|
อนุสนธิ เนื่องมาจาก กลางพรรษา ปีนี้ วันที่ 17-18 สิงหาคม พ.ศ.2562 มีงานประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สมัยวิสามัญ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ "วัดธรรมภาวนา" เมืองแองคอเร็จ รัฐอลาสก้า ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนที่ "อยู่ไกล-ไปยาก" ลำพังนั่งเครื่องบินก็กินเวลากว่าครึ่งวัน แถมยังต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไป การจะไปไหนมาไหนจึงต้องคำนึงถึง "เหตุปัจจัย" เป็นสำคัญ ดังนั้น แม้จะได้รับฎีกาแจ้งจากสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านั้นเป็นเดือนๆ แต่ผู้เขียนก็ยัง "สองจิตสองใจ" ใจหนึ่ง เมื่อคำนึงถึง "ค่าใช้จ่าย" ก็ไม่อยากไป เพราะพักหลังนี้เดินทางบ่อย จึงอยากจะไปเฉพาะงานใหญ่เท่านั้น นอกนั้นเดี๋ยวนี้เขามีไลน์ มีเฟสบุ๊ค สามารถออนไลน์ส่งข่าวหากันได้ "โดยไม่ต้องไปปรากฏตัว" อีกทั้งพักหลังมานี้ พระธรรมทูตไทยที่ใช้สื่อออนไลน์เก่งๆ ก็มีเยอะ บางที่เรายังมิทันเสนอข่าว เขาก็ส่งกันไปก่อนแล้ว จึงในหลายงาน จะเห็นว่า อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม แทบไม่ได้เสนอรายละเอียดของงานเหมือนก่อน เพราะถือว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อน
แต่..แต่เมื่อคำนึงถึง "สายสัมพันธ์" ระหว่างคนที่รู้จักเคารพนับถือกัน คือท่านอาจารย์พระมหาสมปอง เจ้าอาวาสวัดธรรมภาวนา เจ้าภาพสถานที่ประชุมในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เขียนก็เคยไปเยี่ยมเยือนท่านเมืองห้าปีก่อนหน้านี้ ไปเที่ยวพักผ่อนนอนเรือนท่านนานหลายวัน ท่านดูแลยังกะวีไอพี เดินนำหน้าขึ้นเขาไปเก็บเห็ดชังก้าอันเป็นยาวิเศษด้วยตัวท่านเอง ที่อื่นนั้นจะไปแห่งไหนก็จัดถวาย อาหารการขบฉันก็พิถีพิถัน ปูอลาสก้าก้ามเท่าแขนราคาแสนแพง ท่านก็สรรหามาถวาย ตอนกลับก็มีของฝากอีกมากมายจนต้องเพิ่มค่าสัมภาระ อีกทั้งญาติโยมชาววัดธรรมภาวนามากมายหลายท่านก็รู้จักคุ้นเคยกัน ทั้งผ่านพระสงฆ์และญาติโยมชาววัดไทยลาสเวกัส แล้วเมื่อท่านมีงานสำคัญจะไม่ไปได้อย่างไร ?
เห็นไหมว่าการพิจารณาว่า "ไป-ไม่ไป" ในแต่ละงานนั้น ผู้เขียนก็ต้องคำนึงถือสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะผู้เขียนมิได้มีเงินถุงเงินถังเหมือนวัดใหญ่ๆ นึกอยากจะไปไหนก็ไป ไปแต่ละที่แต่ละแห่งก็ต้องมี "คำอธิบาย" ได้อย่างสมเหตุสมผล จึงจะสามารถอยู่กับผู้คนรอบข้างตัวเราได้
ทีนี้ว่า ถ้าไป ก็จะได้ทั้งงานวัดและงานของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าการไปด้วยตัวเองย่อมจะดีกว่า "ส่งเสียงไปแทน" เป็นไหนๆ ถึงจะฝากปัจจัยไปถวายก็เถอะ มันต้องต่างกันอยู่วันยังค่ำ บางครั้งนั้น คนเรามิได้วัดกันที่เงินทอง แต่เขาวัดกันที่ "ความเสียสละ" ไปให้เขาเห็นหน้าในเวลาที่เขาต้องการ มันสำคัญกว่าการไปในเวลาวิกาล คือเวลาที่เขาไม่ต้องการนั่นแหละ ดังนั้น ก็ต้องแน่ใจได้ว่า งานนี้ พระมหานรินทร์ ไปประชุมอลาสก้าแน่
แต่..แต่ยังคิดติดใจอีกว่า "เอ..คราวก่อนนั้น เราไปอลาสก้า แต่ไปถึงเมืองแองคอเร็จเท่านั้น ยังมีเมืองสำคัญที่ไม่ได้ไป นั่นคือ แบโร่ว์"
พระมหาพิทักษ์ รัตนมูล : พระมหาณรงค์ เสียงดี
ทำไมเกิดความคิดถึงเมืองแบโร่ว์ขึ้นมา ?
