เร่งให้ "เปิดกล่องมหาสมบัติ" ในใจอยากจะดูว่า "สามใบเถา" ที่นำมาจากแอลเอนั้นเป็นยังไง ครั้นปิดออกมาแล้ว ก็สุดแสนจะดีใจ เมื่อพบว่า ใบกะเพรา-โหระพา และแมงลัก นั้น ยังคงสดชื่นเหมือนเพิ่งออกจากสวนมาหยกๆ บรรดาพี่ทิดก็เฮกันลั่นเหมือนเห็นของประหลาด ใบกระเพราสดๆ บินจากแอลเอไปแบโร่ว์ พร้อมด้วยพริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระชาย น้ำปลา พริกไทยฯลฯ อาจารย์สุเทียนถึงกับเซอร์ไพรซ์ว่า "พระอาจารย์นรินทร์เอามาครบเครื่องเลย ไม่น่าเชื่อ"
เท่านั้นก็ดีใจ พอใจและหายเหนื่อยแล้วสำหรับผู้เขียน เราคนไกลไปเยี่ยม เมื่อของฝากของเราเป็นที่ถูกใจผู้รับ ก็จะรู้สึกดีใจไม่เสียทีที่หอบหิ้วมา สิ่งที่ผู้เขียนคิดและพรรณนามามากมายนั้น มิใช่ว่าบ้ากิน แต่มองเห็นว่าสิ่งใดมีค่าสำหรับใคร เมื่อเราให้ในสิ่งที่เขาต้องการและต้องการอย่างมาก ก็ย่อมจะเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจไม่ว่าใครก็ตาม
คนไทยในแบโร่ว์นั้น ทำงานหนัก ได้รับเงินทองล้นมือ แต่หาซื้อข้าวของเหล่านี้ได้ยาก ที่มีก็แทบว่าจะเหี่ยวเฉา ต้องกินใช้กันอย่างประหยัดอดออมเพราะหายาก ถ้ากินเงินแทนได้ก็คงกินไปแล้ว ดังนั้น การนำผักสดไปถึงแบโร่ว์จึงถือว่าเป็นของมีค่าที่ชาวแบโร่ว์อยากได้มากที่สุด แม้จะแพงแสนแพงก็กล้าซื้อ เพราะเงินมีไว้ใช้ซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต
อะไรเอ่ย ?
แจกของดีวัดระฆัง
รุ่นนี้พิเศษ อยู่รอดปลอดภัยและรวย ท่านเจ้าคุณพระบวรรังษี วัดระฆังโฆสิตาราม ท่านเมตตาให้มาไม่กี่องค์ เห็นว่ากว่าจะเดินทางไกลมาถึงแบโร่ว์ได้ก็ลำบากเหลือแสน จึงต้องเอาของดีที่สุดไปเป็นขวัญและกำลังใจของชาวไทยในแบโร่ว์ ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ พระสมเด็จวัดระฆัง เท่านั้น ใครไม่มาก็เสียดาย มาไม่ทันก็เสียใจ เพราะของดีมีน้อย หมดแล้วหมดเลย บ้างจะขอเพิ่ม แต่จนใจ ไม่มีให้ จะกลับไปขอท่านเจ้าคุณอีกก็เกรงใจ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าท่านเมตตาที่สุดแล้ว
ต่อจากนั้นก็เป็นรายการ "ม่วนซื่อโฮแซว" ประสาคนวัด พูดคุยทักทายกันแทบฟังไม่ทัน มันเป็นเรื่องใหญ่ที่พระมหานรินทร์ไปเหยียบถิ่น "แบโร่ว์" พรรคพวกจึงตะโกนทางสายเรียกให้มาพบพระมหานรินทร์ หมุนเวียนกันไม่ซ้ำหน้า ถึงกับบอกว่า "นานแล้วนะครับอาจารย์ที่พวกเราไม่ได้มาพร้อมหน้าพร้อมตากันแบบนี้ เพราะแต่ละคนตื่นเช้ามาก็วิ่งวนอยู่บนถนน เห็นแต่ก้นรถเท่านั้น จะพูดคุยกันก็ยังยาก เว้นแต่จะสื่อสารผ่านกลุ่มเท่านั้น" ได้ฟังแล้วก็แทบ..น้ำตาไหล ดีใจอย่างบอกไม่ถูก แต่ก็ร้องไห้ไม่ได้ เพราะแต่ละเรื่องที่แหลมออกจากปากของพี่ทิดแต่ละคนนั้น โหด มัน ฮา !
