ยังเป็นเพียง..รักษาการ !
เถรสมาคมออกมติตั้งเจ้าคณะแต่ตุลาปีกลาย ถึงวันนี้ยังไม่มีผู้ใดได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทั้งเจ้าคณะ กทม. ทั้งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ-สามพระยา ถามว่ารออะไร ?
สามเจ้าคุณวิ่งมาราธอนข้ามปี ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้นั่งเก้าอี้ ทั้งๆ ที่ผ่านมหาเถรสมาคมมาเกินครึ่งปีแล้ว เผลอติดโควิดมรณะเสียก่อนก็คงโชคร้าย
จากกรณีที่รัฐบาลไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบเข้าปิดล้อมและจับกุมพระราชาคณะกรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 3 รูป อันได้แก่
1. พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะ กทม. และกรรมการมหาเถรสมาคม
2. พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เจ้าคณะภาค 10 กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
3. พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศาราม เจ้าคณะภาค 4-5-6-7 (ธรรมยุต) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม
ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยในวันเดียวกันนั้น มีบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้พระราชาคณะทั้ง 3 พ้นจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งตำแหน่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะ กทม. เจ้าคณะภาค และเจ้าอาวาส แม้ว่าพระพรหมเมธีจะหนีรอดไปได้ แต่ก็ไม่พ้นที่จะถูกปลดและถอดยศในเวลาต่อมา ส่วนพระพรหมดิลกกับพระพรหมสิทธินั้น ได้เข้ามอบตัวและต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลของคดีก็เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้ว
วันที่ 26 พฤษภาคม 2561 พระเทพสุธี เจ้าคณะภาค 1 (ในตอนนั้น) ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง พระธรรมสุธี (นรินทร์ นรินฺโท) วัดหัวลำโพง รองเจ้าคณะ กทม. ให้เป็นรักษาการแทนเจ้าคณะ กทม. ของพระพรหมดิลก
ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2561 พระธรรมสุธี รักษาการเจ้าคณะ กทม. ได้ลงนามแต่งตั้งให้
1. พระเทพวิสุทธิดิลก (ละเอียด กิตฺติสุขุโม ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ให้เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสามพระยา
2. พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย ป.ธ.7) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ให้เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
และต่อมาในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้
1. พระธรรมสุธี (นรินทร์ นรินฺโท) วัดหัวลำโพง รองและรักษาการเจ้าคณะ กทม. ให้เป็น เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
2. พระเทพวิสุทธิดิลก (ละเอียด กิตฺติสุขุโม ป.ธ.9) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ให้เป็น เจ้าอาวาสวัดสามพระยา
3. พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย ป.ธ.7) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ให้เป็น เจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ขณะเดียวกัน วันที่ 12 ตุลาคม 2561 มีคำสั่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ตั้งรักษาการเจ้าคณะภาคในเขตหนกลาง จำนวน 6 ภาคด้วยกัน อันได้แก่ ภาค 1-2-3-13-14-15 โดยให้ "รองเจ้าคณะภาค" ขึ้นรักษาการแทน ส่งผลให้บรรดาเจ้าคณะภาคองค์เก่าตกงานกันทั่วหน้า แต่ต่อมาปรากฏว่า บรรดารักษาการเจ้าคณะภาคในเขตหนกลางทั้ง 6 ภาค ได้พร้อมใจกันลาออก (ด้วยเหตุผลที่บอกไม่ได้) ส่งผลให้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ต้องกลับลำตั้ง "อดีตเจ้าคณะภาค" ขึ้นเป็นรักษาการแทน ขณะที่เจ้าคณะภาคในหนอื่นๆ ที่ว่างลง ไม่ว่าจะเป็นหนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ รวมทั้งเจ้าคณะภาคในฝ่ายธรรมยุต ต่างได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "รักษาการ" โดยพร้อมหน้ากัน หมายถึงว่า เจ้าคณะภาคทั่วประเทศทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ได้ว่างลงทั้งหมด มีเพียงรักษาการมาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2561
28 มิถุนายน 2562 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพ
วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 มหาเถรสมาคม ได้ตั้งให้ "พระพรหมบัณฑิต-ประยูร ธมฺมจิตโต ป.ธ.9" เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เจ้าคณะภาค 2 กรรมการมหาเถรสมาคม ให้เป็นรักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
14 ตุลาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้มีประกาศ มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ ตามการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 ซึ่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ จำนวน 20 รูป ได้เข้ารับพระบรมราชโองการและถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ก็ถือว่าหมดปัญหาในส่วนของกรรมการมหาเถรสมาคมไป เรามีมหาเถรสมาคมชุดใหม่มาบริหารงานพระศาสนาแล้ว ใครๆ ก็มุ่งหวังว่า กรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ ชุดพระราชทาน ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และภายใต้การบังคับบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ ผู้ตงฉิน จะสามารถทำงานสร้างศรัทธาให้แก่พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ อย่างที่มุ่งหวังเอาไว้ว่า ต้องดีกว่าเดิม แต่จะดีหรือไม่ก็ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
และแล้ววันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 มหาเถรสมาคมชุดใหม่ ได้มีมติแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลางและเจ้าคณะภาค ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ทั่วประเทศ รอเพียงรับพระบรมราชโองการเหมือนกรรมการมหาเถรสมาคมเท่านั้น ซึ่งบางแห่งก็ว่าจะเป็นบัญชาสมเด็จพระสังฆราช เพราะโผเจ้าคณะภาคนั้นเพียงทูลเกล้าฯ ขอพระดำริชอบด้วยเท่านั้น
แต่ครั้นมติมหาเถรสมาคมครั้งหลังนี้เผยแพร่ออกไป ก็เกิดเสียงครหาอื้ออึงไปทั่วโลก เพราะรายนามพระที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาคทั้งธรรมยุตและมหานิกายทั้งหมดนั้น ล้วนแต่เป็นคนเก่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 และภาค 13 ในฝ่ายมหานิกาย ซึ่งถือว่าเป็นมลทินอย่างแรง เพราะพระพรหมกวี (ประกอบหรือพงศ์สันต์ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร อดีตเจ้าคณะภาค 13 แพ้คดีทุบทำลายโบราณสถานภายในวัด โดยกรมศิลปากรเป็นผู้โจทย์ฟ้อง ส่งผลให้เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปี แต่ให้รอลงอาญา ขณะที่เจ้าคณะภาค 1 ของพระเทพสุธี (สายชล ฐานวุฑฺโฒ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม นั้นมีปัญหาในการจัดการกับพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ หลายครั้ง เพื่อทะลวงท่อตันว่าด้วยตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและกรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งเจ้าคณะภาคต่างๆ ในครั้งนี้ด้วย
แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า ทั้งสองรูปจะได้รับการแต่งตั้งในครั้งหลังนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปพระพุทธศาสนา" ตั้งแต่กรรมการมหาเถรสมาคมลงมา แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรใหม่ ไม่ว่าจะแก้ไขอำนาจให้พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเองหรือไม่ก็ตาม
แปลง่ายๆ ว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ไม่ว่าจะเอาใครมาเป็นสังฆราช มันก็เหมือนกัน เหมือนเก่า เหมือนเดิม ไม่มีอะไรแปลกแตกต่าง ไม่ว่าจะห่มสีไหน อยู่นิกายอะไร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเราแยกนิกายเพื่ออะไร ในเมื่อพฤติกรรมมันไม่ต่างกัน
เพราะถ้ายังแต่งตั้งคนเก่าที่เคยกล่าวหาเขาว่าบริหารแย่และมีปัญหาให้กลับเข้ามาเป็นอีก จะให้ผู้คนเชื่อได้อย่างไรว่ากิจการพระศาสนาจะดีขึ้น อีแบบนี้สู้ไม่มีมหาเถรสมาคมจะดีเสียกว่า ต่างคนต่างอยู่ดูแลกันเองตามพระธรรมวินัย ไม่ต้องมีเจ้ามีนายหรือเจ้าคุณสมเด็จอะไรให้เปลืองพัดและเบี้ยหวัดเงินเดือน ฯลฯ สารพันคำถามประเดประดังเข้าหามหาเถรสมาคม ส่งผลกระทบไปถึง "สำนักพระราชวัง" ซึ่งตามกฎหมายนั้นให้การแต่งตั้งทั้ง "สมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ กรรมการ มส. และเจ้าคณะหน-เจ้าคณะภาค" เป็นพระราชอำนาจโดยบริบูรณ์
