ขึ้นทำเนียบ Fake news !

 

ข่าวสำนักพุทธฯล้วงย่ามพระช่วยโควิดบิดเบือน

 

 

 

 

 

 

 

 

อา..ก่อนหน้านี้มีสำนวนนิยมว่า "ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์" แต่ปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ข่าวจริงเมื่อวาน กลายเป็น "ข่าวบิดเบือน" ไปในวันนี้ วันที่ "สื่อหลักๆ" ของไทย ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐ ผู้จัดการ มติชน ฯลฯ ล้วนแต่ได้ข่าวมาเหมือนกัน เสนอข่าวเหมือนกัน แถมยังเสนอวันเดียวกันอีกด้วย ถ้าจะบอกว่าข่าวนี้บิดเบือนก็ต้องถามกลับไปว่า ใครบิดเบือน สำนักข่าวหรือสำนักพุทธฯ ??

 

 

 

 

 

 

 

 

ในฐานะคนทำข่าว ก็ต้องขอจาระไนดังต่อไปนี้

 

 

 

1. กรณีมีข่าวทางสื่อนั้น มีได้หลายทาง เช่น เกิดเหตุการณ์ (ร้ายหรือดี) มีคนแจ้งข่าว นักข่าวไปถามเพื่อหาข่าว และเจ้าของข่าวจงใจให้ข่าว เพราะต้องการให้เป็นข่าว เป็นต้น กรณีที่มีข่าวว่า "พระสงฆ์ทั่วประเทศจะสละเงินเดือนเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือวัดที่เดือดร้อนจากสถานการณ์ไวรัสโควิด" นั้น สำนักข่าวทุกแห่งรายงานตรงกันว่า "เป็นการให้ข่าวของ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" ซึ่งได้ให้ข่าวด้วยตนเอง ในวันที่ 8 เมษายน 2563 ชัดเจน

 

 

2. แต่กลับปรากฏว่า ผ่านไปได้ 2 วัน ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ออกมาแก้ข่าวผ่านสื่ออีกครั้งว่า ที่มีข่าวว่า พระสงฆ์ทั่วประเทศจะสละเงินเดือน 2 เดือน เพื่อนำเงินไปช่วยวัดที่ประสบความเดือดร้อนเพราะไวรัสโควิดนั้น เป็นความเข้าใจผิด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มิได้มีแนวคิดจะหักเงินเดือนพระไปช่วยเหลือพระแต่อย่างใด แต่เงินที่จะนำไปช่วยนั้น เป็นเงินจากกองทุนวัดช่วยวัด ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 มิใช่การหักเงินเดือนพระในปี 2563 นี้แต่อย่างใด จึงขอให้ใครก็ตาม อย่าไปโพสต์ อย่าไปแชร์ อย่าไปส่งต่อ ข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้สังคมไทยเข้าใจสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติผิดๆ

 

3. เห็นได้ชัดว่า ทั้งการให้ข่าว ทั้งการแก้ข่าว ล้วนแต่มาจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทั้งสิ้น ไม่มีใครไปสร้างข่าว และไม่มีใครไปแก้ข่าวให้สำนักพุทธฯเลย งานนี้เข้าตำรา รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง

 

4. ทีนี้ว่า ถ้าจะมาพิจารณาเทียบเคียงเนื้อหาของข่าวที่ออกจากสำนักพุทธฯ ทั้ง 2 วาระ คือวันที่ 8 และวันที่ 10 เมษา นั้น ก็พบว่ามีเนื้อหาต่างกัน โดยเฉพาะก็คือ ที่มาของเงิน และจำนวนเงิน

 

 

 

ที่มาของเงิน : ครั้งแรก สำนักพุทธฯ ปูดข่าวว่า "จะนำมาจากเงินนิตยภัตหรือเงินเดือนของพระสังฆาธิการทุกระดับทั่วประเทศไทย" แต่ครั้นข่าวดังออกไปและมีพระสงฆ์ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากๆ (วัดได้จากคอมเมนต์ที่ส่งเข้าไปในเพจสำนักพุทธฯ มีแต่ติหนิติเตียนและด่า) สำนักพุทธฯ เลยออกมาแก้ข่าวว่า "มิได้เอาเงินเดือนพระใน พ.ศ. นี้ แต่เงินที่ว่านั้นจะนำมาจากกองทุนวัดช่วยวัด" นั่นก็แปลว่า สำนักพุทธฯ ให้ข่าวไม่ตรงกัน

 

 

