สถิติพระภิกษุสามเณรในประเทศไทย
ปัจจุบันเหลือเท่าไหร่
ทำไมรัฐบาลบอกมีทั้งหมด 2 แสนห้า
8 ตุลาคม 2562 : นายสิปป์บวร แก้วงาม โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เผยผลการสำรวจประชากรพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทย พบว่ามีจำนวนลดลงเป็นอันมากอย่างผิดปกติ
29 พฤษภาคม 2563 : นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ประกาศแผนการเยียวยาพระภิกษุสามเณรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยรัฐบาลจะถวายเงินค่าภัตตาหาร รูปละ 60 บาท ต่อวัน ทั้งนี้จะถวายทั้งสิ้น 250,000 รูป
ซึ่งข่าวที่ออกไป สร้างความตกใจให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเป็นอันมาก ว่าพระภิกษุสามเณรของไทยหายไปไหน ทำไมเหลือน้อย แค่สองแสนห้า ทั้งๆ ที่หลายปีที่ผ่านมา ก็ได้ยินข่าวมาตลอดว่า พระเณรทั้งประเทศมีไม่ต่ำกว่า 3 แสนรูป
ตามสถิติที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทำการสำรวจเอาไว้ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชากรพระภิกษุสามเณรและประชากรคนไทย ดังนี้
ตามสถิติข้างต้นนั้นชี้ให้เห็นว่า ในปี พ.ศ.2507 ตอนนั้น ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 28 ล้านคน และมีพระภิกษุสามเณรทั้งสิ้น 237,700 รูป
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2542 ถึงปี พ.ศ.2561 ซึ่งประชากรไทยไต่ขึ้นสู่ระดับ 60-70 ล้านคน และจำนวนพระภิกษุสามเณรก็ไต่ขึ้นสู่ระดับ 3 แสนรูป ทุกปีเรื่อยมา
ตกปีกลาย (2562) ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรหายไปกว่า 80,000 รูป คือจาก 334,013 รูป เหลือเพียง 250,000 รูป เท่านั้น
เหตุผลหนึ่ง ซึ่งทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ้างไว้ในการสำรวจสถิติพระภิกษุสามเณรประจำปีก็คือว่า การสำรวจในปี พ.ศ.2562 นั้น เป็นระบบใหม่ จะใช้สำรวจเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่มีพรรษา 1 ปี ขึ้นไปเท่านั้น เพื่อป้องกันพระบวชแล้วสึก (บวชไม่ถึงปี) จะนับเป็นพระเณรถาวรนั้นยังไม่ได้
นั่นหมายถึงว่า พระเณรนวกะ ที่บวชใหม่ ยังไม่ถึง 1 ปี จะไม่ถูกนับเข้าเป็นสถิติประจำปีของพระสงฆ์ไทย ซึ่งการสำรวจพระภิกษุสามเณรประจำปีนั้น แต่เดิมมาจะทำกันในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งเป็นเวลาที่พระภิกษุสามเณรอยู่ประจำที่เป็นหลักแหล่งแล้ว และยังมีพระเณรบวชใหม่ ไม่ว่าจะบวช 3 เดือนหรือนานกว่านั้น ทั้งสองกลุ่มก็จะถูกนับเข้ากับจำนวนพระเณรที่บวชมานานก่อนเข้าพรรษาปีนั้นด้วย
ทีนี้ว่า เมื่อพระเณรนวกะ (บวชไม่ถึง 1 ปี) ถูกตัดออกจากบัญชีไป ไม่นับว่าเป็นพระภิกษุสามเณรที่แท้จริง ก็จะทำให้มีพระภิกษุสามเณรประเภท "นอกบัญชี" อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้านับจากจำนวนพระภิกษุสามเณร 3 แสนรูป ที่ลดลงเหลือ 2.5 แสนรูป พระเณรนอกบัญชีก็น่าจะมีจำนวนมากถึง 5 หมื่นรูป ซึ่งไม่น้อยเลย (จำนวนนี้ถูกตัดออกจากบัญชีพระภิกษุสามเณรรายปี ไม่มีใครรู้ว่าอยู่หรือไป หรืออยู่เท่าไหร่ไปเท่าไหร่ จะทราบได้ว่าอยู่นานก็ต้องผ่าน 1 ปีขึ้นไป)
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แสดงว่า พระเณรที่ลดลงไปถึง 5 หมื่นรูปเหล่านั้น มิได้หายไปไหน แต่ยังคงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ถูกนับเป็นพระภิกษุสามเณรในสถิติประจำปีเท่านั้น เหตุผลสำคัญที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ "ตัด" พระเณรนวกะออกไปจากสารบบก็คือ การทำบัตรสมาร์ทการ์ดสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชนแทนหนังสือสุทธิที่ใช้มาแต่เดิมนานนับร้อยปี ไม่มีความแน่นอน เพราะปลอมแปลงได้ ทำให้ยากต่อการควบคุมดูแลและตรวจตราเมื่อเกิดปัญหา