ปรากฏว่า นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 มาจนถึงเดือน 10 ธันวาคม 2562 ก็ยังไม่มีบัญชาสมเด็จพระสังฆราชลงมา โดยในวันที่ 10 ธันวา 2562 นั้น นายสิปป์บวร แก้วงาม ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แถลงว่า "สาเหตุที่การลงนามในบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเจ้าคณะภาคล่าช้านั้น เพราะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด" รวมทั้งตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางก็รวมอยู่ในชุดเดียวกัน
จาก 10 ธันวา 2562 ถึง 13 มิถุนา 2563 นับได้ 6 เดือนกว่าแล้ว ยังไม่มีบัญชาสมเด็จพระสังฆราชตั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลางและเจ้าคณะภาคใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธรรมยุตหรือมหานิกาย เป็นเรื่องใหญ่ในรอบ 100 ปีของคณะสงฆ์ไทย
ถามว่า ทำไมใช้เวลานานปานนั้น จะว่าสำนักพุทธหรือมหาเถรสมาคมไม่เคยตั้งพระสังฆาธิการมาก่อนก็คงไม่ใช่ ลำพังสมเด็จพระสังฆราชลงพระนามในบัญชาไม่ถึง 40 ใบ ก็ไม่น่าจะใช้เวลานานกว่าครึ่งปี ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพถึงกับทรงงานไม่ได้
นี่ก็เป็นประเด็นที่น่าสงสัยว่า น่าจะมีเหตุกระทบกระเทือนเบื้องสูง เพราะในมติมหาเถรสมาคมตั้งเจ้าคณะภาคนั้น ระบุว่า "สมเด็จพระสังฆราชทรงรับทราบตามที่เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายมหานิกายเสนอมา ก่อนจะนำความขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงโปรดเห็นชอบ" หมายถึงว่า บรรดาเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายมหานิกาย ได้อาศัยความไว้วางพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช นำรายชื่ออดีตเจ้าคณะภาคชุดเก่า "ทั้งกะบิ" ทูลถวายสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่มีการคัดกรองหรือปรับเปลี่ยนใดๆ เลย จนเกิดคำครหาขึ้นมา เสียหายถึงสมเด็จพระสังฆราชอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องมีพระลิขิตนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อทรงพระวินิจฉัย เหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง นี่มิใช่การยัดไส้ แต่เป็นการยัดห่า !
ความไว้วางพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงมีให้แก่บรรดาเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ ในฝ่ายมหานิกายนั้น กลายเป็นพิษเสียแล้ว แล้วแบบนี้จะไว้วางพระทัยต่อไปได้อย่างไร แต่ก็ดังว่า จะลงโทษเจ้าคณะหนต่างๆ ก็ไม่ถนัด เพราะท่านเหล่านั้นก็ "นำบัญชีรายชื่อขึ้นถวายพระสังฆราช" เพื่อทรงวินิจฉัย ถ้าไม่เห็นชอบก็คงจะส่งกลับลงมา หรือว่าจะโปรดให้แก้ไขรายชื่อใดเป็นการเฉพาะ เจ้าคณะใหญ่ก็คงพร้อมรับสนองพระบัญชา แต่ว่าเมื่อไม่มีการท้วงติงลงมา จะโทษว่าเป็นเพราะเจ้าคณะใหญ่ก็คงไม่ถนัด มันคาบลูกคาบดอกกันอยู่อย่างนี้
ผลก็คือ ถูกดองทั้งโผ ไม่มีใครได้เป็นเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะภาคธรรมยุต-มหานิกาย ทั้งประเทศ เพราะออกมาโดยมติ มส. คราวเดียวกัน เมื่อขึ้นพร้อมกันก็ต้องลงพร้อมกัน มันเป็นเรื่องของระบบ
เรื่องนี้เรื่องใหญ่ในรอบ 100 ของคณะสงฆ์ไทย ถือเป็นการลองของ พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับใหม่ สะเทือนไปถึงสมเด็จพระสังฆราชและราชสำนัก อย่างโจ่งแจ้งและรุนแรง
ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางและเจ้าคณะภาคมากที่สุด จึงเพ่งสายตาไปยังจุดนั้น
แต่กลับปรากฏว่า ยังมีมติมหาเถรสมาคม "ตกค้าง" อยู่อีกโผหนึ่ง เป็นโผใหญ่ไม่เบา คือโผเจ้าคณะ กทม. และเจ้าอาวาสวัดสามพระยา-วัดสระเกศ ซึ่งผ่าน มส. มาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2562 จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
พระสงฆ์สามเณรทั่วไป เมื่อได้ยินข่าวว่า มหาเถรสมาคมมีมติตั้งเจ้าคณะ กทม. เจ้าอาวาสวัดสามพระยา และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ แล้ว ทุกรูปก็คงได้เป็นแล้ว เพราะผ่านมานานแล้ว
ดูแต่เมื่อวานที่ผ่านมา (29 พฤษภาคม 2563) มหาเถรสมาคมก็ได้ออกมติ "ตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง" คือวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา พร้อมกัน ก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร แต่ถามว่าทำไมวัดสระเกศกับวัดสามพระยาถึงมีปัญหา ?