จำนวนเงิน : เรื่องนี้ ทีแรก สำนักพุทธฯ ให้ข่าวว่า จะหักจากเงินเดือนพระเป็นระยะ 2 เดือน แต่ภายหลังกลับแก้ข่าวว่า "เป็นเงินเดือนที่หักเข้ากองทุนวัดช่วยวัด เพียงปีละเดือนเท่านั้น" จาก 2 เดือน เหลือ 1 เดือนเฉยเลย นั่นก็แปลว่า สำนักพุทธฯ ให้ตัวเลขไม่ตรงกัน อีกแล้วครับท่าน

 

 

ถามว่า จะให้เชื่อข่าวไหน ระหว่างข่าวแรกกับข่าวหลัง ถ้าข่าวแรกจริง ข่าวหลังก็ต้องไม่จริง ถ้าข่าวหลังจริง ข่าวแรกก็ต้องไม่จริง แต่จะจริงหรือไม่จริงอย่างไร ทั้งสองข่าวก็ออกมาจากแหล่งข่าวเดียวกัน คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ของ นายณรงค์ ทรงอารมณ์

 

 

ถ้าจะว่าข่าวนี้มั่ว ก็ต้องมั่วเพราะ..สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

ถ้าจะว่าข่าวนี้บิดเบือน ก็ต้องบิดเบือนเพราะ..สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

แต่ถ้าจะบอกว่า "ข่าวนี้ไม่มีมูลความจริง" ก็เห็นทีต้องบอกว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้เสนอข่าวเท็จ บิดเบือนความจริง

 

 

ดังนั้น ที่ว่าข่าวนี้เท็จ ข่าวนี้ไม่จริง ข่าวนี้บิดเบือน ก็ต้องถามกลับไปว่า ใครให้ข่าวเท็จ ใครพูดไม่จริง และใครบิดเบือนความจริง ?

 

 

แต่นึกๆ ดูก็สงสาร "คุณณรงค์ ทรงอารมณ์" นะ ที่ได้ตำแหน่ง ผอ.พศ. มาแบบทุกขลาภ เพราะมีแต่ตำแหน่ง ไม่มีเงินเหลือเลย เจ้านายเก่า (พงศ์พร) นั้นแสนรู้ อยากให้พระไทยเป็นอรหันต์ทั่วประเทศ เลยเอาตำราพระไตรปิฎกมากาง อ้างพระวินัยสมัยพระพุทธเจ้า บอกว่า "พระสงฆ์ไทยรับเงินทองผิดพระวินัย" เลยส่งเงินงบประมาณบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกลับคืนคลังเสียสิ้น พอพงศ์พรเกษียณอายุไป ได้ณรงค์มาเป็น ผอ.พศ. แทน ก็มาเกิดไวรัสโควิด ทีนี้จะใช้เงินก็ไม่มีตังค์ เลยหันไปล้วงย่ามพระ พอพระรู้ก็ตะโกนโวยวายว่า "ณรงค์ปล้นเงินพระ" ก็เลยทำอาย หันไปใช้เงินจากกองทุนวัดช่วยวัด ซึ่งก็หักมาจากเงินเดือนพระเหมือนเดิมนั่นเอง เพียงแต่เป็นเงินเก่า ส่วนเงินใหม่ก็จะหักใส่กองทุนในปีถัดไปและตลอดไป ไม่โดนทางตรงก็โดนทางอ้อม พูดง่ายๆ ก็คือว่า เปลี่ยนแผนปล้น จากเดิมที่จะให้สำนักพุทธฯตัดงบเงินเดือนพระเอาเอง ก็เปลี่ยนเป็น "ยืมมือ" ให้มหาเถรสมาคม บังคับเอาจากพระสังฆาธิการมาให้แทน เนียนมาก

 

 

ซึ่งความจริงแล้ว ยังมีข้อกฎหมายเข้ามาพิจารณาร่วมในประเด็นนี้อีก คือว่า ถ้าสำนักพุทธฯ จะใช้อำนาจ "ตัดเงินเดือนพระ" มาใช้โดยพลการจะได้ไหม ตำแหน่ง ผอ.พศ. มีอำนาจหรือไม่ ? ถ้าไม่มี ขืนไปทำอะไรบุ่มบ่าม ก็อาจจะถูกฟ้องร้องเอาได้ แต่จะให้มหาเถรสมาคมออกมติเอาใหม่ก็ไม่ได้อีก เพราะช่วงนี้งดประชุม มส. หนทางสุดท้ายที่เหลือก็คือ ใช้เงินกองทุนวัดช่วยวัด ที่ มส. เคยออกมติรับรองและตั้งไว้แต่เดิมมานั่นแหละ ง่ายที่สุดแล้ว

 

 

