ยกฟ้องเงินทอนวัดพระครูชนแดน !
ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 26 ปี บอกผิด 2 เท่า
แต่ศาลอุทธรณ์บอกไม่มีมูล ท่านบริสุทธิ์ ไม่ผิด
อา..จะให้เชื่อศาลไหน ระหว่าง "ศาลชั้นต้น" กับ "ศาลชั้นอุทธรณ์" ซึ่งพิพากษา "ขัดแย้งกัน" ราวกับคนละสถาบัน ทั้งๆ ที่ถ้อยคำสำนวนก็ชุดเดียวกัน ศาลชั้นต้นอ่านแล้วเห็นว่าผิดมากมายถึง 13 กระทง สั่งลงโทษจำคุกถึง 29 ปี แต่ปรานีลดโทษให้เหลือ 26 ปี ไม่ตายก็ต้องตาย เพราะก่อนจะเข้าห้องขังยังถูกจับสึกแบบไร้ข้อต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ แบบว่าประหารสองชั้น ฆ่าจากชีวิตพระยังไม่พอ พ้นผ้าเหลืองออกมาก็ยังถูกฆ่าซ้ำสองอีก ประชาชนคนไทยได้แต่มองตาปริบๆ เพราะพระท่านถูกกระแสสื่อพิพากษาไปก่อนหน้าแล้ว
พอมาถึงศาลชั้นอุทธรณ์ ก็อ่านสำนวนเดียวกัน ปรากฏว่าเห็นต่างกันราวนรกกับสวรรค์ คือเห็นว่า พระไม่ผิดแม้แต่นิดเดียว เหลือหน่อยเดียว คือศาลอุทธรณ์ไม่ยอมบอกว่า "ศาลชั้นต้นผิด ที่ไปพิพากษาว่าพระผิด" เท่านั้นเอง เพราะแมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน กระบวนการยุติธรรมก็ย่อมอุ้มสมกัน เหมือนอัยการไม่ยอมตั้งกรรมการสอบอัยการ ฉะนั้น
แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าอ่านดูในสำนวนการตัดสินของศาลอุทธรณ์แล้ว ก็ย่อมจะเห็นได้ว่า "นั่นคือเทศนากัณฑ์ใหญ่" ให้ศาลชั้นต้นฟัง ว่าการพิจารณาที่รอบคอบและถี่ถ้วน ตามกระบวนการยุติธรรมจริงๆ แล้ว ควรเป็นเช่นไร มิใช่ฟันธงไปตามคำฟ้อง ซึ่งอาศัยสื่อช่วยประโคมข่าวเสียหายพระอย่างพร้อมหน้า เพียงทิศทางเดียว แบบว่าศาลก็นั่งดูข่าวแล้วเกิดอารมณ์ร่วมกันสังคมไทย ที่ยกอำนาจการพิพากษาให้แก่ "สื่อ" ไปก่อนศาล ทำนองศาลก็ไร้อิสระ เพราะปฏิญาณตัวเองเป็น "ทาสสื่อ" ไปเสียก่อนแล้ว ก็ดูสิว่า ก่อนหน้านั้น สื่อแทบทุกสำนัก นัดกันประโคมข่าวตลอด 24 ชั่วโมง เรื่องคดีเงินทอนวัด จนประชาชนคนไทยทั่วประเทศเชื่อว่าพระผิด แต่พอศาลอ่านคำพิพากษาว่าพระไม่ผิด มีเพียงไม่กี่แห่งที่เสนอข่าว แถมออกข่าวแบบเสียไม่ได้ เข้าใจว่าสื่อต้องการขายข่าว แต่ก็ไม่น่าจะขายศาสนาไปด้วย
สามผู้มีอำนาจในคดีเงินทอนวัด
คดีเงินทอนวัดของท่านพระครูวัดชนแดนนั้น ถือว่าเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่สุดในบรรดาคดีเงินทอนวัด เพราะคดีนี้เดินหน้าไว ได้รับโทษไว เพราะอาจจะเห็นว่าพระครูกิตติพัชรคุณเป็นเพียงเจ้าคณะอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆ คือเพชรบูรณ์ แถมยังอยู่ไกลถึง "ชนแดน" ดังนั้น จึงต้องเอาพวกแม้ว พวกอีก้อ พวกมูเซอ ซึ่งเซ่อกว่าชาวเมืองกรุง "เข้าคุก" ก่อน สั่งสอนว่าพระไทยดูไว้ จะได้หลาบจำ กระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล คสช. ทำกันอย่างนั้น ไม่งั้นคดีความที่ผูกพันวัดมากมายหลายจังหวัดถึง 12 วัด ตั้งแต่เหนือจดใต้ ไม่มีทางจะเสร็จก่อนคดีอื่นๆ แน่นอน แต่ศาลไทยแน่กว่า เพราะสามารถเร่งคดีได้ดังใจหมาย ต่อให้พัวพันไปถึงดาวอังคารก็เถอะ เจอศาลไทยแล้วจะหนาว
ประนอม คงพิกุล : นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ : พนม ศรศิลป์
สามผู้บริหารระดับสูงในสำนักพุทธฯในคดีเงินทอนวัด นี่แสดงว่าพวกที่หนีคดีนั้นคิดถูกแล้ว มิเช่นนั้นก็จะซวยฟรี เหมือนพนมกินข้าวแดงอยู่เวลานี้
