คดีพลิก !

 

 

อดีตเจ้าคุณธงชัยได้รอลงอาญา

 

ขณะที่อดีตเจ้าคุณเอื้อนศาลลงโทษดับเบิ้ล

 

เป็นดับเบิ้ลแสตนดาร์ดของศาลอาญาไทย

 

 

 

 

 

 

 

อดีตเจ้าคุณธงชัย (พระพรหมสิทธิ)

 

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ อดีตเจ้าคณะภาค 10

อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม

อดีตประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

 

 

 

อา..และแล้ววันที่รอคอยของใครหลายคนก็มาถึง คือวันนี้ วันที่ อดีตพระพรหมสิทธิ หรืออดีตเจ้าคุณธงชัย ผู้ยิ่งใหญ่แห่งฝ่ายมหานิกาย ได้เวลาขึ้นศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีเงินทอนวัด เพราะถ้าคดีเจ้าคุณธงชัยได้รับการตัดสิน ก็จะตัดสินคดีอดีตกรรมการ มส. ครบทั้ง 2 ท่าน คือ อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา อดีตเจ้าคณะ กทม. และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม แต่ถ้ารวม "พุทธะอิสระ" เข้าไปด้วย ก็จะครบ 3 ท่านพอดีทีเดียว ส่วนอดีตพระพรหมเมธี (จำนงค์) แห่งวัดสัมพันธวงศ์นั้น ขณะนี้ ทราบว่าได้สถานะ "ผู้ลี้ภัย" จากรัฐบาลเยอรมันนี ถูกต้องตามกฎหมายเต็มตัวแล้ว จะไปไหนก็ได้ในโลก ยกเว้น..ประเทศไทย

 

 

แต่..จากคำพิพากษาศาลอาญาในคดีของอดีตคุณธงชัยในวันนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคดีของอดีตเจ้าคุณเอื้อนในวันก่อน ก็จะเห็นว่า "ต่างกับราวฟ้าดิน" เพราะคดีเจ้าคุณเอื้อนนั้น ศาลอ้างกฎหมายอาญา มาตรา 83 ระบุว่า "จำเลย-เจ้าคุณเอื้อน เป็นเจ้าพนักงาน กระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของความผิด" จึงให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 ปี และไม่มีการรอลงอาญา แม้ว่าจะเป็นพระสังฆาธิการ ทำงานพระศาสนามายาวนาน และไม่เคยมีมลทินมาก่อน ก็ตาม

 

 

แต่สำหรับอดีตเจ้าคุณธงชัยในวันนี้ ศาลกลับปราณีบอกว่า "ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ ไม่เคยกระทำผิดทางวินัย จึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้ กำหนด 2 ปี"

 

 

 

 

 

 

อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน)   :   อดีตพระพรหมสิทธิ (ธงชัย)  

 

เทียบคำพิพากษาคดีเงินทอนวัดของ 2 อดีตกรรมการ มส.

 

 

 

 

อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน)

อดีตพระพรหมสิทธิ (ธงชัย)

มอบตัวเจ้าหน้าที่ วันที่ 24 พ.ค. 61 หนีการจับกุมไปได้ 7 วัน เข้ามอบตัวในวันที่ 30 พ.ค. 61

ไม่มีการทุจริตเบียดบังเอาเงินหลวงไปใช้ส่วนตัว แต่ศาลระบุว่าเป็นเจ้าพนักงาน กระทำความผิดฐานฟอกเงิน

ศาลเห็นว่าเป็นการทำความผิดอาญา ตามมาตรา 157 (ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ)
เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง และกรรมการ มส. ทำงานมายาวนาน ไม่เคยต้องมลทิน เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง และกรรมการ มส. ทำงานมายาวนาน ไม่เคยต้องมลทิน
คดีมีมูลค่า 5 ล้านบาท คดีมีมูลค่า 69.7 ล้านบาท
โทษจำคุก 6 ปี โทษจำคุก 3 ปี
ศาลไม่ปรานีให้รอลงอาญา ศาลปรานีให้รอลงอาญา
ไม่มีค่าปรับ สั่งปรับเงิน 27,000 บาท

 

 

 

 

เห็นได้ชัดเจนว่า รูปคดีของ 2 กรรมการ มส. ข้างต้นนั้น คล้ายกัน แต่รูปแบบการตัดสิน หรือน้ำหนักการตัดสิน หรือเหตุผลของการตัดสินของศาลอาญา "แตกต่างกัน" อย่างสิ้นเชิง

