เปิดตำนานวัดสามพระยา

 

กับข้อหา

 

"โกงเงินหลวง ฟอกเงินวัด"

 

 

 

 

 

วัดสามพระยา ไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม จึงไม่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

 

 

 

 

ข้างต้นนั้น คือข้อหาที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ของ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ภายใต้การบังคับบัญชาของสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จับกุมคุมขัง "พระพรหมดิลก-เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9" เจ้าอาวาสวัดสามพระยา และส่งฟ้องด้วยข้อหา "โกงเงินหลวง-ฟอกเงินวัด" ซึ่งล่าสุด ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง แต่มีเสียงจากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์) ว่าคดียังไม่สิ้นสุด หมายถึงว่า ทางรัฐบาลไทยยังไม่หยุด จะเดินหน้าฟ้องร้องจนถึง "ฎีกา" ต่อไป แถมยังจะเอาผิดเจ้าคุณเอื้อน ในข้อหา "แต่งกายเลียนแบบสงฆ์" เพิ่มเติมอีกด้วย

 

 

ถามว่า จริงหรือ ? ที่ว่า "วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม" เราจะไปตามหา "ตำนานวัดสามพระยา" กัน ณ บัดนี้

 

 

 

 

 

 

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

(ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9)

 

อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา

ผู้สร้างตำนาน "บุรุษเหล็ก" แห่งมหานิกาย

 

 

 

 

 

 

 

 

น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง : สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ : อ.วิเชียร บำรุงผล

 

สามปรมาจารย์แห่งสำนักวัดสามพระยา

 

ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนกลางของคณะสงฆ์ไทย

 

 

 

 

พุทธศักราช 2496 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา (ขณะมียศที่พระเทพเวที) ได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงขึ้นมา ณ วัดสามพระยา เน้นสอนเฉพาะบาลีประโยค 7-8-9 ซึ่งเป็นเปรียญเอกและเอกอุ โดยมีครูดีมีชื่อในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย นั่นคือ นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ป.ธ.9 และอาจารย์วิเชียร บำรุงผล ป.ธ.9 อดีตเจ้าคุณพระวิเชียรโมลี เป็นครูผู้ถวายความรู้แก่พระภิกษุสามเณรในยุคต้น

 

 

 

 

 

 

 

คณะครูและนักเรียน "รุ่นแรก" วัดสามพระยา พ.ศ.2498

 

 

 

 

 

 

 

 

นิยม - เกี่ยว - พลอย - ช้อย - ช่วง

 

 

ผลปรากฏว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสามพระยา ได้ผลิตศิษย์ระดับตำนานขึ้นมา ในสมญานามว่า "เบญจภาคีแห่งวัดสามพระยา" ได้แก่ นิยม เกี่ยว พลอย ช้อย ช่วง

 

 

 

นิยม : สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) วัดชนะสงคราม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง

 

เกี่ยว : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 

พลอย : พระวิสุทธิวงศาจารย์ (พลอย ญาณสํวโร ป.ธ.9) วัดเทพธิดาราม อดีตเจ้าคณะภาค 3 ภาค 14 และภาค 18

 

ช้อย : พระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย มหาธีโร ป.ธ.9) วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี อดีตเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี และรองเจ้าคณะภาค 15

 

ช่วง : สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) วัดปากน้ำ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 

ยังไม่นับ "ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ป.ธ.9" ปรมาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มจร. เพราะลาสิกขาไปก่อน

 

 

 

 

 

 

 

คณะครูและนักเรียนบาลีชั้นสูง วัดสามพระยา พ.ศ.2523

 

 

 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดสามพระยากลายเป็น "ศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย" นักเรียนบาลีทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้น ป.ธ.7-8-9 ล้วนแต่ผ่านการศึกษาจากวัดสามพระยา ไม่ว่าจะเป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย ซึ่งเมื่อสอบได้ ป.ธ.9 นั้น ก็จะได้รับการตั้งเป็นมหาเปรียญ ในพระบรมมหาราชวัง และมีศักดิ์และสิทธิ์เป็นระดับ "ปริญญา"

 

 

นั่นหมายถึงว่า วัดสามพระยา มีฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยบาลี" แห่งคณะสงฆ์ไทย แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัย" แต่ก็ผลิตบัณฑิตในระดับ "ปริญญา" ไม่ต่างไปจากสถาบันการศึกษามีชื่ออื่นๆ ของโลก

 

 

 

 

 

 

 