เรื่องนี้ต้องเท้าความกลับไปนานร่วมๆ 20 ปี คือประมาณ พ.ศ.2544 หลังตั้งวัดไทยลาสเวกัสขึ้นมาได้เพียง 3 ปี ก็มีข่าวว่า พระมหาพิทักษ์ กิตฺติสทฺโท เจ้าอาวาสวัดธรรมภาวนา อลาสก้า ได้ตัดสินใจ "ลาสิกขา" และทราบต่อมาว่า ท่านเดินทางไปประกอบสัมมาอาชีพอยู่ที่เมือง..แบโร่ว์ รัฐอลาสก้า
ข้อมูลนี้ ส่งผ่านสหายอีกท่านหนึ่ง คือ พระมหาณรงค์ อภิปญฺโญ (เสียงดี) วัดพรหมคุณาราม อริโซน่า ซึ่งต่อมา พระมหาณรงค์ก็ลาสิกขา และได้ขึ้นไปทำงานร่วมกับอาจารย์พิทักษ์ที่เมืองแบโร่ว์ด้วย
พระมหาพิทักษ์ กิตฺติสทฺโท (รัตนมูล) เจ้าอาวาสวัดธรรมภาวนา อลาสก้า เทศน์มหาชาติกลางพรรษา 2544 ที่วัดไทยลาสเวกัส ก่อนลาสิกขาไปอยู่แบโร่ว์
โดยส่วนตัวนั้น ผู้เขียนก็ถือว่าคุ้นเคยกับอาจารย์พิทักษ์พอสมควร แม้จะมิใช่เพื่อนสนิท แต่ก็เคยนิมนต์ท่านมาเทศน์มหาชาติ ที่วัดไทยลาสเวกัส ก่อนหน้าท่านจะสึกเพียงปีเดียว ดังนั้น ทั้งท่านพิทักษ์ ท่านณรงค์ จึงถือว่ารู้จักกันดี ท่านณรงค์ เสียงดี นั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะอบรมพระธรรมทูตรุ่นเดียวกัน ในปี 40 ท่านพิทักษ์อบรมก่อน 1 ปี แถมท่านณรงค์ยังมาทำงานอยู่ที่วัดพรหมคุณาราม อริโซน่า ซึ่งเวลานั้นแทบจะเป็น "ศูนย์กลาง" ของสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าท่านเจ้าอาวาส คือพระมหาวินัย ปุญฺญญาโณ ท่านดำรงตำแหน่ง "เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทย" และสมัยนั้น ท่านเจ้าอาวาสวัดสระเกศ อันเป็นต้นสังกัดของพระมหาวินัย คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ยังดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เทียบได้กับรัฐมนตรีต่างประเทศ และต่อมา ท่านก็ได้เป็น "ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช" อีกด้วย ไปวัดพรหมก็เหมือนไปวัดสระเกศ ส่งผลให้ใครๆ ก็ต้องไป..วัดพรหมคุณาราม
ระยะทางระหว่างเมืองลาสเวกัสกับเมืองฟีนิกซ์ ที่มีวัดพรหมคุณารามตั้งอยู่นั้น ก็ไม่ไกลเท่าไหร่ วิ่งรถประมาณ 3 ชั่วโมงก็ถึง ออกเช้าก็ไปฉันเพลทัน ระยะทางที่ว่านี้ ในสหรัฐอเมริกา ถือว่า..ไม่ไกล ดังนั้น พระวัดไทยลาสเวกัส จึงไปมาหาสู่กับวัดพรหมคุณารามโดยตลอด แบบว่าถ้าเราไม่ไป เขาก็มาหา เพราะพระมหาวินัยนั้น (ปัจจุบันเป็นเจ้าคุณ) ท่านรู้จักญาติโยมในลาสเวกัสมาก่อนหน้าเจ้าอาวาสวัดไทยลาสเวกัส ถือว่าเป็นรุ่นพี่ ดินแดนแถบนี้ท่านจึงมีสายสัมพันธ์กับผู้คนมาก่อน คือถ้าไม่นับวัดไทยแอลเอเสีย ก็ต้องถือว่า วัดพรหมคุณารามนี่แหละ คือวัดที่ชาวลาสเวกัสรู้จักมักคุ้นที่สุด
ที่ผู้เขียนบอกว่า "สมัยนั้น ไม่ว่าใครก็ต้องไปวัดพรหมคุณาราม" ก็เพราะเหตุผลว่า ในกลางพรรษาปี พ.ศ.2534 ซึ่งเกิดกรณีพระเณรชีวัดพรหมคุณาราม ถูกฆาตกรรม "ทั้งวัด" ทางสมัชชาสงฆ์ไทยจึงได้กำหนดให้จัดงาน "วันมหารำลึก" ขึ้นที่วัดพรหมคุณาราม ซึ่งจัดติดต่อกันมาได้ 17-18 ปีนี่แหละ จึงได้ขยายขอบเขตของการจัดงานหมุนเวียนไปทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนจะมาถึงคิวทองของวัดธรรมภาวนา อลาสก้า ในปีนี้