ทีนี้ว่า เมื่อนำร่อง "คดีชนแดน" เอาเข้าคุกเป็นอันดับแรก ทำนอง "เชือดไก่ให้ลิงดู" แล้ว คดีเงินทอนวัดอื่นๆ จึงทยอยพิพากษา "ผิด-ผิด-ผิด" ไปตามกระแส เจ้าคุณเอื้อน-วัดสามพระยา ก็โดนกระแสเล่นงาน ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่าเอาเงินไปใช้ส่วนตัวอย่างไร จึงจะเข้าในข้อหา "ฟอกเงิน" เพียงแค่เอาเงินวัด "สำรองจ่ายค่าก่อสร้าง" ก็ถือว่าผิดจนติดคุกกระนั้นหรือ จนมาถึงคดีของพระพรหมสิทธิ (เจ้าคุณธงชัย-วัดสระเกศ) ซึ่งศาลพิพากษาช้าที่สุดนั้น กลับระบุว่า "การจำคุกอดีตพระพรหมสิทธิ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพระศาสนา" แถมศาลยังมีความเห็นด้วยว่า "ควรให้โอกาสจำเลยได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป" ก็หมายความว่า ศาลอาญากรุงเทพฯ เห็นว่า พระที่ถูกรัฐบาลประยุทธ์ "สั่งจับสึก-คุมขัง" ด้วยอำนาจเผด็จการนั้น ท่านเป็นพระดี คนดีๆ ควรอยู่ทำงานให้บ้านเมือง มิใช่เอาท่านเข้าคุก แต่นี่กลับทำลายคนดี พิทักษ์คนชั่ว คนทำก็ต้องชั่วช้าสามานย์อย่างไม่ต้องสงสัย
สามกรรมการ มส. ที่ถูกจับสึกในคดีเงินทอนวัด มีอาจารย์จำนงค์รูปเดียวที่รู้หลบไม่ยอมให้จับ และก็รอดปลอดภัยในประเทศเยอรมัน พวกที่ซื่อก็เข้าคุกไป ชาตินี้ก็ไม่ได้เป็นใหญ่เหมือนเดิม เพราะตำแหน่งต่างๆ เขาตั้งคนอื่นทดแทนไปหมดแล้ว
เมื่อกระบวนการยุติธรรม "เปลี่ยนกระแส" หันมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาในคดีพระครูชนแดนครั้งนี้แล้ว ก็เชื่อว่า จะส่งผลต่อคดีเงินทอนวัดอื่นๆ ที่ยังค้างอยู่ในศาล ให้ต้องหันกลับมาทบทวนกันใหม่ ว่ากระบวนการ "เล่นงานพระ" ที่รัฐบาลไทยสมัยนั้น (และสมัยนี้) ใช้เล่นงานพระที่ตนเองไม่ชอบนั้น มาผิดทางหรือไม่ หาไม่ก็จะเป็น "ตราบาป" ให้แก่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต่างไปจากสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทุกวันนี้ พระเณรเถรชีทั่วประเทศ ได้อ่านประวัติหลวงพ่ออาจทีไร ก็ยังมองเห็น "สฤษดิ์" เป็นมารผจญพระพิมลธรรม อยู่วันยังค่ำ ลูกหลานสฤษดิ์ได้อ่านประวัติพ่อก็คงภาคภูมิใจที่ได้ทำ..อนันตริยกรรม เอาคนไม่ผิดติดคุกนั้น ศาลยุติธรรมก็ยังเห็นว่า "ปล่อยคนผิด 10 คน ดังดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์ 1 คน" ยิ่งกับพระกับเจ้าแล้ว ใครขืนเล่นก็เตรียมตัว "ตายโหง" เพราะบาปกรรมมันแรง ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
กรณี "พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์" เข้าวัดปากน้ำถึง 2 ครั้ง ก่อนเกษียณนั้น คงมองออกว่า เป็นการไปไถ่บาป กับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ทำนองรู้ว่า "ตัวเองเป็นแต่เพียงมือปืนรับจ้างของรัฐบาล คสช." ได้ยศถาบรรดาศักดิ์และบำเหน็จบำนาญเป็นค่าตอบแทนตามสังคมนิยม จึงต้องแสดงไปตามบท ตอนนั้นใกล้จะหมดบทบาทแล้ว เพิ่งรู้ว่า "แสดงเกินบท" ไปมาก สำนึกผิด จึงยอมก้มหน้าเข้าวัดปากน้ำ ซึ่งหลวงพ่อใหญ่ท่านก็มีเมตตาอโหสิ ถ้าวันนั้นท่านไม่ออกมารับ รับรองว่า พงศ์พร..ตกนรกทั้งเป็น
แน่นอนว่า ณ เวลานี้ คดีเงินทอนวัดต่างๆ ได้พ้นจากอำนาจของรัฐบาล (และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) ไปอยู่ในชั้นศาลแล้ว รัฐบาลและสำนักพุทธฯ หมดสิทธิ์จะเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่คำพิพากษาที่ออกมานั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีต้นธารมาจากรัฐบาลไทยในสมัยนี้ มีความยุติธรรมหรือไม่เพียงใด ต่อการทำรัฐประหารและเข้ามาบริหารประเทศ หรือเป็นเพียง..ข้อหาทางการเมือง แม้แต่ผ้าเหลืองก็ไม่เว้น