 

 

ที่น่าสนใจก็คือ กรณีพระพรหมดิลกนั้น ศาลยกเอา พรบ.ฟอกเงิน มาเป็นแม่บท ลงโทษสถานหนักเป็น 2 เท่า และไม่รอลงอาญา แม้ว่าจำเลยจะเคยมีเกียรติคุณดีเด่น และทำงานเพื่อชาติศาสนามายาวนานก็ตาม

 

 

แต่สำหรับพระพรหมสิทธินั้น ศาลยกเอากฎหมายอาญา มาตรา 157 มาเป็นแม่บท ลงโทษเพียง 36 เดือน หรือ 3 ปี ทั้งๆ ที่ มูลค่าความเสียหายนั้น มากมายกว่าอดีตพระพรหมดิลกอย่างเทียบไม่ติด (70 ล้าน ต่อ 5 ล้าน) แถมเมื่อสั่งลงโทษแล้ว ไม่มีการปรานีให้รอลงอาญาให้เจ้าคุณเอื้อนเลย กลับกัน กรณีของเจ้าคุณธงชัยนั้น ศาลกลับอ้างว่าเคยทำคุณงามความดีมายาวนาน จึงปรานีให้รอลงอาญา เป็นเวลา 2 ปี ถ้าพ้น 2 ปีไปแล้ว ไม่มีพฤติกรรมทำผิดซ้ำ ก็ไม่ต้องโทษเลย หมายถึงว่า อดีตเจ้าคุณธงชัย ถูกคาดโทษเพียง 2 ปีเท่านั้น รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี แค่ 2 ปี ก็พ้นโทษแล้ว (ยกโทษให้รวมทั้งปีที่ 3 ด้วย)

 

 

 

นั่นเป็นการเปรียบเทียบ "รูปคดี" ของอดีตกรรมการ มส. จึงมีคำถามว่า

 

ศาลอาญา พิพากษาในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หรือว่า พิพากษาภายใต้อำนาจของรัฐบาลทหาร อยู่ภายใต้ปลายกระบอกปืน

ศาลอาญา พิพากษาตามหลักยุติธรรม หรือว่าตามกระแสอำนาจทางการเมือง

 

 

 

 

 

 

 

อดีตพระพุทธะอิสระ (สุวิทย์)   :   อดีตพระพรหมสิทธิ (ธงชัย)

 

 

 

แต่ปัญหาของอดีตเจ้าคุณธงชัยยังมิได้สิ้นสุดเพียงแค่ "รอลงอาญา" เพราะว่า รูปคดีของเจ้าคุณธงชัยนั้น ไปพ้องกับคดีของ "อดีตพระพุทธอิสระ-สุวิทย์" แห่งวัดอ้อน้อย ซึ่งศาลอาญาพิพากษา "จำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษ ให้รอลงอาญา เป็นเวลา 1 ปี"

 

 

ทีนี้ว่า เมื่อครบเวลา "รอลงอาญา 1 ปี" แล้ว พุทธะอิสระก็ประกาศ "จะกลับมาห่มผ้าเหลือง" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า "พุทธะอิสระถูกทางการจับสึก ในทางกฎหมายจึงถือว่ามิใช่พระสงฆ์อีกต่อไป" ทำให้พุทธะอิสระไม่กล้ากลับมานุ่งผ้าเหลืองจนบัดนี้

 

 

ทีนี้ว่า คดีของเจ้าคุณธงชัย มาพ้องกับคดีของพุทธะอิสระ ศาลให้รอลงอาญาเหมือนกัน ถามว่า ถ้าพ้นเวลารอลงอาญาแล้ว อดีตเจ้าคุณธงชัย จะสามารถกลับมาห่มผ้าเหลืองได้ไหม ?

 

 

ปัญหาข้อนี้น่าจะหมดไป ถ้าหากว่าก่อนหน้านี้ พุทธะอิสระกล้าห่มผ้าเหลืองและไม่ถูกจับสึก เจ้าคุณธงชัยก็ไม่ต้องตีความกฎหมายอีกต่อไป ออกศาลอาญามาปุ๊ปก็ทำพิธีห่มผ้าเหลืองใหม่ได้ทันที เพราะมีตัวอย่างอยู่แล้ว จึงเสียดายที่พุทธะอิสระไม่กล้า

 

 