ทีนี้ว่า เมื่อมีงานมหารำลึกที่วัดพรหมคุณาราม กลางพรรษา (อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม ทุกปี) จึงทำให้พระธรรมทูตไทย ทั่วสหรัฐอเมริกา ต้องเดินทางมาร่วมงานที่วัดพรหมคุณาราม แทบทุกรูป เพราะปีก่อนไม่มา ปีนี้ก็ต้องมา ปีนี้มิได้ไป ปีหน้าก็ต้องไป ส่วนใหญ่ก็ไปหลายครั้ง จึงว่าวัดพรหมฯ สมัยนั้น ยิ่งใหญ่ ผู้คนไปมากกว่าวัดของประธานสมัชชาสงฆ์ไทยที่นิวยอร์คเสียอีก
ก็สรุปเสียว่า วงการพระธรรมทูตไทยในสหรัฐอเมริกานั้น ค่อนข้างจะแคบ เพราะรู้จักกันหมด ว่าไผเป็นไผ เมื่ออาจารย์ณรงค์ขึ้นไปอยู่กับอาจารย์พิทักษ์ สัญญาณจากแบโร่ว์ก็ส่งมายังวัดไทยลาสเวกัสอย่างต่อเนื่อง มีข่าวเพิ่มเติมว่า มีอดีตพระธรรมทูตท่านนั้นท่านนี้ ลาสิกขาลาพรตแล้ว ก็บินขึ้นไปอลาสก้า ไปประกอบสัมมาอาชีพอยู่ที่เมืองแบโร่ว์ ซึ่งก็คือไปเพิ่มเติมทีมงานของเหล่าบัณฑิตจากรั้ววัดนั่นเอง
ช่วงที่พี่ทิดพิทักษ์-ณรงค์ขึ้นไปอยู่แบโร่ว์นั้น ผู้เขียนก็อยากไปเยี่ยม แต่ตอนนั้นเพิ่งจะสร้างวัดใหม่ ยังไม่พร้อม แต่ครั้นรั้งรอมาเรื่อยๆ ก็ปรากฏว่า เข็มนาฬิกาหมุนไปแล้ว ร่วมๆ 20 ปี
วันนี้ มีข่าวว่า อดีตพระธรรมทูตไทย ขึ้นไปประกอบอาชีพที่เมืองแบโร่ว์แล้ว ร่วมๆ 30 ท่าน ถ้านับทั้งที่เคยผ่าน คือไปแล้วกลับลงมา หรือกลับไทย ก็คงไม่ต่ำกว่า 50 ท่าน สถิติที่ว่านี้ ถือว่ามีนัยสำคัญให้ผู้เขียนต้องพิจารณาอย่างที่เรียกว่า มองผ่านไปไม่ได้
ไฮไลต์ของแบโร่ว์ ซึ่งผู้เขียนเห็นในอินเตอร์เน็ต นึกอยากไปดูกับตา
ช่วงหนึ่ง ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่า มีบรรดาอดีตพระธรรมทูต ลาสิกขาแล้ว ก็ชวนกันไปประกอบสัมมาอาชีพอยู่ที่เมืองซาไลน่า รัฐแคนซัส เพราะว่าที่นั่นมีโรงงานซึ่งรับพนักงานไม่จำกัด ใครตกงาน ว่างงาน หรือสึกใหม่ ไม่มีงาน เชิญไปซาไลน่า รับรองว่าไม่ผิดหวัง สถิติอดีตพระธรรมทูตไทยในซาไลล่า ว่ากันว่าพุ่งขึ้นแตะ 20 ท่าน ถือว่าน่าสนใจ และผู้เขียนก็เคยเวียนไปเยี่ยมมาแล้วหลายครั้ง เพราะที่นั่นมีวัดไทยอยู่ด้วย ชื่อว่าวัดวิเทศธรรมรังษี อันเป็นราชทินนามเก่าของ "หลวงตาชี" วัดไทย กรุงวอชิงตัน ดีซี ท่านเมตตาอนุญาตให้ "พระมหาสุขุม สุขุโม" วัดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ นำไปตั้งเป็นชื่อของวัดใหม่ในเมืองซาไลน่า ใครวิ่งรถไปทางฟรีเวย์สาย 70 ผ่านเดนเวอร์ไป เป็นต้องผ่านเมืองนี้
ก็เหลือเพียงเมือง "แบโร่ว์" นี่แหละ ที่ผู้เขียนยังไปไม่ถึง คราวก่อนไปถึงเพียงแองคอเร็จ เหมือนทานอาหารคาวแล้วไม่มีของหวาน ครั้นเมื่อจะไปประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในปีนี้ จึงคิดว่า ไหนๆ ก็ต้องไปแองคอเร็จแล้ว ค่าเครื่องบินก็กินไปครึ่งพัน แต่ได้งานประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยและงานฉลองวัดธรรมภาวนา ถ้าจะต่อเครื่องไปแบโร่ว์อีกครึ่งทาง..จะดีไหม ?
