ศาล สำนักพุทธ เถรสมาคม

 

 

สามอำนาจรุมกินโต๊ะเจ้าอาวาสวัดทุ่งเคล็ด

 

 

บดขยี้ยิ่งกว่าไข่มดแดง

 

 

บอกตามตรงว่า..รอดยากส์ !

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จาก..วัดบาทเดียว กลายเป็น "วัดร้อยล้าน"

 

 

คดีความสะท้านบ้านเมือง ท้าทายสายตาปัญญาชนให้จ้องมอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อา..เงิน เงิน เงิน เงินหนอ ทองหนอ วันก่อนเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาดก็ถูกไฟคลอกตาย สำรวจพบทองในกุฏิ ต้องรีบเผาภายใน 3 วันเหมือนอนาถา ตัดปัญหาสารพัด รักษาภาพลักษณ์วัดป่าของพระอรหันต์ให้ยังคงบริสุทธิ์อยู่ต่อไป เพราะโครงการใหญ่ยังไม่เสร็จ

 

 

กรณีของวัดโบสถ์บาทเดียว หรือวัดทุ่งเคล็ด ตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ ก็ฉันนั้น ว่ากันแบบแฟร์ๆ นะ ไม่เข้าใครออกใคร เพราะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรด้วย ก็ต้องขอบอกว่า มันเป็นความบกพร่องของทุกฝ่าย โดยเฉพาะก็คือ มหาเถรสมาคม ซึ่งปล่อยปละละเลยให้มีการก่อสร้างถาวรวัตถุอย่างบ้าคลั่ง เจ้าคณะผู้ปกครองระดับสูงเอาแต่กินส่วย รอรับผลประโยชน์จากวัดเหล่านั้น เหมือนมีผู้มีบารมีหนุนหลัง สุดท้ายก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นเจ้าพ่อ ก่อให้เกิดปัญหาแก่พระศาสนาในวงกว้างขึ้นมา ประชาชน พุทธศาสนิกชน ต้องแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งอ้างพระธรรมวินัย จะเอาผิดกับเจ้าอาวาสผู้ริเริ่มก่อสร้าง อีกฝ่ายอ้างผลงานการพัฒนา แบบว่าท่านเจ้าอาวาสเป็นผู้เสียสละ ทำให้วัดวาอารามเจริญรุ่งเรือง มีชื่อเสียงระดับประเทศ เกิดอีกสิบชาติก็ไม่มีใครทำได้เท่ากับเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องปกป้องเจ้าอาวาสของเรา ปัญหาโลกแตกแบบนี้เถียงกันจนตายก็ไม่จบ

 

 

ก็ถ้ามหาเถรสมาคม มีการตรวจสอบที่เข้มงวด ก่อนจะมีโครงการก่อสร้างโบสถ์เงินหรือถาวรวัตถุใหญ่โตอะไรก็ตามในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคมๆ ก็ต้องขอดูรูปแบบ-รายละเอียด และวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง รวมทั้งการบริหารจัดการทั้งในช่วงของการก่อสร้างและภายหลังก่อสร้างเสร็จ ถ้าเห็นว่าผู้ขอสร้างมีความพร้อม รูปแบบก็เหมาะสม วัตถุประสงค์ก็ดี เช่นนี้ จึงค่อยอนุญาต แต่ก็ต้องตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจตราดูแลตั้งแต่เริ่ม มิให้ผิดไปจากที่ได้ยื่นขออนุญาตมาตั้งแต่ต้น เช่นนี้ ก็จะสามารถระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายในโครงการใหญ่ๆ ได้ และยังสามารถควบคุมโครงการต่างๆ ไม่ให้ผิดไปจากแนวทางของมหาเถรสมาคม

 

 

เมื่อมหาเถรสมาคมไม่มีมาตรการบริหารจัดการในส่วนนี้ ปล่อยให้วัดต่างๆ ดำเนินการกันเอง พอเกิดปัญหาขึ้นมาจึงค่อยเข้าไปแก้ไข มันก็สายเกินไป ไม่ว่าจะปลดเจ้าอาวาสได้หรือไม่ โครงการก็มีมลทินเสียแล้ว สิ่งปลูกสร้างอันอลังการนั้น น่าจะก่อให้เกิดศรัทธาแก่ผู้ไปเยี่ยมชม กลับกลายเป็นอนุสรณ์แห่งความเสื่อมทรุดเศร้าหมอง เป็นตราบาปที่ลบออกได้ยาก