ที่เห็นว่าเป็นปัญหาก็เพราะสะดุดตา เมื่ออ่านข่าวในเพจ (เฟสบุ๊ค) ของทั้งวัดหัวลำโพง วัดสามพระยา และวัดสระเกศ ก็ยังระบุสถานะว่า "รักษาการเจ้าคณะ กทม. -รักษาการเจ้าอาวาสวัดสามพระยา-รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ" อยู่จนบัดนี้ ถามว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับโผนี้ ?
เฟสบุ๊ควัดหัวลำโพง 11 มิถุนายน 2563 ระบุว่า "พระธรรมสุธีเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร"
เฟสบุ๊ควัดสามพระยา 9 มิถุนายน 2563 ระบุว่า "พระเทพวิสุทธิดิลกเป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดสามพระยา"
เฟสบุ๊ควัดสระเกศ 13 มิถุนายน 2563 ระบุว่า "พระเทพรัตนมุนีเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ"
ข้อความในเฟสบุ๊คของทั้ง 3 วัดเหล่านี้ เป็นที่น่าฉงนว่า ทั้ง 3 รูป ผ่านมติมหาเถรสมาคมมาตั้งนาน ยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะ กทม. อีกหรือ ถึงได้ใช้ตำแหน่งว่า "ผู้รักษาการ.."
การที่ยังไม่สามารถจะใช้ตำแหน่งเต็มได้ เช่นว่า "เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร" หรือ "เจ้าอาวาสวัดสามพระยา" หรือเจ้าคณะอื่นใดก็ตาม ก็คงไม่ต่างไปจากคณะรัฐมนตรีที่ยังมิได้ถวายสัตย์ จะยังคงไม่สามารถปฏิบัติงานได้ แม้จะมีพระบรมราชโองการลงมาแล้วก็ตาม
ส่วนของเจ้าคณะพระสังฆาธิการไทยก็ฉันนั้น แต่เพราะเป็นพระสงฆ์จึงมิต้องถวายสัตย์ เพียงแต่ต้องได้รับพระบรมราชโองการหรือพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช เสียก่อนเท่านั้น
ดังนั้น การที่วัดหัวลำโพงยังเป็นรักษาการเจ้าคณะ กทม. วัดสามพระยาและวัดสระเกศยังมีเพียง "รักษาการเจ้าอาวาส" ก็เชื่อว่าน่าจะมาจากยังไม่ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่จะสาเหตุอันใดก็ยังน่าแปลกใจ
แปลกใจเพราะว่า มติมหาเถรสมาคมตั้งเจ้าคณะ กทม. เจ้าอาวาสวัดสามพระยา และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ออกมาในวันที่ 30 ตุลา 2562 ขณะที่มติตั้งเจ้าคณะหนและเจ้าคณะภาคนั้น ออกมาในวันที่ 20 พฤศจิกา 2562 ต่างกรรมต่างวาระกัน
พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มือทำโผเจ้าคณะภาค เจ้าคณะ กทม. เจ้าอาวาสวัดสระเกศ-สามพระยา
ถามว่าเกี่ยวอะไรกัน ทำไมจึงยังไม่ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ?
คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ "ผู้เสนอ" คือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งเป็นผู้นำโผเจ้าคณะ กทม. เจ้าอาวาสวัดสามพระยา-เจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 1 และภาค 13 เข้ามหาเถรสมาคม จึงถือว่าทั้งสองโผมีคนชงคนเดียวกัน
นั่นคือ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.9 Ph.D.) ซึ่งเป็นเพียงรักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง แต่ก็ทำงานได้เข้าตากรรมการมากที่สุด ทั้งโผเจ้าคณะภาค เจ้าคณะ กทม. และเจ้าอาวาสวัดสระเกศ-วัดสามพระยา เลยเป็นหมันมาจนบัดนี้
สรุปว่า ปัญหาการแต่งตั้งทั้งหมดที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีต้นตอมาจาก "พระพรหมบัณฑิต" หรือเจ้าคุณประยูร รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เสนอชื่อเจ้าคณะภาคที่มีปัญหาขึ้นไปให้ผู้ใหญ่รับทราบ จนเป็นข่าวเสียหาย ทำให้ทั้งตัวเจ้าคุณประยูร ทั้งบรรดาเจ้าคณะทั่วประเทศไทย ต้องหม้ายขันหมาก ไม่ได้รับแต่งตั้งมาจนป่านนี้
ส่วน รก.เจ้าคณะ กทม. ก็ดี รก.เจ้าอาวาสวัดสามพระยาก็ดี รก.เจ้าอาวาสวัดสระเกศก็ดี ที่มีปัญหานั้น ถือว่าเป็น "หางเลข" โดนลูกหลงจากโผเจ้าคณะภาคเข้าจังเบอร์ ต้องกึ่งนั่งกึ่งยืนอยู่บนตำแหน่ง ทำอะไรก็ไม่ถนัดเพราะแค่รักษาการ ถึงแม้จะอยู่คนละโผ แต่เพราะมือทำโผคนเดียวกัน เลยทำให้ติดเชื้อ ต้องล็อกดาวน์มายาวนานจนป่านนี้
เจ้าคุณสุรชัย วัดสระเกศ นั่นหนักกว่าเพื่อน เพราะรักษาการทั้งเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และเจ้าคณะภาค 12 ขืนเป็นอะไรไปเสียก่อนก็คงได้แต่ชื่อ..เจ้าคุณรักษาการ
งานนี้จะโทษใคร ?
สรุปการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 26/2562 วันพุธ ที่ 30 ตุลาคม 2562
1. อนุมัติแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ดังนี้
1.1 เห็นชอบแต่งตั้ง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ. 3 น.ธ. เอก พธ.ด) วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
1.2 พระศรีธรรมประสาธน์ (สุทธิพล กิตฺติปาโล ป.ธ. 7 ร.บ.) วัดจรณาราม ตำบลหานโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะจังหวัดพัทลุง (ธรรมยุต)
1.3 พระธรรมสุธี (นรินทร์ นรินฺโท ป.ธ.3 น.ธ. เอก พธ.ด. (กิตติมศักดิ์)) วัดหัวลำโพง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
1.4 พระครูวรพงศ์พิสุทธิ์ วัดโนนสำโรง ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองฯ จังหวัดอำนาจเจริญ ให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอหัวตะพาน-ลืออำนาจ-พนา (ธรรมยุต)
1.5 พระครูวิจารณ์วรธรรม วัดทับหมัน ตำบลทับหมัน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลวังสำโรง เขต 1
1.6 พระครูวิสุทธิศีลโสภณ วัดบ้านโป่ง ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลแม่แฝก เขต 1
1.7 พระเทพวิสุทธิดิลก (ละเอียด กิตฺติสุขุโม ป.ธ.9) วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดสามพระยา พระอารามหลวง
1.8 พระเทพรัตนมุนี (สุรชัย สุรชโย ป.ธ.7) วัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดสระเกศ พระอารามหลวง ฯลฯ
น.ส.พัชราภรณ์ จันทรณิธานศรี นักวิชาการศาสนาชำนาญการ ผู้สรุป นายเดชา มหาเดชากุล ผู้อำนวยการกลุ่มงานมหาเถรสมาคม ตรวจ
หมายเหตุ :
1. สรุปผลการประชุมนี้ ไม่สามารถนำไปเป็นเอกสารอ้างอิงทางกฎหมายได้ 2. ฐ และ ญ ที่เป็นภาษาบาลีจะใช้เป็นภาษาไทยแทน หากจะใช้เป็นภาษาบาลีจะต้องใช้ โปรแกรมอื่นที่มีความยุ่งยากกว่า
ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ : 13 มิถุนายน 2563 |
WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121 U.S.A. PHONE. 702-384-2264 |