คำตอบที่ได้ก็คือ ถ้าไม่ไปคราวนี้ก็คงต้องรออีก 10 ปี หรือไม่ก็ไม่ต้องไปตลอดชีวิต เพราะรอมาแล้ว 20 ปี ยังไม่มีใครนิมนต์ไปแบโร่ว์โดยตรง การไปหรือไม่ไป จะอาศัยเหตุปัจจัยภายนอกนั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยปัจจัยภายใน คือตัวเรา แบบว่าถ้าจะไปก็ไป ไม่ไปก็ไม่ต้องไป
ก็ในบรรดาหัวเมืองหรือรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ในเวลา 20 กว่าปี ที่ผ่านมา พระมหานรินทร์ก็ไปมาแล้ว "ทุกรัฐ" ไม่ว่าจะเป็นเมนแลนด์ หรือแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐอิสระ คือ อลาสก้าและฮาวาย เหลือจุดสุดท้ายที่สำคัญก็คือ BARROW นี่แหละ
ที่ว่าแบโร่ว์เป็นจุดสำคัญนั้น เพราะเหตุผล 3 ข้อใหญ่ ได้แก่
1. แบโร่ว์ เป็นเมืองเหนือสุดของสหรัฐอเมริกา แบบว่า รัฐอลาสก้าเป็นรัฐเหนือสุด ก็ยังมีเมืองแบโร่ว์อยู่สูงสุด คือบินข้ามแคนาดาไปจนสุดขั้วโลกเหนือ ไม่มีผืนดินใดจะเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว แบโร่ว์จึงเป็นที่สุดของที่สุด เป็นสุดยอดของดินแดนหนึ่งในโลกนี้ แบโร่ว์เป็นดินแดนท้าทายนักเดินทางให้ไปเยือน..ครั้งหนึ่งในชีวิต
2. แบโร่ว์ มีอดีตพระธรรมทูต ซึ่งเคยบวชเรียนมาด้วยกัน ทำงานอยู่ในวงการเดียวกัน ครั้นลาสิกขาแล้วก็ขึ้นไปประกอบสัมมาอาชีพอยู่ที่นั่น "เยอะมาก" แทบทุกรูปก็รู้จักกับผู้เขียน เมื่อมีเพื่อนอยู่เยอะ ก็ยิ่งทำให้อยากไปเยอะ ตามประสาคนไทย มีญาติหรือเพื่อนที่ไหน ก็อยากไปเยี่ยม
3. แบโร่ว์ เป็นเสมือนเกาะบนขั้วโลกเหนือ ด้านบนชนมหาสมุทรอาร์คติก ด้านล่างติดทิวเขาสูงชันเป็นกำแพงกั้นตัดขาดกับแผ่นดินใหญ่ด้านล่างลงมา แบบว่าจะว่ายข้ามน้ำก็ตาย จะปีนเขาน้ำแข็งก็ตาย เส้นทางการเดินทางไปแบโร่ว์นั้นถือว่าเร้าใจคนขับรถเป็นเช่นผู้เขียนเป็นอันมาก เพราะว่าขับรถไปไม่ได้ ไม่มีทางรถไปถึง จะไปทางเรือก็เหลือแสน ไม่มีเรือโดยสารไป การไปแบโร่ว์นั้นมีเพียงเส้นทางเดียวคือ บินไป เห็นไหมว่า ถ้าไม่พิเศษระดับชุมทางคนเด่นจริงๆ พระมหานรินทร์ไม่สนใจแน่
องค์ประกอบอื่นๆ ก็คือว่า มีคำชักชวนว่า "อาจารย์ไปเถอะ รับรองไม่หลง เพราะแบโร่ว์เป็นเมืองเล็ก มีสนามบินเล็กนิดเดียว และพวกเราก็ขับรถแท็กซี่อยู่ทั่วเมือง รับรองว่าไปแล้วต้องเจอพวกเรา" นั่นเป็นการปิดประเด็นสำคัญว่า ถ้าไปแล้วจะไปไหน ไปหาใคร หรือใครจะมาช่วยเหลือดูแลเรา เพราะมิได้ไปกับบริษัททัวร์ซึ่งมีไกด์และวางแผนการเดินทาง ที่พัก อาหารการกิน ทั้งขาไปขากลับไว้พร้อมสรรพ จ่าย "One-stop" เพียงครั้งเดียวก็เที่ยวได้ครบวงจร แต่การไปแบโร่ว์ครั้งนี้เป็นการไปคนเดียว ถึงจะมีคำยืนยันมั่นคงข้างต้นอยู่ก็ตาม แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะขืนใครไม่มาตามนัด เราซึ่งเป็นคนแปลกหน้าจะลำบากทันที