ถามรัฐบาลประยุทธ์ว่า ก่อนหน้านั้น ประกาศจะปฏิรูปพระพุทธศาสนา จึงทำโครมคราม "กวาดล้างวัด" จับพระสึกเสียมากมาย ล่วงเลยมาจนป่านนี้ ยังไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย หรือจะรอให้โดนไล่พ้นทำเนียบเสียก่อน ค่อยมา..สารภาพบาป
พระครูกิตติพัชรคุณ
เจ้าคณะอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ กับคดีประวัติศาสตร์ ทั้งผิดและถูก และถูกใส่ร้าย
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง 'พระครูกิตติ' เจ้าคณะอำเภอชนแดน คดีเงินทอนวัด 12 แห่ง
26 ส.ค.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีฟอกเงินทอนวัด สำนวนคดีดำหมายเลข อท.38/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พระครูกิตติพัชรคุณ เจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และเจ้าอาวาสวัดลาดแค หรือ นายสมเกียรติ ขันทอง อายุ 56 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานฟอกเงินโดยสมคบกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินนั้น ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3, 5 (1) (2) (3), 9, 60 กรณีที่พระครูกิตติ ร่วมกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งตัวยังหลบหนีตั้งแต่ชั้นสอบสวนของ ปปป. (อัยการมีความเห็นสั่งให้ฟ้องไว้แล้ว พร้อมให้ออกหมายจับติดตามตัวมาดำเนินคดี ภายในอายุความ 20 ปี ซึ่งคดีจะขาดอายุความในวันที่ 21 ม.ค. 2579) วางแผนยักย้าย-ถ่ายโอน เงินทอนวัดราว 24 ล้านบาทเศษ ที่ได้เบียดบังจากการทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ที่เป็นเงินอุดหนุนให้ 12 วัด 13 รายการ จำนวน 28 ล้านบาท ในการบูรณะซ่อมแซมวัด หรือเพื่อโครงการศึกษาพระปริยัติธรรม หรือโครงการเผยแผ่กิจกรรมทางศาสนา โดยพวกจำเลย ร่วมกันเบียดบังเงินส่วนที่ให้กับวัดในเขต จ.เพชรบูรณ์, ตาก, นครสวรรค์, ชุมพร ไป ด้วยการแบ่งส่วนเงินงบประมาณเพียงเล็กน้อย ประมาณ 50,000 บาท ถึงหลักแสนบาท จูงใจให้วัดยินยอมนำเงินงบประมาณฯ ที่จะถูกจัดสรรมานั้นเข้าบัญชีวัด แล้วให้โอนคืนเงินนั้นกลับให้พวกตน โดยใช้บัญชีธนาคารของวัด เป็นเครื่องมือปกปิดอำพรางการกระทำความผิดของพวกตน ให้ดูเสมือนว่าเงินที่โอนและถอนออกจากบัญชีวัดเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่เงินซึ่งถูกทอนมานั้น จะนำเข้าบัญชีหรือส่งมอบเป็นเงินสดให้แก่พระครูกิตติ เพื่อรวบรวมมอบให้นายนพรัตน์ อดีต ผอ.พศ. อันเป็นการกระทำผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งอัยการฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธ พร้อมต่อสู้คดี โดยระหว่างการพิจารณาได้ประกันตัวไป ด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 1.5 ล้านบาท ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้เก็บรักษาหนังสือเดินทางของจำเลยไว้ และให้คืนเมื่อสิ้นสุดสัญญาประกันแล้วด้วย คดีนี้ ศาลชั้นต้น พิพากษา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2562 ว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับนายนพรัตน์ ที่ได้จัดสรรงบ พศ. มาให้กับ 12 วัด ใน จ.เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, ตาก และชุมพร โดยที่แต่ละวัดไม่ได้ทำคำของบแต่อย่างใด แต่นายนพรัตน์ให้นำบัญชีของวัดมา เพื่อจะโอนเงินให้แต่ละวัดนับล้านบาท โดยเมื่อโอนเงินแล้วให้แต่ละวัดโอนเงินกลับส่งคืนให้จำเลย เพื่อส่งต่อให้นายนพรัตน์ อ้างว่าจะนำไปให้วัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่ไม่มีการนำไปดำเนินการดังกล่าวจริง และได้นำมาแบ่งปันกัน และบางส่วนจำเลยนำมาให้จ่ายส่วนตัว เช่นที่อ้างว่าได้พาพระและสามเณรไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย ซึ่งการกระทำนั้นเป็นการจัดสรรงบโดยมิชอบและหลักเกณฑ์ที่ พศ. ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งงบที่อ้างว่าที่จะใช้บูรณปฏิสังขรณ์วัดจะต้องมีคำขอจากวัด ไม่ใช่ พศ. ดำเนินการจัดสรร การที่จำเลยอ้างว่า เข้าใจว่าการที่มีเจ้าหน้าที่ พศ. มาแจ้งและรับเงินคืน แต่งชุดราชการและนั่งรถตู้ตราสัญลักษณ์ จึงเชื่อว่าเป็นการจัดสรรงบโดยชอบนั้น เป็นการกล่าวอ้างง่ายเกินไป เพราะจำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็นพระชั้นปกครอง ย่อมทราบถึงระเบียบหลักเกณฑ์ที่ได้ปฏิบัติมา จะอ้างวิธีการคนหมู่มากนำมาปฏิบัติใช้นั้นก็ย่อมจะไม่ชอบ ซึ่งขณะกระทำผิด จำเลยเป็นเจ้าคณะอำเภอ ถือเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ก็จะต้องรับโทษ 2 เท่า พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ลงโทษ 13 กระทง กระทงละ 3 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยมีประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุก 26 ปี
ต่อมาอัยการโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้นั้น จะต้องได้ความเสียก่อนว่า เป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินของกลาง ที่ได้มาจากการกระทำผิดมูลฐาน หรือจากการสนับสนุน หรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด มาเปลี่ยนสภาพเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบ เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้อง "…จำเลยกับพวก และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ. ได้ร่วมกันวางแผน โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนมีแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมิชอบและโดยทุจริต จนทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ประเภทงบอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และการพัฒนาวัด หรืองบอุดหนุนเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรืองบประเภทอื่นๆ ที่รัฐจัดสรรเพื่อประโยชน์ในทางศาสนา ในปีงบประมาณ 2555 -2559 ให้แก่วัดอย่างมิชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ ตามกฎหมายอื่น...ต่อมาหลังจากการกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (5) จำเลยกับพวก..." จึงแสดงว่า เงินซึ่งเป็นทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน ที่โจทก์ฟ้องมานั้น จะต้องได้มาจากการที่จำเลยกับพวก ร่วมกันทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทต่างๆ ให้แก่วัด ตามคำฟ้องโดยมิชอบหรือโดยทุจริต สำหรับการดำเนินการ เพื่อให้มีการอนุมัติสั่งจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ประเภทงบอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์และการพัฒนาวัดจากสำนักงาน พศ. ได้นั้น ก็ได้ความจากนักวิชาการศาสนาชำนาญการพิเศษปฏิบัติหน้าที่ ผอ.