ก็ไม่อยากจะบอกว่า "สมน้ำหน้า" อยากเคร่งมากนัก พระเณรไม่ต้องจับเงินทอง พศ.เลยไม่มีเงินใช้ ถามว่าโทษใคร ถ้าไม่ใช่ "พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์" คนเก่ง คนดี และดีที่สุดของบิ๊กตู่ เอามือปราบมาบริหาร มันก็บรรลัยดังที่เห็น

 

 

ในรอบเดือนที่ผ่านมา ณรงค์สู้อุตส่าห์ออกงานออกการ เดินสายไปตามวัดต่างๆ ทั้งร้อนทั้งเหนื่อย แถมเสี่ยงติดหวัดติดไข้อีก แต่พอออกข่าวว่า "จะเก็บเงินเดือนพระทั่วประเทศ 2 เดือน ไปช่วยวัดต่างๆ" เท่านั้น โดนพระทั่วประเทศชะยันโต ไอ้ที่สู้เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาเป็นเดือนนั้น หายเกลี้ยง จากพระเอกกลายเป็นโจรเลย เสือรงค์ !

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวบิดเบือน อย่าแชร์ ! สำนักพุทธฯ สั่งทุกวัดงดจัดสงกรานต์ พร้อมสละเงินเดือนพระ 2 เดือน

 

จากที่มีข่าวว่า "สำนักพุทธฯ แจ้งทุกวัดงดสงกรานต์ สละเงินเดือนสงฆ์ 2 เดือน ตั้งกองทุนวัดช่วยวัด" ทางสำนักพุทธฯ ชี้แจงว่า มีมาตราการขอความร่วมมือให้ทุกวัดงดจัดกิจกรรมที่ประชาชนจะมารวมกลุ่มกัน เว้นมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรม ซึ่งต้องวางมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเคร่งครัด และกรณีกองทุนที่ช่วยเหลือนั้น ไม่มีการเก็บเงินนิตยภัตพระ 2 เดือน ตามที่กล่าวอ้าง

วันนี้ (10 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สำนักพุทธฯ แจ้งทุกวัดงดสงกรานต์ สละเงินเดือนสงฆ์ 2 เดือน ตั้งกองทุนวัดช่วยวัด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน


จากกรณีที่มีข่าวปรากฏเป็นข้อความว่า "สำนักพุทธฯ แจ้งทุกวัดงดสงกรานต์ สละเงินเดือนสงฆ์ 2 เดือน ตั้งกองทุนวัดช่วยวัด" ทางด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่า มีมาตรการขอความร่วมมือให้ทุกวัดงดจัดกิจกรรมที่ประชาชนจะมารวมกลุ่มกัน เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรม เช่น การเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งทุกวัดต้องวางมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเคร่งครัด! เช่น การนั่งเจริญพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนที่ร่วมกิจกรรม ต้องนั่งระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร รวมถึงวัดจะต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์ เจลล้างมือและหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค


ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธฯ ได้พิจารณาจัดตั้งกองทุนวัดช่วยวัดโดยมหาเถรสมาคม (มส.) ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2546 เป็นกองทุนที่ทางคณะสงฆ์ลงมติเพื่อช่วยเหลือวัด และพระสงฆ์ สามเณรที่ประสบภัย โดยกำหนดหลักการหาเงินเข้ากองทุนไว้ดังนี้


1. ขอรับบริจาคนิตยภัต (เงินเดือน) จากพระสังฆาธิการทุกระดับ 1 เดือน ซึ่งกำหนดเดือนมกราคมของทุกๆ ปี


2. จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาในวันอาสาฬบูชาพร้อมกันทุกวัดทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมปัจจัยเข้ากองทุน


3. ให้ทุกวัดจัดทอดผ้าป่า เพื่อรวบรวมปัจจัยเข้ากองทุน


4. ตั้งตู้บริจาคในวัดต่างๆ เช่น วัดพระปฐมเจดีย์ วัดโสธวราราม เป็นต้น


5. ให้แต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ไม่น้อยกว่า 3 รูปแต่ไม่เกิน 5 รูป โดยอนุมัติให้จ่ายเงินสำรองไม่เกิน 500,000 บาท แล้วอนุมัติเบิกในภายหลังจากประธานคณะกรรมการฯ


ดังนั้น ที่เข้าใจกันว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเก็บเงินนิตยภัตพระ จำนวน 2 เดือน จึงไม่มีมูลความจริง

ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ ข้อมูลดังกล่าวต่อ ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สามารถติดตามได้ที่ www.onab.go.th หรือโทร . 02 4417999

  

 

 

ข่าว : ผู้จัดการ : 11 เมษายน 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264