 

 

ผู้คนส่วนใหญ่จะมองไปแต่ที่ "เจ้าอาวาส" ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา แต่ว่าความเป็นจริงแล้ว มันมีเบื้องลึกอยู่อีกมากมาย โบสถ์หลังใหญ่แพงขนาดนี้ จะมีแค่เจ้าอาวาสทำคนเดียว ยังไงก็ไม่สำเร็จ ต้องมีทฤษฎีสมคบคิด

 

 

 

 

 

 

 

 

เริ่มแรก เมื่อมีโครงการก่อสร้างโบสถ์เหรียญบาทเป็นแห่งแรกที่วัดทุ่งเคล็ดนั้น ทางโจทก์คือผู้ฟ้องร้องเจ้าอาวาส กับเจ้าอาวาส คือหุ้นส่วน คิดฝันร่วมกันที่จะทำงานใหญ่ สร้างโบสถ์เหรียญบาทขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในท้องที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้โด่งดังพอๆ กับหลวงปู่ทวด วัดห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดเดียวกัน ซึ่งหลวงปู่ทวดองค์นี้ก็สร้างขึ้นมา ภายหลังจากมหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่ง "ห้ามมิให้สร้างรูปเหมือนพระสงฆ์ใหญ่กว่าพระพุทธรูป" แต่สุดท้ายก็มีอิทธิพลเข้าไปช่วยเหลือ จนมติมหาเถรสมาคมกลายเป็นเศษกระดาษ และเป็นจุดเขื่อนแตก ปล่อยให้วัดต่างๆ ทั่วไทย นำไปเป็นตัวอย่างของการสร้างรูปเหมือนพระเกจิใหญ่กว่าพระพุทธรูป ซึ่งแต่ละโครงการก็มีกรรมการมหาเถรสมาคมระดับสมเด็จ-รองสมเด็จฯ เข้าไปเป็นที่ปรึกษา จนมาถึงปัญหาโบสถ์เหรียญบาทในวันนี้

 

 

พอโครงการดำเนินไปได้ไม่นาน ก็เริ่มมีปัญหาระหว่างเจ้าอาวาสกับนายช่างผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งเรื่องเงินและอื่นๆ สุดท้ายทั้งสองฝ่ายจึงเกิดภาวะทางใจหันหลังให้กัน นายช่างก็ถ่วงงาน โดยมองว่าถ้าไม่มีตนเอง โครงการก็คงไปไม่รอด และแน่นอนว่าต้องบานปลายจ่ายไม่ไหว ฝ่ายเจ้าอาวาสก็มองว่า ถ้ายังเอาช่างคนเดิมไว้ปัญหาก็ไม่จบสิ้น จึงหานายช่างคนใหม่เข้ามาสานงานต่อ ไม่รีรอที่จะประนีประนอมกับนายช่างคนเดิม ทั้งที่เรื่องเงินก็ยังคาราคาซังกันอยู่

 

 

 

 

 

 

 

พระเทพสิทธิวิมล เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กับ

พระสมุห์อาทิตย์ อิสฺสรญาโณ เจ้าอาวาสวัดทุ่งเคล็ด

 

 

 

 

ซึ่งจุดนี้ดูจะเป็น "แตกหัก" ระหว่างนายช่างกับเจ้าอาวาสวัดทุ่งเคล็ด นายช่างคงมองว่า ถ้าตนเองถูกตัดออกจากโครงการ ฝีไม้ลายมือของตนเอง ก็จะถูกช่างคนใหม่สวมเอาไป ร่วมทั้งชื่อเสียงเกียรติยศที่มุ่งหวังจะได้รับหลังจากเสร็จโครงการนี้ ก็จะโบยบินไปด้วย ดังนั้น เมื่อเจ้าอาวาสกล้าเขี่ยตนออกจากโครงการ (ที่ริเริ่มมาด้วยกัน) มันก็ต้องดับเครื่องชน คือต้องเอาเจ้าอาวาสออกจากตำแหน่งให้ได้ ทุกวิถีทาง เพราะตนเองก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว

 

 

 

 

โจทก์ฟ้องแม้กระทั่ง สำนักพระราชวัง เพื่อหวังจะเอาผิดเหนือกว่าอาญา

 

 

เพราะเชื่อว่า ถ้าทำผิดต่อรั้วต่อวัง ร้อยทั้งร้อย ไม่ตายก็ไม่โต

 

 

 

 

รูปการณ์ของคดีความวัดโบสถ์เหรียญบาทมันเป็นเช่นนี้แหละครับ ท่านพระครู ดูได้จาก การฟ้องร้องต่อศาลก็ดี การฟ้องร้องต่อเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ดี การฟ้องร้องไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในส่วนกลางก็ดี ผู้ฟ้องคือ คนเดียวกัน ฟ้องยันตั้งแต่เรื่องเงินทองไปถึงพระธรรมวินัย รู้แม้กระทั่งจริยาพระสังฆาธิการ ไม่ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคมและพระไตรปิฎก ชี้เป้าต้องอาบัติ "ปาราชิก" ต้องขาดจากความเป็นพระไปในที่สุด สงสัยว่าคนฟ้องจะจบประโยค 11 มาหรือเปล่า ถึงได้รู้ลึกซึ้งปานนี้ แบบนี้ถึงไม่มี "วิษณุ" พวกเราก็คงอยู่ได้ เพราะมีเจ้าปัญญาคนใหม่แล้ว

 

 

ความจริงแล้ว นายช่างผู้เป็นโจทก์ในคดีนี้ น่าจะไปเอาดีทางกฎหมายหรือทนายความนะ ขอยกย่องว่าฝีมือสุดยอดคนหนึ่งในบู๊ลิ้ม

 

 

ใช่แต่เท่านั้น ยังมีกระบวนการ "ประจาน" ไปทางสื่อ เพื่อหวังจะใช้โซเชี่ยลให้เข้ามาบีบคณะสงฆ์ให้เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทางหนึ่งด้วย เรียกได้ว่า เปิดศึกทุกทาง เป็นมวยก็ถือว่าครบเครื่อง เป็นสุดยอดฝีมือเลยเชียวล่ะ ถ้าพระอาทิตย์รอดตายไปได้ก็ยิ่งกว่าเซียน เพราะได้ครูดีฝีมือขั้นเทพ

 

 

 

 



 

 

 

 

ส่วนท่าทีของคณะสงฆ์ ตั้งแต่เจ้าคณะอำเภอไปจนถึงเจ้าคณะจังหวัดประจวบฯ ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่า ทุกรูปทุกองค์เคยได้รับนิมนต์ให้มา "รับซอง" ในงานของวัดทุ่งเคล็ดอยู่บ่อยครั้ง จนคุ้นเคยเป็นกันเอง เผลอๆ จะรับเป็นที่ปรึกษาโครงการด้วยล่ะ แสดงว่าพระอาทิตย์ก็เล่นเป็น ไม่กินคนเดียว แต่เอาคนอื่นมากินด้วย ตามหลักการ "เนกาสี ลภเต สุขํ" ที่แปลว่า กินคนเดียวไม่อร่อย นั่นแหละ

 

 

ดังนั้น เมื่อถูกโจทย์ฟ้องมายังเจ้าคณะอำเภอ-เจ้าคณะจังหวัด จึงปรากฏร่องรอยของการ "ดองเรื่อง" แต่ภาษาพระท่านเรียกว่า "ให้โอกาสชี้แจง" แก่เจ้าอาวาสวัดทุ่งเคล็ด นานไปเรื่องก็เงียบ โจทก์เห็นว่าไม่ได้ผล จึงเล่นของสูงกว่า คือฟ้องไปยังส่วนกลาง อันได้แก่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งการฟ้องร้องคณะสงฆ์ก็ดี ร้องสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ดี เกิดขึ้นในช่วงที่คดีความยังอยู่ในชั้นศาล ถึงศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่า "พระอาทิตย์ผิด ต้องชดใช้เงินแก่นายช่าง" ก็ยังมีศาลอุทธรณ์และฎีกาให้พระอาทิตย์ได้ยืดระยะการจ่ายเงินออกไปอีกหลายกิโล