เส้นทางการบินช่วงแรก : จากแอลเอถึงแองคอเร็จ
เส้นทางการบินช่วงที่สอง : จากแองคอเร็จถึงพรูโดว์ เบย์
เส้นทางการบินช่วงที่สาม : จากพรูโดว์ เบย์ ถึงแบโร่ว์
หมายเหตุ : ในแผนที่ไม่มีคำว่า "BARROW" อีกแล้ว เพราะถูกชาวเมืองโหวตให้กลับไปใช้ชื่อเดิม คือ UTQIAGVIK (ยูคีอะวิก) แต่คนที่เคยเรียกก็ยังคงเรียก "แบโร่ว์" ติดปากอยู่ แถมชื่อใหม่ก็เรียกยากกว่าเดิม จึงคิดว่าคงอีกนาน กว่าคนจะลืมแบโร่ว์
ผู้เขียนจึงดำเนินการ 2 ทาง คือ
1. หาข้อมูลการเดินทาง ที่พัก อาหาร และอื่นๆ ก็ทราบได้ว่า เมืองแบโร่ว์นั้น มีเพียงสายการบิน Alaska Airline เพียงบริษัทเดียวที่บิน และการบินก็เหมือนการบินไทยไปอินเดีย นั่นคือ บินวน จากสุวรรณภูมิ ไปพุทธคยา ต่อไปยังพาราณสี แล้วก็บินจากพาราณสีตรงเข้าสุวรรณภูมิ แบบว่าถ้าท่านจะไปพาราณสีท่านก็ต้องไปต่อหรือรอเครื่องที่พุทธคยา หรือถ้าจะบินจากพุทธคยาไปกรุงเทพฯ ก็ต้องไปรอหรือต่อเครื่องที่พาราณสี เช่นกัน จะได้เปรียบเสียเปรียบกันคนละช่วงดังนี้แหละ
เส้นทางจากแอลเอ-แบโร่ว์นั่น ก็ออกมาในรูปแบบนี้ คือ 1.1 ขาไป ต้องบินเข้าแองคอเร็จก่อน จากนั้นจึงต่อเครื่องไปแบโร่ว์ แต่เครื่องไปแบโร่ว์นั้นจะไปแวะจอดที่เมือง "Prudhou Bay - พรูโดว์ เบย์" ระยะทางตรงจากแองคอเร็จไปแบโร่ว์นั่น ท่านว่าประมาณ 700 ไมล์ ใช้เวลาบินตรงเพียง 1 ชั่วโมง 45 นาที แต่ถ้าไปจอดที่พรูโดว์อีก ก็จะเพิ่มเวลาขึ้นไปเป็น 3 ชั่วโมง 15 นาที
1.2 ขากลับ บินจากแบโร่ว์ตรงเข้าแองคอเร็จ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 45 นาที
2. หาเพื่อนร่วมทาง เพราะการเดินทางไปยังต่างถิ่นเพียงคนเดียวนั้น ยังไงก็อบอุ่นสู้ไปกับเพื่อนไม่ได้ ผู้เขียนต่อสายไปยังท่านอาจารย์ ดร.พระมหาทองจันทร์ สุวํโส เจ้าอาวาสวัดทองธรรมชาติ เมืองลาสเวกัส วัดใกล้เรือนเคียงและคุ้นเคยกัน ชวนท่านไปแบโร่ว์ ท่านบ่นคำโตว่า "โห..เสียดายมาก เพราะผมอยากจะไปประชุม แต่ติดหมอต้องตรวจสุขภาพประจำปี ขืนไปปีนี้ก็ไม่มีโอกาสเช็คสุขภาพ ต้องรออีกปี แต่ถึงอย่างไรก็อยากไปใจจะขาด" ท่านว่างั้น ดร.พระมหาทองจันทร์ ท่านเคยมีประวัติการป่วยหนักถึงกับเข้าโรงหมออยู่นานเป็นปี เรื่องสุขภาพจึงเป็นปัญหาใหญ่ ท่านต้องดูแลตัวเอง ผู้เขียนเลยอดได้เพื่อนร่วมทางไปแล้วหนึ่ง