ขณะเดียวกัน อดีตพระพรหมดิลก หรือเจ้าคุณเอื้อน วัดสามพระยา แม้ว่าจะถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา (แต่ประกันตัวออกมาสู้คดี) แม้ว่าคดีจะสิ้นสุด แต่ในคำพิพากษานั้น "ไม่มีการทุจริต" เป็นแต่เพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถือว่าเป็นโทษทางกฎหมาย จึงต้องตีความกันต่อไปว่า "ผิดพระวินัยขั้นปาราชิกหรือไม่"

 

 

 

ถ้าผิดพระวินัยขั้นปาราชิก อดีตเจ้าคุณเอื้อนก็ไม่สามารถบวชได้

 

 

แต่ถ้าไม่ผิดพระวินัย ในระดับปาราชิก อดีตเจ้าคุณเอื้อน ถ้าพ้นโทษจำคุกมาแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิห่มผ้าเหลืองได้อีกครั้ง เว้นแต่รัฐบาลจะไม่ยอม เพราะถือว่ามิใช่พระแล้ว และดำเนินคดีในข้อหา "แต่งกายเลียนแบบพระภิกษุ" แบบนี้ก็ต้องสู้คดีกันอีกยก

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อไล่เรียงและเทียบเคียง "รูปคดี" ของทั้งพุทธะอิสระ เจ้าคุณเอื้อน และเจ้าคุณธงชัย ก็จะเห็นว่า มีความลักลั่นกันอย่างชัดเจน โดยเหตุปัจจัยหลักๆ ก็คือ คดีของพุทธะอิสระนั้น แม้จะต่อต้านอำนาจรัฐ แต่เป็นรัฐเก่า ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นการเปิดประตูให้ทหารอันนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาทำการปฏิวัติ และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โทษของพุทธะอิสระจึงเบากว่าเพื่อน เหมือนกับว่า รัฐบาลทำทีจับพุทธะอิสระไป "ฟอกตัวชั่วคราว" แล้วก็ปล่อยกลับวัด

 

 

ส่วนเจ้าคุณเอื้อนนั้น ทำใจดีสู้เสือ ออกมามอบตัวก่อนเพื่อนในรัฐบาลทหาร ส่งผลให้คดีความเดินหน้าไว และคำพิพากษาออกมาในรัฐบาลทหาร ผลปรากฏว่า โดนแรงสองเท่า แถมไม่รอลงอาญา

 

 

กลับกันกับ เจ้าคุณธงชัย ซึ่งแรกนั้นหนีไปได้ 5-6 วัน แม้จะกลับมามอบตัว ก็ช้ากว่าเจ้าคุณเอื้อนไปมากมาย ศาลจึงน่าจะปรานีเจ้าคุณเอื้อนมากกว่าเจ้าคุณธงชัย แต่คดีของเจ้าคุณธงชัยนั้นเริ่มทีหลัง จนพ้นรัฐบาลทหาร ผ่านเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเพิ่งจะตัดสินเอาในวันนี้ ส่งผลให้รูปคดีที่ดูแรงกว่าเจ้าคุณเอื้อน ออกมาเบากว่ามากมาย

 

 

นั่นแสดงให้เห็นว่า คดีของ "พุทธะอิสระ-เจ้าคุณเอื้อน-เจ้าคุณธงชัย" ทั้งสามท่านเหล่านี้ เป็นคดีการเมือง เพราะถูกการเมืองชี้นำ และรูปคดีมีการโอนอ่อนผ่อนตามกระแสการเมือง ในรัฐบาลทหารและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

 

 

 

 

 

คำถามจึงไปลงตรงตัวของ "พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์" อดีต ผอ.พศ. ว่า "เป็นคนตงฉินจริง หรือเป็นเพียงมือปืนรับจ้าง" และ "ไปทำไมวัดปากน้ำถึง 2 ครั้ง ก่อนเกษียน" ทั้งๆ ที่ก็ทำการต่อต้านสมเด็จช่วง จนท่านร่วงจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ไปแบบไม่มีวันหวนกลับ กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นก็ต้อง..ตอบสนองให้แก่ผู้ก่อ ซึ่งคงต้องรอ "วันตาย" เท่านั้น จะเป็นวันสุดท้ายที่ตัดสินชีวิตคน

 

 

 

 

 

 

จำคุก 36 เดือน ปรับ 27,000 บาท "พระพรหมสิทธิธงชัย" แต่ให้รอลงอาญา

 