วัดสามพระยา ในสมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นตักกศิลาแห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นศูนย์กลางแห่งมหานิกาย ใครๆ ก็มุ่งหน้าไปวัดสามพระยา

 

 

 

 

 

 

 

 

สามเจ้าอาวาสวัดสามพระยา

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ : พระพรหมดิลก : พระเทพวิสุทธิดิลก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จาก..สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สู่..พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9)

 

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ได้ถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 มหาเถรสมาคมได้แต่งตั้งให้ "พระราชปริยัติบดี-เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ซึ่งต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระเทพสุธี พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมดิลก มีตำแหน่งหลังสุดเป็น เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และกรรมการมหาเถรสมาคม

 

 

 

 

 

 

ศาลาอบรมสงฆ์วัดสามพระยา 2 ยุค

 

ซ้าย : ยุคเก่า เป็นโรงเรือนโล่ง เปิดทั้ง 4 ด้าน เหมือนศาลาวัดทั่วไป

ขวา : ยุคใหม่ ปิดทั้ง 4 ด้าน ติดแอร์เย็นฉ่ำ รองรับกับงานหลวงงานราษฎร์

 

 

 

แต่เดิมมา ในสมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้น จะเปิดวัดสามพระยาให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ แต่จะไม่รับสังกัด คือให้มาอยู่เพื่อศึกษาเท่านั้น หากสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ให้กลับไปยังสังกัดเดิม เพื่อมิให้เกิดการสมองไหลขึ้น วัดสามพระยาจึงเป็น "วัดกลาง" เหมือนมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย แม้จะซอมซ่อแต่ก็ศักดิ์สิทธิ์

 

 

 

 




 

 

 

ครั้นมาถึงยุคเจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยามีงานเพิ่มขึ้นจากงานเดิมคืองานการศึกษา ซึ่งวัดสามพระยาเป็นทั้งโรงเรียนบาลีชั้นสูง เป็นสถานที่สอบและตรวจข้อสอบประจำปี ซึ่งทุกปีพระเณรที่เรียนบาลีทั่วประเทศก็จะมาลุ้นผลสอบกันที่วัดสามพระยา ไม่ว่ายุคนั้นแม่กองบาลีจะอยู่วัดไหน ก็ต้องใช้วัดสามพระยาเป็นที่ทำการ

 

 

งานอื่นๆ นั้นมีตั้งแต่งานอบรมพระอุปัชฌาย์ ซึ่งคัดมาจากทั่วประเทศ งานอบรมเจ้าอาวาสส่วนกลาง งานสัมมนาของคณะสงฆ์และหน่วยงานรัฐ รวมทั้งของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อาจกล่าวได้ว่า วัดสามพระยารับสนองงานของคณะสงฆ์และหน่วยงานรัฐมากกว่าสำนักพุทธมณฑลด้วยซ้ำไป

 

 

 

 


 

 

 

เมื่องานเพิ่มมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีบุคคลากรเพิ่มขึ้น เจ้าคุณเอื้อนจึงเปิดวัดสามพระยาให้บรรดาพระภิกษุสามเณรจากทั่วประเทศได้มาศึกษาในระดับต้นๆ เริ่มจากนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และบาลีประโยค 1-2 ป.ธ.3-4-5-6-7-8 และ 9 อีกด้านหนึ่งนั้น ก็ได้กำลังพระเณรเหล่านั้นเป็นหน่วยบริการคณะสงฆ์ไทยในการจัดงานต่างๆ ตลอดทั้งปี

 

 

 

งานในหน้าที่ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะ กทม. และกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคุณเอื้อนก็ต้องปฏิบัติมิให้บกพร่อง การสนองงานคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ก็ต้องคอยดูแลวัด จัดสถานที่ประชุม ที่พัก ข้าวปลาอาหารน้ำปานะ ไว้ให้พรักพร้อม รวมความได้ว่า ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ วัดสามพระยารับงานมาทั้งหมด มากกว่าวัดอื่นใดในประเทศไทย

 

 

 

 


 

 

 

อาคารร่มธรรม ตัวสร้างปัญหา ให้แก่เจ้าคุณเอื้อน

 

 

 

อาคารที่พักสงฆ์หลังเก่านั้น สร้างมานานหลายสิบปี ชำรุดทรุดโทรม พระพรหมดิลกจึงคิดจะปรับปรุงใหม่ เพื่อพระสงฆ์ที่มาพักจะได้สะดวกสบาย แต่สุดท้ายกลายเป็นจุดมรณะ เมื่อเงินบูรณะปฏิสังขรณ์ ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอนุมัติมาจำนวน 5 ล้านบาท กลับถูกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั่นเอง ฟ้องร้องในข้อหา "ฟอกเงิน" จับเข้าคุกเข้าตะราง