กลุ่มบูรณพัฒนาวัดและศาสนสงเคราะห์ สังกัดกองพุทธศาสนสถาน สำนักงาน พศ. เบิกความประกอบบันทึกคำให้การว่า ช่วงปี 2555 -2560 สำนักงาน พศ. ได้จัดงบประมาณประเภทงบอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์ฯ ให้แก่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีขั้นตอนคือ กลุ่มบูรณพัฒนาวัดฯ จะเสนอคำของบประมาณไปยังสำนักงานเลขาธิการ พศ. โดยส่วนแผนงานจะรวบรวมคำของบประมาณเสนอไปยังสำนักงบประมาณ เมื่อได้รับการจัดสรรงบตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยงบประมาณแต่ละปีงบประมาณแล้ว กลุ่มบูรณพัฒนาวัดฯ จะจัดทำแผนโครงการเสนอต่อ ผอ.พศ. เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ซึ่งชุดหนึ่งจะมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมจำนวน 4 รูปร่วมอยู่ด้วย โดยคณะกรรมการเหล่านี้จะกำหนดหลักเกณฑ์หรือคุณสมบัติในการจัดสรรงบอุดหนุนและ ทำหน้าที่รวบรวมคำขอของวัดต่างๆ และตรวจสอบความครบถ้วนว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ก่อนที่จะมีมติจัดสรรเงินให้แก่วัดต่างๆ ซึ่งการตรวจสอบก็จะต้องเสนอผ่าน รอง ผอ.พศ. และผอ.พศ. เพื่ออนุมัติตามลำดับ โดยในปีงบประมาณ 2555-2559 มีการอนุมัติงบประมาณ ซึ่งเป็นงบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและศาสนสงเคราะห์ให้แก่ 12 วัด ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์, ชุมพร, ตาก, เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีเอกสารเกี่ยวกับคำสั่งสำนักงาน พศ. เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด, รายงานการประชุม, รายงานการขอเบิกเงินคงคลัง, ประกาศสำนักงาน พศ. เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดฯ และเอกสารอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขอสนับสนุนงบประมาณและการตอบรับเงินอุดหนุนการพัฒนาวัด โดยเอกสารเหล่านี้สอดคล้องเชื่อมโยงกับคำเบิกความของพยานนักวิชาการดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ในการอนุมัติงบประมาณ งบอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ มีการแต่งตั้งกรรมการประกอบด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วน และมีการประชุมร่วม ทั้งต้องผ่านการรวบรวมแบบคำขอสนับสนุนงบประมาณของรัฐต่างๆ ที่จะตรวจสอบความครบถ้วน จนกระทั่ง ผอ.พศ. ลงลายมือชื่อ อนุมัติให้จัดสรร ซึ่งลำพังแต่ ผอ.พศ. เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการ หรือสั่งการ ให้อนุมัติแก่วัดใดวัดหนึ่งตามใจชอบได้ ส่วนการที่วัดต่างๆ จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวนเท่าใดนั้น ได้ความจากบันทึกคำให้การของพยานอีกปากหนึ่งว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุมัติจากกองพุทธศาสนสถาน ส่วนกลุ่มบริหารการเงินและบัญชีและงบประมาณ นอกจากนี้ ยังได้ความจาก ผอ.ระดับสูงสำนักงาน พศ. จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชุมพร ทำนองเดียวกันว่า วัดต่างๆ สามารถยื่นคำขอรับเงินอุดหนุนไปที่สำนักงาน พศ.ประจำจังหวัด หรือ สำนักงาน พศ. (ส่วนกลาง) โดยตรงก็ได้ ส่วนจำเลยกับพวก จะร่วมกันทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินประเภทต่างๆ ให้แก่วัดทั้ง 12 แห่งตามฟ้องโจทก์โดยมิชอบหรือโดยทุจริต อันเป็นความผิดมูลฐานในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีใน จ.