แต่ยังไม่หมด ยังไงก็ต้องมีคนไปประชุมอลาสก้าปีนี้ และน่าจะเป็นท่านนี้ที่ไม่น่าพลาด นั่นคือ ท่านพระอาจารย์สง่า วัดไทยฮาวาย สหายร่วมรุ่น พอต่อสายไปฮาวาย อาจารย์สง่าก็บ่นว่า "แหมเสียดาย ผมเปลี่ยนคิวกับอาจารย์แสลง ให้ท่านประชุมอลาสก้า ส่วนตัวผมจะไปงานวัดมงคลรัตนาราม ซานฟรานซิสโก เดือนหน้า ถ้าไปอลาสก้ายังไงผมก็ต้องไปกับอาจารย์นรินทร์" อาจารย์สง่าหยอดคำหวานส่งท้าย เป็นการปฏิเสธแบบมีเยื่อใย มิน่า ญาติโยมชาวฮาวายติดอาจารย์สง่าตรึม ก็หยอดของหวานเป็นประจำนั่นเอง
สรุป สุดท้ายผู้เขียนก็คงต้อง เดินทางไกลเพียงคนเดียว
เมื่อยังไงก็ต้องไปคนเดียวแล้ว เพื่อมิให้เป็นภาระแก่คนอื่นๆ ก่อนจะจองตั๋วเครื่องบิน ผู้เขียนก็ต้องวางแผนการเดินทาง ทั้งเรื่องเวลาการเดินทาง การพักอยู่ในเมืองแบโร่ว์ และการเดินทางมาร่วมประชุมที่แองคอเร็จ "ให้ทัน" แบบว่าไม่เสียทั้งงานราษฎร์งานหลวง ทั้งนี้ กลางพรรษา มีกฎอยู่ว่า "พระภิกษุจะเดินทางไปไหนเกิน 7 วันไม่ได้" ดังนั้น โปรแกรมทั้งหมดต้องลงตัวภายใน 7 วัน ตามพระบรมพุทธานุญาต
วันประชุมจึงถูกนำมากางเป็น "Main Time" เป็นจุดใหญ่ที่จะต้องนำมาตั้ง ส่วนจุดอื่นๆ นั้นจะต่อเชื่อมไป โดยการต่อเชื่อมนั้นก็มี 2 ทาง คือ ไปประชุมก่อนแล้วค่อยวิ่งขึ้นไปแบโร่ว์แล้วตีตั๋วกลับแอลเอ หรือ ไปแบโร่ว์ก่อนแล้วกลับมาประชุม เสร็จประชุมแล้วจึงบินกลับแอลเอ
ที่ว่าบินไป-กลับ จากแอลเอนั้น เพราะปีนี้ผู้เขียนจำพรรษาอยู่ที่วัดใหม่ วัดมหาพุทธาราม เมืองนอร์ธทริจด์ (Northridge) เป็นปีที่สอง อีกทั้งสายการบินจากแอลเอไปอลาสก้าที่แคลิฟอร์เนียก็มีเยอะกว่าลาสเวกัส จึงตัดสินใจใช้สนามบิน LAX เป็นฐานปฏิบัติการในครั้งนี้
ปัญหาที่ต้องคำนึงถึงก็คือ สัมภาระ ส่วนใหญ่ใครไปอลาสก้า จะไม่พลาดที่จะได้ของฝากกลับมา นั่นคือ ปลาแซลมอน ทั้งสดหรือแห้ง เพราะที่นั่นราคาถูก แต่ถ้าที่อื่นและก็แพง ไปครั้งก่อนก็ได้มากล่องใหญ่ ไปครั้งนี้ก็คงต้องมีติดกระเป๋ามา แต่ว่าปลานั้นเป็นของสด ถ้าไปประชุมก่อน แล้วได้ปลาพาไปแบโร่ว์ ก็จะลำบาก ทั้งการขนส่งและที่เก็บซึ่งต้องเป็นฟรีซเซอร์เท่านั้น แต่ถ้าไปแบโร่ว์ก่อน แล้วมาประชุม ได้ปลากลับมาจากแองคอเร็จ ก็บินกลับแอลเอเลย สะดวกกว่า
เห็นไหมว่า ปัญหาปลาก็เกี่ยวกับการเดินทางด้วยนะ ยกเว้นจะไม่เอาปลาก็ไม่ว่ากัน แต่ผู้เขียนเป็นคนนิสัยชอบห่วง ไปไหนมาไหน เป็นต้องมีของฝากกลับบ้านด้วย แผนการเดินทางก็เลยออกมาเป็นว่า "บินขึ้นไปแบโร่ว์ก่อน แล้วค่อยลงมาประชุมเป็นจุดสุดท้าย" ซึ่งถ้าจะเอาวันที่ 19 หลังการประชุม 1 วัน เป็นวันเดินทางกลับ ก็จะมีเวลา 7 วันนับจากวันที่ 13 สิงหาคม ตรงตามพระบรมพุทธานุญาตเป๊ะ
Latitude 71 B&B ที่พักของผู้เขียนในเมืองแบโร่ว์