การสำรวจพระภิกุสามเณรแบบใหม่ ซึ่งต้องการใช้สำหรับพระเณรที่มีอายุพรรษา 1 ปีขึ้นไป จึงต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็นปลายปี ไปตัดเวลากันที่วันสิ้นปี ครั้นขึ้นปีใหม่จึงจะได้สถิติปีกลายที่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะต้องรอให้ "พระนวกะ" ลาสิกขากันไปเสียก่อน ซึ่งวันลาสิกขาของพระนวกะส่วนใหญ่ก็จะเป็น "รับกฐินเสร็จ" คือหลังวันเพ็ญเดือน 12 ก็ตกราวเดือนพฤศจิกายน สำนักพุทธฯจึงมีเวลาสำรวจพระภิกษุสามเณรเพียง 1 เดือนในแต่ละปี เพราะต้องสรุปยอดในวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง เรียกว่าตัดยอดกันปีต่อปี
ก็เป็นที่ชัดเจนว่า จำนวนพระเณรปัจจุบันนั้น อยู่ที่ 250,000 รูป ตามที่ท่านรัฐมนตรี เทวัญ ลิปตพัลลภ ประกาศถวายเงินเยียวยาค่าภัตตาหารแก่พระภิกษุ-สามเณรทั่วประเทศไปนั้น ชาวพุทธไทยก็ต้อง "ปรับยอด" พระภิกษุสามเณรเสียใหม่ คือให้เข้าใจว่า ณ เวลานี้ มีพระภิกษุสามเณรอยู่เพียง 250,000 รูป ไม่ถึง 300,000 รูป เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
ปัญหาที่น่าห่วงก็คือ นโยบายของรัฐบาลผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสมาชิกรัฐสภาบางท่าน ที่ออกมาระบุว่าจะใช้กฎหมายเป็นหลัก ในการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตรปฏิบัติ รวมทั้งการจับเงินทองของพระภิกษุสามเณร ซึ่งถือว่าสุดโต่งเกินไป ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครบวช และผู้ที่บวชแล้วเกิดอึดอัดขัดข้อง จึงลาสิกขาออกไปมากมาย เพราะรัฐบาลตั้งเป้าหมายการบวชของกุลบุตรไทยไว้สูงเกินไป ทั้งๆ ที่ผู้เรียกร้องให้ปฏิรูปคณะสงฆ์นั้น ก็ไม่ยอมบวช ไม่ยอมเอาทายาทมาบวช เอาแต่เรียกร้อง คือคนหนึ่งพูด คนหนึ่งทำ ทำให้ตายก็ไม่ถูกใจคนพูด เหมือนนักมวยชกนั่นแหละ ไม่เคยถูกใจผู้ชมซักที เรื่องนี้ทางรัฐบาลและรัฐสภาไทย ต้องกลับไปพิจารณาว่านโยบายที่ออกมาใช้กับพระพุทธศาสนานั้น ได้ผลหรือไม่ ควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ให้มันเหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง
ทางมหาเถรสมาคม ก็ต้องพิจารณาว่า จำนวนพระภิกษุสามเณรดังกล่าว เหมาะสมกับขนาดของประชากรชาวพุทธไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 70 ล้านคนหรือไม่ โดยอาจจะตั้งสมการเทียบระหว่าง "สัดส่วน" ของชาวพุทธไทยกับจำนวนพระภิกษุสามเณรที่ควรมี ทั้งนี้ ก็ควรตั้งสมการเอาไว้ว่า "มาก" ย่อมดีกว่า "น้อย" ยิ่งน้อยก็ยิ่งนับว่าพระพุทธศาสนาถดถอย ชาวพุทธไม่นิยมบวชเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ก็จะทำให้พระพุทธศาสนาอ่อนเปลี้ยเพลียแรงลง ถึงจะมีบางคนให้ความเห็นว่า "จำนวนพระเณรนั้น ไม่ควรเน้นปริมาณ แต่ควรเน้นคุณภาพ" แบบว่ามากแต่ไร้คุณภาพ ย่อมสู้น้อยแต่มีคุณภาพไม่ได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว "ปริมาณ" ย่อมก่อให้เกิด "คุณภาพ" เพราะคนจำนวนมากย่อมทำให้เกิดการแข่งขันกันมาก และการแข่งขันนั่นเองที่เป็นกระบวนการสร้าง "คุณภาพ" ของทั้งคนและสินค้า ดังในหลายประเทศที่จำนวนประชากรลดลง ย่อมส่งผลต่อทั้ง "ปริมาณและคุณภาพ" รัฐบาลถึงกับต้องหันมารณรงค์ให้หนุ่มสาวแต่งงานและมีทายาท สวนทางกับบางยุคที่รัฐบาลกลัวคนจะล้นประเทศ ถึงกับรณรงค์ว่า "ลูกมากยากจน" ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า เป็นนโยบายที่ผิด
การวางแผนเพิ่มศาสนทายาท ย่อมมิใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับมหาเถรสมาคมที่จะทำ เพียงแต่ต้องหาวิธีการที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ทำวัดให้น่าอยู่ มีครูดีๆ สอน ก็เชื่อว่าจำนวนพระภิกษุสามเณรจะกลับมาเพิ่มพูนทั้งปริมาณและคุณภาพ ต้องวางแผนและเริ่มทำเสียแต่วันนี้
อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน : 18 มิถุนายน 2563 |
WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. PHONE. 702-384-2264 |