นครสวรรค์ ประจำปีงบประมาณ 2559 จะเห็นได้ว่า มีหนังสือเรื่องการขอเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะซ่อมแซมอาคาร, แบบคำขอรับเงินผ่านธนาคาร, ใบตอบรับเงินอุดหนุนการพัฒนาวัด และภาพถ่ายต่างๆ ของวัดรวมอยู่ด้วย และมีรายงานการประชุมคณะทำงานพิจารณา ขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดฯ จึงเห็นได้ว่า เป็นการดำเนินไปตามลำดับขั้นตอนในการอนุมัติของสำนักงาน พศ. โดยยังไม่ปรากฏรายละเอียดใดๆ ที่จะทำให้ฟังได้ว่า จำเลยร่วมดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต
นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. ได้รับอานิสงส์ทางรูปคดีในทิศทางดีไปด้วย เดี๋ยวจะไปถวายสังฆทานอาจารย์จิ๋วชุดใหญ่
และเมื่อวัดได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนแล้ว ก็ยังไม่ได้ความว่าจำเลยเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเรียกร้องเงินใดๆ แต่กลับได้ความว่า สำนักงาน พศ. ประจำจังหวัด เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินต่างๆ ของแต่ละวัดตามระเบียบอีกด้วย ในส่วนของ นายนพรัตน์ ผอ.พศ. ก็พ้นจากตำแหน่ง โดยเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ไม่ปรากฏว่ายังคงเป็นเจ้าพนักงานที่เข้ามามีบทบาท หรือมีอำนาจสั่งการจัดสรรอนุมัติเงินอุดหนุน พยานหลักฐานที่ได้ในส่วนนี้ จึงไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยและนายนพรัตน์ แบ่งหน้าที่กันทำ จนทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ในส่วนของวัดในจังหวัดอื่น คำเบิกความที่เกี่ยวข้องกับจำเลย ยังมีข้อสงสัยไม่สมเหตุสมผล พยานหลักฐานยังขัดแย้งกันหลายประเด็น ซึ่งยังไม่เป็นการแน่ชัดว่า มีการจัดทำเรื่องขอเงินอุดหนุน หรือรู้เห็นยินยอม ให้มีผู้ดำเนินการจัดทำคำขอไปยังสำนักงาน พศ. แทนหรือไม่ ส่วนวัดลาดแคที่จำเลยเป็นเจ้าอาวาส พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ก็ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะรับฟังว่า เคยได้รับการจัดสรรงบอุดหนุนงบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัด ในปี พ.ศ. 2555 และ 2557 โดยมิชอบด้วยระเบียบ เมื่อไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใด ที่ได้จากการไต่สวน ที่จะบ่งชี้ให้เห็นว่า ระหว่างปีงบประมาณ 2555-2559 จำเลยกับพวกและนายนพรัตน์ แบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนโดยทุจริตอย่างไร ในขั้นตอนใด จนทำให้มีการอนุมัติเบิกจ่าย ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ตามคำฟ้อง ดังนั้น เงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ ที่วัดรวม 12 แห่งได้รับ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนหลังจากที่วัดต่างๆ ได้รับเงินแล้ว จะไม่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ หรือไปใช้ผิดระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือนำไปใช้จ่ายอย่างไร อันจะเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือมิชอบ อันจะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก เป็นคนละกรณีกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ที่มา : ไทยโพสต์ : 26 สิงหาคม 2563
ข่าวเกี่ยวข้อง :
|
WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. PHONE. 702-384-2264 |