ศาลจำคุก 36 เดือน-ปรับ 2.7 หมื่นบาท "พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ สนับสนุนจัดสรรเงินงบประมาณสำนักพระพุทธฯ กว่า 69 ล้าน ไม่ชอบ แต่เห็นว่าเผยแพร่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไม่เคยกระทำผิดวินัย จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 -ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษสนับสนุนจัดสรรเงินงบประมาณ พศ. กว่า 60 ล้านไม่ชอบ แต่ทำงานสร้างคุณประโยชน์คณะสงฆ์-สถาบันการศึกษาต่อเนื่องไม่เคยทุจริต ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วน "พนม-คณะบริหาร พศ." ไม่รอด เจอคุกถ้วนหน้า 19 พ.ค.รอฟังตัดสินอีกสำนวน "ตัวแทนลูกศิษย์" บอกเล็งใช้สิทธิอุทธรณ์คดี เรื่องขอคืนสมณศักดิ์ ยังไกลไปขอลุ้นคดีถึงที่สุด

 

 

ที่ห้องพิจารณา 703 าลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี เวลา 10.10 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดี "ทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)" คดีหมายเลขดำ อท.251/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2  เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง

 

 

นายพนม ศรศิลป์ อายุ 60 ปี อดีตผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.)

 

นายชยพล พงษ์สีดา อายุ 64 ปี อดีตรอง ผอ.สำนักงาน พศ.

 

นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อายุ 50 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

 

พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือนายธงชัย สุขโข อายุ 64 ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร , อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม

 

 

เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157 ประกอบมาตรา 83-86-91

 

 

โดยคดีนี้ อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.61 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.58 - 22 ก.ค.59 พวกจำเลย ได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณ ของสำนักงาน พศ. ประจำปี 2559 จำนวน 69,700,000 บาท (จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 5,360,188,000 บาท) ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้ "วัด" เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงิน ด้วยการให้ "วัด" โดยเจ้าอาวาส เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนที่เบียดบังมา จากที่ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนในโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม จำนวน 37,200,000 บาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ซึ่งวัดสระเกศฯ ได้รับอนุมัติเงินไปเพียงวัดเดียว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.61 "พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์" ผอ.สำนักงาน พศ. ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการส่งเรื่องให้ ปปช. ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งมีคำขอท้ายฟ้อง ขอศาลให้มีคำสั่งจำเลยที่ 1-5 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 69,700,000 บาท คืนแก่สำนักงาน พศ. ผู้เสียหาย พร้อมขอให้ศาลนับโทษจำคุก "นายพนม" อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 กับคดีหมายเลขดำ อท. 253/2561 , อท.254/2561 (ร่วมทุจริตการจัดสรรเงินงบ พศ.) ของศาลนี้ และ "พระพรหมสิทธิ" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 กับคดีหมายเลขดำ อท.197/2561 (ร่วมฟอกเงิน) ของศาลนี้ด้วย

 

ขณะที่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ "นายพนม" อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งได้ถูกดำเนินคดีหลายสำนวนในศาลนี้ ส่วน "พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ นั้นก็เพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.62 โดยศาลตีราคาหลักประกัน 2.5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 1 เดือนไปจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาและห้ามเดินทางอกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก

 

 

โดยวันนี้ "พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จำเลยที่ 5 สวมชุดขาวมาศาลพร้อมคณะลูกศิษย์ ส่วนจำเลยที่ 1- 4 นั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำวันนี้ศาลได้เบิกตัวทั้งหมดมาพร้อมฟังคำพิพากษา

 

 

ขณะที่ "ศาล" พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารงานและดำเนินการตามภารกิจของสำนักงาน พศ. และมีอำนาจอนุมัติโครงการ แผนงานต่างๆ ตามการจัดสรรงบประมาณ และตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ ในช่วงเกิดเหตุปี 2558-2559 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนใน 2 โครงการ คือโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ให้กับศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศ ที่มีจำเลยที่ 5 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ต่อสู้ว่าไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย 

 

 

กรณีที่กล่าวหาก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าอาวาสวัด แต่เป็นประธานศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 5 จะอ้างว่ากรณีที่ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าอาวาส แต่ในเอกสารที่ลงชื่อก็กำกับท้ายเจ้าอาวาส ขณะที่ศูนย์สำนักงานส่งเสริมฯ ก็อยู่ในความดูแลของวัดสระเกศฯ ที่จำเลยที่ 5 มีอำนาจบริหารจัดการดูแลภายในวัด ส่วนที่โจทก์ฟ้องก็ฟ้องจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5