ที่พักของผู้เขียนในแบโร่ว์
ก่อนจะขึ้นเครื่องหนึ่งวัน ดร.คีติกานต์โทรมาถามว่า "พระอาจารย์มีที่พักหรือยังครับ"
ผู้เขียนก็แจ้งไปว่า "เรียบร้อยแล้ว พักที่..B&B.." แค่นี้ ดร.K ก็รู้แล้ว
ดร.K ก็บอกว่า "พระอาจารย์ช่วยแจ้งยกเลิกได้ไหมครับ พวกเรามีที่พักสะดวกสบายสำหรับพระอาจารย์ ไม่ต้องเสียตังค์หรอกครับ เสียดาย"
ผู้เขียนก็แจ้งไปว่า "ไม่ทันแล้วล่ะ แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะว่าเต็มใจไปแล้ว ไว้โอกาสหน้าค่อยว่ากันใหม่"
เมื่อพูดคุยกันนานผ่านไปเกินชั่วโมงแล้ว เห็นว่าน่าจะไปเช็คอินที่พักก่อน ประเดี๋ยวเจ้าของที่พักจะคิดว่าเรายกเลิก ดร.K รีบพาไปส่งที่ Latatude 71 เลขที่ 5725 พอไปถึงก็กดกริ่ง ไม่กี่อึดใจชายวัยกลางคนก็เปิดประตูออกมา ผู้เขียนแนะนำตัว เขาก็เชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้าน และนำเข้าไปยังห้องพักซึ่งเตรียมไว้ก่อนแล้ว ผู้เขียนถามว่า "ยูต้องการดูไอดีของฉันหรือเปล่า" เขาก็ตอบว่า "ไม่ต้องหรอกครับ เราเชื่อใจคุณ" เอออะไรจะง่ายปานนั้น ไม่กลัวตัวปลอมหรือไร ?
อาจารย์คีติกานต์เอาน้ำดื่มและไวตามิลค์อีกหลายขวดเข้ามาไว้ในห้องพักด้วย คงกลัวว่าเราจะหิว พูดจานัดหมายกันไว้ว่า "พรุ่งนี้เช้าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะมีอาหารเช้าบริการในบ้านพักแล้ว จะรอไปฉันเพลเลยทีเดียว ที่บ้านหลังเดิม"
คืนนั้นผู้เขียนหลับสนิท เพราะฝืนนอนมาทั้งวัน สะดุ้งตื่นก็เกือบตีสี่ มองออกไปทางหน้าต่างก็เห็นสว่างสลัวๆ แถมฝนยังโปรยปรายไม่หยุดอีก แต่ในใจของผู้เขียนนั้นสว่างอย่างแรง รู้สึกเหมือนเมื่อเช้าแรกที่ไปอังกฤษกับท่านเจ้าคุณศรีญาณวงศ์ (จำลอง) พักที่วัดพุทธวิหารคิงส์บรอมลี่ ของท่านเจ้าคุณเหลา ตื่นเช้าขึ้นมาก็มองลอดหน้าต่าง เห็นแสงเงินแสงทองเป็นประกาย ชื่นอกชื่นใจ เหมือนอยู่ในโลกใบใหม่ ในคราวนี้ก็เช่นกัน นึกในใจบอกกับตัวเองว่า
Good morning Barrow !
|
พระมหานรินทร์ นรินฺโท 2 กันยายน 2562 |
ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV 89121 U.S.A. 702-384-2264