แต่ผู้เขียนก็ยังไม่ยอมจองตั๋ว เพราะตั๋วนั้นคงหาไม่ยากเท่ากับ "ที่พัก" ยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูร้อน ถือเป็นช่วงสำคัญของท่องเที่ยวในเมืองหนาว ตามสูตรง่ายๆ ว่า "ไปเที่ยวเมืองหนาวในฤดูร้อน ไปเที่ยวเมืองร้อนในฤดูหนาว" ก็จะสบายตลอดปี ทีนี้ เมื่อเดือนนี้เป็นฤดูท่องเที่ยวของอลาสก้า แน่นอนว่าค่าที่พักต้องแพง เผลอๆ จะไม่มีที่พักว่างด้วยซ้ำ
ผู้เขียนเข้าไปในเว็บไซต์สำรวจดู ก็พบว่า ในเมืองแบโร่ว์มีโรงแรมอยู่ 2-3 แห่ง แต่ไปติดใจอยู่ที่บ้านหลังหนึ่ง ชื่อว่า Latitude 71 B&B คำว่า B&B นั่น สะดุดตาผู้เขียน เพราะย่อมาจาก Bed and Breakfast หมายความว่า เขามีห้องพักให้ และมีอาหารเช้าเสิร์ฟด้วย ห้องพักประเภทนี้ในยุโรปนิยมมาก โรงแรมในอเมริกาส่วนใหญ่ก็จะเสิร์ฟเบรคฟัสท์ แต่บางแห่งก็ไม่มี มีเพียงน้ำชากาแฟเท่านั้น
ผู้เขียนคำนวนดูแล้วว่า ถ้าไปพักที่แบโร่ว์ 2 คืน 2 วัน จะไปรบกวนพี่ทิดทั้งหลายทุกมื้อก็จะเกินไป ไหนๆ ก็ปากเดียวท้องเดียว อาหารเช้าก็สั่งพร้อมกับที่พักไปเลย ส่วนอาหารมื้อเพลนั้นคงมีคนเลี้ยงบ้าง หากไม่มีจริงๆ ก็คงจะมีร้านอาหารให้พอประทังชีพและราคาคงไม่ถึงกับว่าจะซื้อหาไม่ได้ อีกเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจจองที่พักแบบ B&B ก็เพราะ เห็นว่าเป็นบ้านพัก ไม่ใช่โรงแรม จึงน่าจะไม่พลุกพล่านเหมือนโรงแรม ผู้เขียนเลยตัดสินใจโทรไปคุยกับเจ้าของที่พัก ก็เถียงกันหลายคำตามสไตร์อเมริกัน เพราะแหม่มเจ้าของที่พักนั้นบอกว่า "ยูจะต้องมาก่อนวันที่ 15 นะ เพราะวันที่ 15 ไอมีแขกจองเต็มแล้ว และยูจะต้องออก ถ้าหากยูอยู่ถึงวันที่ 15" เวลาเช็คเอาท์นั้น ก็ตัดกันที่ "เที่ยงวัน" ผู้เขียนคำนวนแล้ว ก็โอเคเลย ก่อนเที่ยงวันที่ 15 คงจะไปหาเยี่ยมบ้านพี่ทิด หรือไม่ก็หารถชมเมืองไปจนเย็น ถึงเวลา 1 ทุ่ม ฟ้ายังสว่าง ก็บินกลับแองคอเร็จ เพื่อร่วมประชุมแล้ว
ตั๋วเครื่องบิน ไป- กลับ
LOS ANGELES - ANCHORAGE - LOS ANGELES
ต่อเครื่อง ANCHORAGE - BARROW - ANCHORAGE
สรุปว่า ผู้เขียนบินเข้าแบโร่ว์ในวันที่ 13 เวลา 06:20 PM (ตอนเย็น) ขากลับนั้นเป็นวันที่ 15 เวลา 07:10 PM เช่นกัน ถึงสนามบินแองคอเร็จเวลา 08:55 PM ก็ยังถือว่าไม่ดึก เพราะช่วงนี้ที่อลาสก้า กว่าพระอาทิตย์จะตกก็เกือบ 4 ทุ่ม และเชื่อว่า ช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะมีพระธรรมทูตบินเข้าแองคอเร็จอยู่เรื่อยๆ ไปจนถึงเที่ยงคืนโน่นแหละ และคงจะพอมีรถมารับโดยไม่ต้องไปทำให้เจ้าภาพลำบาก
ผู้เขียนถือคติว่า ถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ทำตัวให้เป็นภาระแก่ใคร แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำตัวเราให้เบาที่สุด เขาจะได้ไม่หนักใจ !