 

 

โดยการอนุมัติจัดสรรงบประมาณโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาท นั้น ได้โอนเงินให้กับวัดสระเกศ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มีหนังสือแจ้งกลับจำเลยที่ 1-4 ที่เป็นผู้บริหารงบประมาณว่าได้รับเงินที่จัดสรรมาแล้ว ศาลเห็นว่า ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น ตามมติของมหาเถรสมาคม ให้สำนักงาน พศ. พิจารณาที่จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมในเชิงรุก ซึ่งจะกำหนดแผนไว้ 3 ไตรมาส และกำหนดจำนวนคนที่จะเข้าโครงการอบรมฯ จำนวน 6 หมื่นคน ประจำปีงบประมาณ 2559

 

 

แต่ในการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศ ที่จำเลยที่ 5 ดูแล กลับดำเนินการได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย โดยมีผู้ร่วมโครงการจำนวน 22,000 คน กลับขอเงินอุดหนุนและได้รับอนุมัติถึง 30 ล้านบาท เพียงวัดเดียว ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมาณ ต้องการให้กระจายงบในวัดทั่วประเทศจำนวน 39,400 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมเช่นเดียวกันประมาณ 7,500 แห่ง โดยเมื่อเทียบดูเวลาการอนุมัติเงินให้วัดสระเกศนี้ ได้กระทำในช่วงต้นของปีงบประมาณดังกล่าว ทั้งที่ไม่ใช่กรณีเร่งรัด จำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องรีบอนุมัติเงินจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งควรจะมีการส่งเรื่องให้คณะเลขานุการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานตรวจดูก่อน หากพบว่ามีการใช้งบประมาณไม่ได้เต็มที่หรือเกินความจำเป็น ก็สามารถที่จะเรียกคืนเงิน เพื่อมาจัดสรรให้กับส่วนอื่นได้อีก

 

 

การกระทำส่วนนี้จึงเป็นการอนุมัติงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่จัดสรรให้กับวัดสระเกศเพียงวัดเดียว โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเป้าหมาย ส่วนงบประมาณจำนวน 7 ล้านบาท ในโครงการนี้ ตามทางนำสืบพบว่า เป็นการอนุมัติงบที่สืบเนื่องมาจากงบประมาณปี 2558 ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา การกระทำของจำเลยที่ 1-5 ส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

 

 

ส่วนการอนุมัติงบประมาณให้กับโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท วัดสระเกศฯ ก็ได้จัดสรร 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 26 ล้านบาท ครั้งที่สองจำนวน 6.5 ล้านบาท ซึ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายก็ต้องวางแผนจัดกิจกรรมใน 3 ไตรมาส แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวที่กำหนดให้วัดซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณต้องกระทำให้ครบทั้ง 6 ด้าน อาทิ ด้านการปกครอง การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา สาธารณสงเคราะห์พระภิกษุหรือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ แต่นำไปจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและนำไปจัดทำเป็นรูปแบบสารคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนที่อ้างเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งแม้กิจกรรมส่วนหนึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

 

แต่ก็ไม่ได้เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดสรรงบอีกทั้งยังเป็นการดำเนินการให้กับวัดสระเกศฯ เพียงแห่งเดียว จากวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีส่วนงานเผยแผ่ 7,424 แห่ง นอกจากนี้การอนุมัติเงินงบประมาณให้กับ 2 โครงการของวัดสระเกศฯ ตามทางนำสืบยังได้ความจากจำเลยตอบการถามของอัยการโจทก์ว่า ก่อนการอนุมัติเหมือนมีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการอนุมัติเงินงบประมาณทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอดีตอาวาสวัดสระเกศ จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฯ

 

 

สำหรับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนฯ นั้น ในความผิดฐานนี้จะต้องฟังได้ว่าผู้กระทำผิดได้นำทรัพย์ที่เบียดบังมาไปใช้ประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น แต่ตามทางนำสืบรับฟังได้ว่าเมื่อจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทางวัดก็ได้นำไปจัดกิจกรรมตามโครงการ แต่ไม่ครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งหมด อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณฯ โดยตามทางนำสืบก็ยังไม่มีหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 นำเงินงบประมาณนั้นไปเป็นของตัวเอง

 

 

