เปิดเต็ม !

 

 

 

บันทึกข้อความ

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ถวายเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม 9 วัด

วัดไหน ได้เงิน ถูกดำเนินคดีและไม่ดำเนินคดี

 

ตรงนี้มีคำตอบ

 

 

 

 



 

 

 

 

เอกสารจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข้างต้นนั้น ระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556 ได้จัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวนเงิน 72 ล้านบาท ให้แก่วัดต่างๆ จำนวน 9 วัด  ซึ่งแต่ละวัดนั้นมีเจ้าอาวาสดังนี้

 

 

 

 



 

 

 

จากแถวบนซ้ายไปทางขวา และลงล่างตามลำดับ

 

1. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ

2. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ

3. พระวิสุทธาธิบดี (เชิด จิตฺตคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ

4. พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร กรุงเทพฯ

5. สมเด็จพระวันรัต (จุณฑ์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

6. พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรุงเทพฯ

7. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวรโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

8. พระธรรมรัตนดิลก (สมเกียรติ โกวิโท) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ

9. พระเทพเสนาบดี (ประเทือง อาภาธโร) เจ้าอาวาสวัดกวิศราราม ลพบุรี

 

 

 

 

 

 

 

ในบรรดาวัดทั้ง 9 นั้น ปัจจุบัน เจ้าอาวาสได้ถึงแก่มรณภาพลงไปแล้ว 2 รูป คือ

 

ซ้าย : สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม

ขวา : สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวรโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์

 

 

 

 

 

 

 

ซ้าย : พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา

วา : พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์

 

 

 

ในบรรดาวัดทั้ง 9 นั้น ูกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดย นายพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ แจ้งข้อหาว่าโกงเงินหลวง เพียง 2 วัด คือ วัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์

 

 

โดยวัดสามพระยานั้น พระพรหมดิลก ถูกล้อมจับคาวัด ในเช้าตรู่วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ส่วนพระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศ์ นั้นไหวทัน ได้หนีออกนอกประเทศและลี้ภัยในประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอ้างว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวรโร) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ ชราภาพมาก ไม่รู้เรื่องเงินทองของวัด เชื่อว่าพระพรหมเมธีเป็นผู้ดำเนินการแทน จึงดำเนินคดีกับพระพรหมเมธีแทน

 

 

ปัจจุบันพระพรหมเมธีนั้น ทราบว่าได้รับสิทธิผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศเยอรมนีอย่างเต็มตัวแล้ว สามารถเดินทางไปได้ทุกแห่งทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทย

 

 

ส่วนคดีของวัดสามพระยานั้น ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษา "ยกฟ้อง" ส่งผลให้อดีดพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ได้เดินทางกลับวัด พร้อมกับนุ่งห่มผ้าเหลืองตามเดิม โดยมีคณะสงฆ์วัดสามพระยาต้อนรับ โดยมิได้สงสัยในความบริสุทธิ์ของอดีตพระพรหมดิลกหรือเจ้าคุณเอื้อนเลย

 

 

 

 

 

 

 

แต่หลังจากนั้น นายพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกิจการพระพุทธศาสนา ได้ออกมาให้ข่าวทางสื่อว่า การที่อดีตพระพรหมดิลก กลับมาห่มผ้าเหลือง โดยที่คดีความยังไม่สิ้นสุดนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

 

 

ต่อมา ในวันที่ 30 กันยายน 2563 มีการประชุมมหาเถรสมาคม ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งวันนั้น สมเด็จพระสังฆราช มิได้เสด็จไปเป็นประธานการประชุม แต่ทรงมีพระบัญชาให้ "สมเด็จพระวันรัต" วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานการประชุมแทน โดยในที่ประชุม นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้นำเอาความเห็นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (เชื่อว่าเป็นความเห็นของนายพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เพราะมีเนื้อหาเหมือนกับที่นายพงศ์พรให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ทุกถ้อยคำ) เข้าไปอ่านให้ที่ประชุม มส. ฟัง ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครออกความเห็นเลย นายณรงค์เลยสรุปว่า ที่ประชุมรับทราบ

 

 

ครั้นเสร็จประชุมแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้สรุปผลการประชุมเป็นเอกสาร อ้างว่า มหาเถรสมาคม มีมติที่ 541/2563 ระบุว่า อดีตพระพรหมดิลก "เจ้าคุณเอื้อน" กลับมาห่มผ้าเหลืองไม่ได้

 

 

 

 


 

 

 

สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร

ประธานการประชุมมหาเถรสมาคม วันที่ 30 กันยายน 2563

 

 

 

 

 

 

 

กรรมการมหาเถรสมาคม

 

ผู้มีชื่อได้รับเงินอุดหนุนก้อนเดียวกับวัดสามพระยา

เข้าร่วมประชุมในวันที่ 30 กันยายน 2563

 

 

 

ครั้นเช็ครายชื่อกรรมการมหาเถรสมาคมที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น ปรากฏว่า มีพระเจ้าอาวาสวัดที่ได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม "ก้อนเดียว" กับวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์ เข้าประชุมด้วย จำนวน 4 รูป คือ

 

1. สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานการประชุม

2. สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เป็นกรรมการ

3. พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นกรรมการ

4. พระธรรมรัตนดิลก เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เป็นกรรมการ

 

 

 

 

 

 

 

 

ซึ่งวัดบวรนิเวศวิหาร ของสมเด็จพระวันรัตนั้น ได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นจำนวน 5 ล้านบาท ขณะที่วัดสุทัศนเทพวราราม วัดเทพศิรินทรราวาส และวัดอรุณราชวราราม ได้รับเงินอุดหนุน วัดละ 10 ล้านบาท

 

 

เมื่อมีการดำเนินคดีกับวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์ ในข้อหา "ไม่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพราะไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม" จึงเกิดคำถามว่า วัดอื่นๆ ที่เหลือ มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมหรือไม่ ถ้าไม่, ทำไมไม่ถูกดำเนินคดีเหมือนวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์

 

 

เมื่อไม่มีการชี้แจงแถลงไขจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่าทำไมจึงไม่ดำเนินคดีกับวัดอื่นๆ อีก 7 วัด แต่ถูกดำเนินคดีเพียง 2 วัดเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่า มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ?

 

 

แต่ไม่ว่าวัดบวรนิเวศวิหาร วัดสุทัศน์ วัดเทพศิรินทร์ และวัดอรุณ จะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็ยังมี "หลักฐาน" ที่ยืนยันว่า วัดกรรมการมหาเถรสมาคมเหล่านี้ ได้รับเงินอุดหนุน "ชุดเดียว" กับวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์ ในทางพระธรรมวินัยจึงถือว่า วัดเหล่านี้มีมลทิน ต้องได้รับการสอบสวนในทางพระธรรมวินัย แม้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะไม่เอาความก็ตาม ตรงนี้ถือเอามูลความผิดของวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์เป็นเกณฑ์

 

 

ชัดเจนว่า แม้ว่าในทางกฎหมาย รัฐบาลไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเลือกปฏิบัติ ดำเนินคดีเฉพาะวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์เท่านั้น แต่ในทางพระธรรมวินัยแล้ว จะละเว้นหาได้ไม่

 

 

นั่นหมายความด้วยว่า เมื่อพระพรหมดิลกและพระพรหมเมธี ต้องคดีมีผลกระทบเป็นอธิกรณ์ทางสงฆ์ ถือว่าขาดความชอบธรรมในสิทธิทางพระธรรมวินัย แต่เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคมอีก 4 รูป คือ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส และเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม มีหลักฐานยืนยันว่า "ได้รับเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม บัญชีเดียวกับวัดสามพระยาและวัดสัมพันธวงศ์" จึงถือว่าทั้ง 4 วัดเหล่านี้ มีมลทิน ต้องได้รับการสอบสวนตามกระบวนการทางพระธรรมวินัยให้เสร็จสิ้น ทั้งเมื่อยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ในทางพระธรรมวินัย เหมือนอดีตเจ้าคุณเอื้อน

 

 

รวมทั้ง การที่สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ วัดเทพศิรินทร์ และวัดอรุณ เข้าร่วมประชุม วินิจฉัยในคดีความของอดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) จึงถือว่าไม่ชอบธรรม เพราะทั้งประธานและกรรมการ มส. หลายรูป ต้องอธิกรณ์เดียวกับพระพรหมดิลก วัดสามพระยา ไปแล้ว

 

 

มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 541/2563 ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกาศว่าเป็นมติ มส. โดยสมบูรณ์นั้น ทางพระธรรมวินัยจึงถือว่าไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ ไม่อาจยอมรับการประชุมของมหาเถรสมาคมในครั้งนี้ได้ เพราะย่ำยีพระธรรมวินัย อย่างชัดเจน

 

 

 

 

 

 

 

ถ้ามหาเถรสมาคม อำนวยตามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้เป็นตราประทับในทางพระธรรมวินัย ไปดำเนินคดีกับอดีตพระพรหมดิลกเพิ่มเติมอีก ถือว่ามหาเถรสมาคมสิ้นสุดสถานภาพทันที เพราะนี่คือ การใช้โจรจับโจร เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินคดีต่อพระพรหมดิลก ในข้อหาโจร กรรมการมหาเถรสมาคม ก็ย่อมจะเป็นโจรไปด้วย เพราะรับเงินก้อนเดียวกันกับวัดสามพระยา

 

ปัญหาเวลานี้ จึงมิใช่สถานภาพของอดีตพระพรหมดิลกหรือเจ้าคุณเอื้อนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของกรรมการมหาเถรสมาคมเสียเอง ตราบใดที่ยังไม่เคลียร์ ก็ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ขืนทำไปก็จะกลายเป็นโมฆะทั้งสิ้น งานนี้เห็นทีต้องรื้อมหาเถรสมาคมเสียแล้ว

 

มหาเถรสมาคมชุดพระราชทาน ไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว ทำงานไม่ได้แล้ว ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมทางพระธรรมวินัยให้แก่พระพุทธศาสนาและพระภิกษุสามเณรอีกต่อไปแล้ว เอวัง

 

 

 

 

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน : 9 ตุลาคม 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264