แต่ถึงยังไง เพื่อความปลอดภัยก็ต้องป้องกันไว้ก่อน การไปไหนมาไหนแบบจู่โจมนั้น ย่อมจะทำให้เจ้าบ้านเขาไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นการเสียมารยาท จึงควรบอกให้เขาทราบก่อนเข้าบ้าน อย่างน้อยซักห้านาทีก็ยังดี คิดดังนี้ ก่อนการเดินทาง 2 วัน ผู้เขียนจึงพยายามติดต่อชาวแบโร่ว์ ปรากฏว่าเบอร์โทรที่ได้มาติดบ้างไม่ติดบ้าง คิดว่าน่าจะผิดพลาดทางด้านเท็คนิก เลยตัดสินใจติดต่อไปยัง "คุณผึ้ง-กรธิดา สิทธิธรรมสกุล วรรณิสสร" ซึ่งวัดธรรมภาวนาประกาศแต่งตั้งให้เป็น "ผู้ประสานงาน" ของพระธรรมทูตที่จะเข้าร่วมประชุม ว่าน่าจะมีคนรู้จักที่แบโร่ว์บ้าง ซึ่งคุณผึ้งก็ให้เบอร์โทรของ "ดร.คีติกานต์ ราชโยธา" มาทันที
ผู้เขียนเห็นเบอร์โทรแล้วก็ดีใจ เพราะ ดร.คีติกานต์ก็ใช่คนอื่นไกล รู้จักกันมาก่อนจะสละเพศไปเป็นฆราวาส หนำซ้ำ ดร.คีติกานต์ยังสนิทกับ ท่าน ดร.พระมหาวิเชียร วชิรวํโส (พระครูปลัดสุวัฒนพุทธิคุณ) เจ้าอาวาสวัดไทยสิริราชคฤห์ อินเดีย ถึงกับนับพี่นับน้องกันด้วย โดยท่าน ดร.พระมหาวิเชียร กับผู้เขียนก็เคารพนับถือกันมานาน เคยไปอาศัยชายคาและพึ่งพาบารมีท่านที่อินเดียอยู่แทบทุกปี ปีนี้ปีหน้าก็ต้องไปอีก ดังนั้น จึงไม่ลังเลใจที่จะต่อสายไปยัง ดร.คีติกานต์ ในฐานะคนกันเอง
เสียงปลายสายก็ตอบกลับมาว่า "โอโห ดีใจครับที่พระอาจารย์จะมาเยี่ยมพวกเรา กราบอาราธนานิมนต์ได้ทุกเวลาครับ" แหมแค่นี้ก็ดีใจแย่แล้ว
ก็สรุปว่า ลงตัวหมดแล้ว ทั้งเรื่องเครื่องบิน เรื่องที่พัก เรื่องอาหาร และเรื่องคนมารับส่งที่สนามบิน และอาจจะรวมไปทั้ง นำเที่ยว ตลอด 3 วันที่พักอยู่ในเมืองแบโร่ว์ด้วย และถ้าใครมีความพร้อมเช่นผู้เขียนเตรียมตัวมาฉะนี้ ก็คงจะดีใจและตะโกนว่า
Go Barrow !
|
พระมหานรินทร์ นรินฺโท : 1 กันยายน 2562 |
ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DR. LAS VEGAS NV 89121 U.S.A. 702-384-2264