 

 

ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งมีคดีเดียวกันค้างศาลอยู่ แต่กลับหันไปฟ้องเพิ่มเติมทั้งทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองและสำนักพุทธฯส่วนกลาง นั่นก็แสดงให้เห็นว่า นอกจากเรื่องเงินที่อยากได้คืนแล้ว ยังอยากจะให้เจ้าอาวาสพินาศลงไป ไม่ต้องอยู่และทำโครงการนี้ให้สำเร็จ แบบว่าองุ่นเปรี้ยว คือเมื่อกูไม่ได้ มึงก็อย่าหวังว่าจะได้ มันกลายเป็นความเคียดแค้นชิงชังไปเสียแล้ว ถึงแม้ว่าพระอาทิตย์จะยอมถอยไปหนึ่งก้าว คือยอมลาออกจากตำแหน่งเจ้าตำบลนาหูกวาง ไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ก็ฝ่ายโจทก์ก็ยังคงรุกต่อไป เพราะยังมิใช่เป้าหมายที่ต้องการ

 

 

 

 

 

 

 

 

เป้าหมายของโจทก์ที่เห็นครั้งสุดท้ายจึงมิใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องต้องการให้พระอาทิตย์หลุดจากตำแหน่งเจ้าอาวาสและผ้าเหลือง เพียงแต่เงินเป็นตัวเดินเรื่องเท่านั้น

เป็นการต้อนกันให้จนตรอก แบบตายไปข้าง !

 

 

แน่นอนว่าพระอาทิตย์ก็คงไม่ยอม เพราะหลังพิงฝา ผ้าเหลืองติดตัว เช่นกัน !

 

 

ดังนั้น จึงปรากฏว่ามีมวลชนที่เลื่อมใสในตัวพระอาทิตย์ เดินทางไปคัดค้านการปลดพระอาทิตย์ถึงวัดคลองวาฬของเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่องราวบานปลายกลายเป็นม็อบไปแล้ว

 

 

อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถจะตัดประเด็นไปได้ว่า พระอาทิตย์ไปทำอย่างไร จึงทำให้นายช่างที่เคยร่วมงานกันนั้น เคียดแค้นชิงชังถึงกับจะเอาให้หลุดจากทุกตำแหน่ง ถึงกับหมายจะเอาหลุดจากผ้าเหลืองด้วย เป็นพระก็ต้องเมตตา ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องทำใจว่า..เป็นกรรมของตนเอง อย่าโทษใคร รวมทั้งความผิดพลาดที่ไม่ยอมเอาเงินทองเข้าบัญชีวัดนั้น จะอ้างว่าไม่ทราบก็คงไม่พ้นผิด เพราะอุตริจะทำงานใหญ่ระดับชาติ แต่มาพลาดเรื่องบัญชี ถือว่าเหยียบสบงล้มหัวฟาดพื้น ไม่สมเหตุสมผล ควรจะเป็นเพียงเจ้าอาวาสวัดทุ่งเคล็ด แต่ไม่ควรเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์เหรียญบาทแล้วล่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

ถ้าดูอายุพรรษาของพระอาทิตย์นั้น ขณะริเริ่มโครงการสร้างโบสถ์เหรียญบาท ในต้นปี พ.ศ.2557 มีอายุเพียง 39 ปี ถือว่ายังเด็กมาก ยังขาดประสบการณ์การบริหารจัดการทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อ่อนด้อยในด้านมนุษยสัมพันธ์ จึงทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านการเงินและกับผู้ร่วมงาน แม้จะมีความตั้งใจดี แต่เมื่อโครงการมันใหญ่มาก รับมือไม่ไหว ไม่มีทีมงานที่ดีพร้อม จึงต้องถอยร่นแทบจะชนกำแพงดังที่เห็น เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ

 

 

หันไปดูทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ก็รีบดำเนินการ "สั่งการ" ไปยังเจ้าคณะจังหวัดประจวบฯให้สอบสวน คือว่า สำนักพุทธฯ ก็ทำงาน "บนแผ่นกระดาษ" ขาดข้อมูลในเชิงลึก มีแต่ชงเรื่องแทงเรื่องตามแนวถนัดของข้าราชการ ปัญหามันเลยบานปลาย เพราะมีอำนาจ แต่ขาดความรู้ความเข้าใจ น่าจะสร้างสรรค์ก็กลายเป็นทำลาย เพราะถ้าวัดทุ่งเคล็ดและพระอาทิตย์แพ้ พวกเราชาวพุทธก็แพ้ แม้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

