สะเทือนสังฆราช

 

 

มมร. สอบตกความโปร่งใสในคุณธรรม

 

ขณะที่ "มจร." ผ่านในระดับเอบวก

 

เปิดผลวันออกพรรษา

 

 

 

 

 


 

 

 

 

อา..ก็ไม่รู้ว่าอะไรมันจะบังเอิญกันปานนั้น วันที่ 1 ตุลาคม ศกนี้ นอกจากจะเป็นเทศกาลออกพรรษาแล้ว ก็ยังเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ของนิกายธรรมยุต ซึ่งปัจจุบัน สมเด็จพระสังฆราช (อัมพรมหาเถร) วัดราชบพิธ นอกจากจะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็ยังทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย อีกต่างหากด้วย

 

ใช่แต่เท่านั้น มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ในวันนี้ ยังมีอธิการบดีนามว่า พระราชปฏิภาณโกศล (สมคิด จินฺตามโย) วัดราชบพิธ ซึ่งเคยเป็นพระอนุจรผู้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราชอีกด้วย

 

 

ก็สรุปว่า ปัจจุบัน การบริหารกิจการมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งตำแหน่งนายกสภาและอธิการบดี ล้วนแต่เป็นของวัดราชบพิธ และเมื่อวัดราชบพิธ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย ก็ย่อมจะพรั่งพร้อมไปด้วยอำนาจ วาสนา และบารมี และที่จะต้องเชื่ออย่างสุดหัวใจก็คือ ความโปร่งใสในทุกด้าน แต่เมื่อผลการประเมินความโปร่งใสในคุณธรรมของ มหาวิทยาลัย ในการบริหารของวัดราชบพิธ ออกมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กลับปรากฏว่า มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย ของสมเด็จพระสังฆราช สอบตกในด้านคุณธรรม นี่เนื้อข่าวเขาว่าไว้อย่างนี้นะฮะ ไม่เชื่อก็กรุณาเลื่อนลงไปอ่านด้านล่าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ซ้าย : สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

ขวา : สมเด็จพระสังฆราช (อัมพรมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ

 

 

 

 

 

 

 

 

ซ้าย : พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) วัดปากน้ำ อธิการบดี มจร.

ขวา : พระราชปฎิภาณโกศล (สมคิด จินฺตามโย) วัดราชบพิธ อธิการบดี มมร.

 

 

 

 

 

มหาวิทยาลัย

ผลการประเมิน
มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) AA     (ผ่าน)
มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) B   (ไม่ผ่าน)

 

 

 

 

กลับกัน กับการวัดผลในรอบเดียวกัน ปรากฏว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อันมีพระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) วัดปากน้ำ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งวัดปากน้ำนั้นเคยถูกวิจารณ์ในเรื่องความโปร่งใสในด้านเงินทอง จนกระทั่งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ถึงกับชวดตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไป และตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ตกแก่ "วัดราชบพิธ" แทนนั้น กลับปรากฏว่า มจร. "ผ่านการประเมินผล" ในระดับ AA

 

 

 

 

 

 

เปรียบเทียบการวัดผลในปี 2562-2563

 

 

มหาวิทยาลัย

2562 2563 ผลการประเมิน
มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 90.60 95.83 เพิ่มขึ้น 5.23 จุด
มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย 92.20 75.96 ลดลง 16.24 จุด

 

 

 

จากสถิติใน 2 ปีที่ปรากฏ คือ พ.ศ.2562-2563 นั้น ปรากฏว่า ในปีแรก มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้คะแนน 92.20 ถือว่าผ่านในเกณฑ์ดี และดีกว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้คะแนน 90.60

 

 

แต่ครั้นในปีนี้ ผลการตรวจสอบกลับปรากฏว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้คะแนนตกต่ำลงถึง 16.24 จุด ขณะที่ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพิ่มความโปร่งใสขึ้นไปถึง 5.23 จุด สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

 

 

 

ความตกต่ำถึงระดับ 16.24 จุดนั้น เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในอันดับต่ำกว่า B ของมหามกุฏราชวิทยาลัย คือได้เกรด C นั้น มหาวิทยาลัยที่มีผลการดำเนินการติดลบมากที่สุดก็คือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีการวัดผลติดลบ 17.93 จุด ก็ห่างกันแค่ 1.69 จุด เท่านั้น ถ้าให้คะแนนตรงนี้ มหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ตำแหน่ง "รองบ๊วย"

 

 

แต่ถ้าเปรียบเทียบว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นมหาวิทยาลัยชาวบ้าน ขณะที่มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ แถมยังมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นนายกสภา มีอธิการบดีเป็นศิษย์ก้นกุฏิสมเด็จพระสังฆราช ร่วมด้วยช่วยกันบริหาร ก็คงต้องให้คะแนนตามความเป็นจริงว่า "มหามกุฏราชวิทยาลัย มีผลการประเมินแย่ที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยของประเทศไทยในปี พ.ศ.2563" มันสะเทือนไปถึง "สมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งเป็นองค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