 

 

 

 



 

 

 

 

พระภิกษุสามเณร พระสังฆาธิการ ทั่วทั้งในและต่างประเทศ เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง "ข้อหา" จากรัฐบาลไทยโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ว่า "วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม จึงไม่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนพระปริยัติธรรม" ทุกรูปทุกองค์ทุกวัด ต่างก็มึนงง

 

 

 

 

 

 

 

 

ความมึนงงนั้น ได้ตั้งคำถามอย่างเซ็งแซ่ว่า วัดสามพระยาเนี่ยนะไม่มีโรงเรียน ถ้าเป็นโรงเรียนอื่นใดวัดสามพระยาคงไม่มี แต่วัดสามพระยามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมขนานแท้ ตั้งแต่ระดับ นักธรรมตรี-โท-เอก และเปรียญธรรมตั้งแต่ ประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9 กล่าวได้ว่า วัดสามพระยามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมทุกระดับของคณะสงฆ์ไทย มีมากกว่าทุกวัดในประเทศไทย แล้วทำไมจึงบอกว่าวัดสามพระยาไม่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

 

 

 

 


 

 

 

 

เมื่อเป็นถึงระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์เช่นนี้ เงินบูรณะปฏิสังขรณ์ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาอนุมัติให้แก่วัดต่างๆ ชุดเดียวกัน ในอัตราเท่าๆ กันนั้น มองด้วยใจเป็นธรรมแล้ว วัดสามพระยาควรได้มากกว่าเขาด้วยซ้ำไป แต่นอกจากจะไม่ได้มากกว่าเขาแล้ว วัดสามพระยากลับได้รับ "คดี" เป็นกรณีพิเศษ ร่วมกับวัดสัมพันธวงศาราม ถูกรัฐบาลสั่งตำรวจกองปราบเข้าชาร์จตัวตั้งแต่เช้าตรู่ ยังมิได้ฉันเช้าเลย คุมตัวขึ้นรถไปกองปราบ จากนั้นก็สั่งปลดผ้าเหลืองยัดห้องขัง ดำเนินคดียืดเยื้อมานานถึง 2 ปีกว่าแล้ว

 

 

ถามว่า นี่หรือคือความเป็นธรรม

 

 

 

 


 

 

 

 

เจ้าคุณเอื้อน พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา สนองงานคณะสงฆ์ "เหนื่อยยากที่สุด" กว่าบรรดาพระสงฆ์ทั้งปวง ได้รับตำแหน่งเพียงเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และกรรมการมหาเถรสมาคม ยศก็เป็นเพียง "รองสมเด็จ" มิได้ดีเด่นอะไรเกินหน้าใคร

 

 

อาจจะมีเพียง "แนวความคิดเถรตรง" ที่ท่านแสดงออกในทางการเมืองบ้าง การศาสนาบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแนวทางของรัฐบาลหรือคณะสงฆ์บางกลุ่ม แต่เรื่องนี้สามารถพูดคุยกันได้ ทำไมต้องเอากันถึงเป็นถึงตาย โดยใช้กำลังเอากับพระภิกษุซึ่งมีเพียงมือเปล่ากับผ้าเหลืองติดตัวเท่านั้น

 

 

คุณงามความดี ความเสียสละทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อประเทศชาติพระศาสนา แทบว่าจะหาใครทำได้เสมอเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ที่ชื่อว่า "พระพรหมดิลก-เอื้อน หาสธมฺโม" นั้น ได้น้อยนัก แต่กลับไม่มีประโยชน์อะไรในสายตาของรัฐบาล หนำซ้ำยังกล่าวหาว่า "วัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม"

 

 

ถามว่า ถ้าวัดสามพระยาไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว วัดไหนในประเทศไทยที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม ?

 

 

วัดสามพระยา อาจจะไม่มีโรงเรียนปริยัติธรรมในความหมายของรัฐบาลและสำนักพุทธฯ แต่วัดสามพระยามีโรงเรียนทุกชั้นทุกระดับในความหมายของคณะสงฆ์ไทย

 

 

วัดสามพระยาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย

ไม่ใช่โรงเรียนที่รัฐบาลและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมุ่งหมาย

ถ้าไม่ยกย่อง ก็อย่าเหยียบย่ำ

 

 

 

 

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน : 29 กันยายน 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264