 

 

กล่าวทางศาล ตามเอกสารระบุว่า ศาลฎีกาเพิ่งจะยกคำร้อง ไม่ยอมให้พระอาทิตย์ฎีกาต่อไป และมีหนังสือแจ้งให้พระอาทิตย์รับทราบในวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมานี่เอง และพระอาทิตย์ก็ยังหลวมตัวไปสารภาพกับเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อีกว่า จะเจรจากับเจ้าหนี้ ภายในวันที่ 1-7 มิถุนายน ศกนี้

 

 

การเจรจาของพระอาทิตย์นั้น มองยังไงก็ไม่สำเร็จ เพราะโจทก์มีเป้าประสงค์คือ กำจัดพระอาทิตย์ออกจากวัดถึงกับสิกขาลาเพศไปเลย วันนี้เขาได้ทีแล้ว คงไม่ปล่อยโอกาสทองให้หลุดรอดไป

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องเงินนั้น ในสภาวะบ้านเมืองที่รุมด้วยไวรัสโควิด-19 เช่นที่เห็น ไม่มีใครสามารถจะชำระหนี้ได้ แม้แต่รัฐบาลไทยก็ไม่มีปัญญา ต้องกู้หนี้ยืมสินเป็นการฉุกเฉินเป็นล้านๆๆ การไม่สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะไม่มีใครในโลกที่จะหาเงินมาชำระหนี้ในวิกฤตการณ์เช่นนี้ได้ แม้แต่ศาลเองก็ตาม ดังนั้น การจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด จึงถือว่าไม่ฉลาด แต่ควรจะอารยะขัดขืน ทำเรื่องขอประนีประนอมต่อศาล โดยอ้างวิกฤตไวรัสโควิด-19 ดูทีศาลจะว่าอย่างไร หรือศาลจะจับกุมคุมขังก็ให้มันรู้ไป ในเมื่อไม่มีอะไรจะเสียเช่นกัน วัดใจว่าพระอาทิตย์จะกล้าไหม ถ้าไม่อยากเป็น..พระจันทร์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จุดสุดท้ายที่น่าห่วงก็คือ สัมพันธภาพระหว่าง พระอาทิตย์กับเจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเคยเคารพนับถือช่วยเหลือเกื้อกูลกันมานาน และเชื่อว่าหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดก็คงจะรักท่านอาทิตย์ จึงสู้ดึงเรื่องและเอาใจช่วยมาโดยตลอด แต่เมื่อมีมวลชนไปคุกคามหลวงพ่อถึงกับขึ้นมึงขึ้นกู ก็เท่ากับว่า พระอาทิตย์คุมมวลชนไม่อยู่ ลุแก่โทสะ ไม่เห็นหัวผู้หลักผู้ใหญ่อีกต่อไป พระเทพสิทธิวิมลซึ่งเคยมีเมตตาต่อท่านอาทิตย์ จึงต้องเปลี่ยนกระแสจิตเป็น "กรุณา" คือว่ากรุณาไปไกลๆ เสียเถิด อย่ามายุ่งกับผมเลย ช่วยยังไงก็ไม่ไหวแล้ว ฤทธิ์เดชมากเกินไป จึงเท่ากับว่า พระอาทิตย์ถูกตัดหางปล่อยวัด ไร้ที่พึ่งทางธรรมอีกต่อไปแล้ว จบไม่สวยเลย สึกไม่สึกก็ไม่สวย

 

 

มหากาพย์เรื่อง โบสถ์เหรียญบาท ซึ่งกลายเป็นคดีพิพาทตั้งแต่ระดับวัดไปจนถึงวังครั้งนี้ เป็นกรณีที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง และคงจะเป็นคดีอมตะไปอีกคดีหนึ่ง ของคณะสงฆ์ไทย

 

 

 

 

 







 

 

 

 

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน : 4 มิถุนายน 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264