พระราชปฏิภาณโกศล (สมคิด จินฺตามโย) วัดราชบพิธ

อธิการบดี มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)

 

 

 

26 กรกฎาคม 2522

 

 

พระราชปฏิภาณโกศล อธิการบดี มมร. รูปใหม่ ได้ลงนามแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ทั้งชุด โดยเน้นย้ำถึงการบริหารที่มีประสิทธิภาพและมีคุณธรรม แต่ครั้นผ่านไป 1 ปี ผลงานที่ปรากฏกลับติดลบที่สุดในโลก มันฟ้องถึง "ฝีมือ" ในการบริหารของเจ้าคุณสมคิดว่ามือถึงหรือไม่อย่างไร หรือว่าดีแต่พูด

 

เรื่องนี้คงจะไม่มีใครติดใจอะไรนัก ถ้าหากว่าทางมหามกุฏราชวิทยาลัย จะถูกลดอันดับลงในด้านอื่นๆ เช่นผลงานทางวิชาการ ซึ่งมันก็มีขึ้นมีลง แต่ที่มันลำบากใจก็เพราะว่า นี่เป็นการตรวจสอบในด้าน "คุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน"

 

อ่านยังไงก็ไม่สามารถเข้าใจเป็นอื่นไปได้ นอกเสียจากว่า มหามกุฏราชวิทยาลัย ของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ สอบตกในด้านคุณธรรมจริยธรรม !

 

ถามว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทย คณะสงฆ์ไทย จะเหลืออะไร ?

 

 

 

 

 

 

แน่นอนว่า งานนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งมองไปทั่ว มมร. แล้ว คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากอธิการบดีที่ชื่อว่า "พระราชปฏิภาณโกศล" หรือ เจ้าคุณสมคิด วัดราชบพิธ นั่นเอง เพราะถ้าเจ้าคุณสมคิดไม่รับผิดชอบ จะให้สมเด็จพระสังฆราช "ทรงพระลาออก" อย่างนั้นหรือ ?

 

ข่าวนี้ใช่แต่คณะสงฆ์ธรรมยุตเท่านั้น ที่อับอายขายหน้าไปทั่วประเทศ แม้แต่คณะสงฆ์ไทยก็อับอายไปทั่วโลกเช่นกัน เมื่อมีข่าวว่า มหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย อันมีสมเด็จพระสังฆราช ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งนายกสภา สอบตกในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน

 

ส่วนทางด้าน มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งได้คะแนนความโปร่งใสในด้านคุณธรรมและการดำเนินการ "ดีเด่น" ระดับ AA นั้น ก็ต้องยกผลงานให้แก่อธิการบดีที่ชื่อ "พระราชปริยัติกวี" หรือเจ้าคุณสมจินต์ วัดปากน้ำ ทำงานที่ มจร. ได้ผลงานเยี่ยม ก็ย่อมจะส่งผลให้วัดปากน้ำใสสะอาดและสวยงามไปด้วย ทำงานดีมีผลงานแบบนี้ก็ต้องมีรางวัลจากหลวงพ่อใหญ่บ้าง เพราะนี่คือ "ข่าวดีในรอบ 10 ปี" ของวัดปากน้ำ เลยทีเดียว

 

 

 







 

 

 

เปิด ITA 83 สถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย 23 แห่ง สอบตก - 3 มรภ. ท็อป 5

เปิดผลประเมินคุณธรรมความโปร่งใส หน่วยงานภาครัฐประเภทสถาบันอุดมศึกษา 83 แห่ง พบ 23 มหาวิทยาลัย ไม่ผ่านเกณฑ์ 85% ม.เทคโนโลยี สุรนารี - มหามกุฎราชวิทยาลัย - นราธิวาสราชนครินทร์ - แม่ฟ้าหลวง -มรภ.เชียงราย สงขลานครินทร์- สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน -จิตรลดา นิด้า ด้วย 3 มรภ.ท็อป 5 AA

 

28 ก.ย. 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 คะแนน ITA เฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 67.90 คะแนน หรือระดับ C โดยหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ 99.60 คะแนน

ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา 83 แห่ง ภาพรวมอยู่ที่ 87.46 คะแนน ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป จำนวน 60 แห่ง ได้คะแนน สูงสุด 95 คะแนนขึ้นไป (AA) 5 แห่ง ,เกรด A 55 แห่ง ไม่ผ่าน 23 แห่ง

สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลมารายงานดังนี้

 

สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน 85% จำนวน 23 แห่ง ได้แก่

 

1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

5. มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

6. มหาวิทยาลัยมกุฎราชวิทยาลัย

7. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

8. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

9. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

10. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

11. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

12. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลย์สงคราม

13. มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

14. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

15. มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

16. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี

17. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิดถ์

18. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

19. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

20. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

21. สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

22. สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

23. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 

 

 

สถาบันที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่

 

1. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี 98.33 คะแนน (AA)

2. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 98.10 (AA)

3. มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ 96.37 (AA)

4. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 95.97 (AA)

5. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 95.83 (เกรด AA)

 

 

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา : 1 ตุลาคม 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264