ซึ่งประเด็นนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบิกความว่า ในการทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินงบประมาณไปดำเนิน 2 โครงการนี้ ไม่มีการทุจริต โดยเงินนั้นนำไปใช้ประชาสัมพันธ์งานของคณะสงฆ์ ซึ่งในขั้นตอนนั้นไม่มีการวางระเบียบของคณะสงฆ์เรื่องการใช้จ่ายเงินไว้เป็นที่ชัดเจน จึงทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจคลาดเคลื่อน การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147 ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยร่วมกันคืนเงินให้กับสำนักงาน พศ. ผู้เสียหายด้วยนั้น เมื่อฟังได้ว่ามีการใช้งบประมาณไปจัดกิจกรรมด้านศาสนาแล้ว จึงไม่ต้องร่วมกันคืนเงินในส่วนนี้

 

พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุก "นายพนม" อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. จำเลยที่ 1 จำนวน 2 กระทงๆ ละ 2 ปี รวม 4 ปี , จำเลยที่ 2-4 จำคุก 3 กระทงๆ ละ 2 ปี รวม 6 ปี ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

 

 

ส่วน "พระพรหมสิทธิ" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จำเลยที่ 5 จำคุก 3 กระทงๆ ละ 1 ปี 4 เดือน และปรับกระทงละ 12,000 บาท รวม 3 ปี 12 เดือนและปรับ 36,000 บาท ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86

 

 

คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 4 คงจำคุก จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 12 เดือนและให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่มีโทษจำคุก 20 ปีและโทษจำคุก 3 เดือน คดีหมายเลขดำ จส.2/2562 ของศาลนี้ด้วย , จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท

 

โดยในส่วนของ "พระพรหมสิทธิ" อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จำเลยที่ 5 เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาวะแห่งจิต สิ่งแวดล้อม และสภาพความผิดของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นพระภิกษุ เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัย เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นผู้มีบทบาทในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับคณะสงฆ์ สังคม และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา จนได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขาจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ที่พระพรหมสิทธิ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชาคณะชั้นธรรม และรองลงมาจากสมเด็จพระราชาคณะ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 ประกอบกับไม่มีเรื่องการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนวนคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่มีการกล่าวหากลุ่มของ

 

นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. นั้น ประกอบด้วยคดีของนายพนม 9 สำนวน ที่มีอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง และภาค 7 (ในภาค 7 หมายเลขดำ อท.3/2562)

นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรอง ผอ.พศ. 2 สำนวน

นายณรงค์เดช ชัยเนตร ผอ.กองเผยแผ่ฯ 3 สำนวน

นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี นักวิชาการพุทธศาสนาชำนาญการ 5 สำนวน

 

ที่มีอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง และภาค 7 (ในภาค 7 หมายเลขดำ อท.3/2562)

 

และ พระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือนายธงชัย สุขโข อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ 2 สำนวน

 

โดยในวันที่ 19 พ.ค.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีกล่าวหาฟอกเงินทุจริตการจัดสรรงบประมาณ พศ. อีกสำนวน ในคดีหมายเลขดำ อท.197/2561 ด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนของ นายพนม อดีต ผอ.พศ. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง ได้มีคำพิพากษาไปในคดีหมายเลขดำ จส.2/2562 นั้น เป็นกรณีที่ ป.ป.ช.ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2557 จำนวน 7 รายการ (รายการเงินฝาก เงินลงทุน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ) จำนวน 43,900,256.45 บาท อันเป็นเท็จ ซึ่งนายพนมให้การรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาว่า นายพนมจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯอันเป็นเท็จ กรณีเข้ารับตำแหน่ง ผอ.พศ. ให้จำคุก 6 เดือน ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 คำรับสารภาพมีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง จึงจำคุกในคดีนี้เป็นเวลา 3 เดือน

 

อย่างไรก็ดี สำหรับคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง มีคำตัดสิน นายพนม อดีต ผอ.พศ. ไปสำนวนแรก คือ คดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง

 

นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ.

นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน พศ.

นายเจษฎา วงศ์เมฆ ฆราวาสติดต่อหาวัด

นายชรินทร์ มิ่งขวัญ ฆราวาส ทำหน้าที่ติดต่อหาวัด

 

เป็นจำเลยที่ 1-4 โดยศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.62 ให้จำคุก "นายพนม" อดีต ผอ.พศ. จำเลยที่ 1 และ "นายวสวัตติ์" อดีต ผอ.ส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ จำเลยที่ 2 รวม 4 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นจำคุกคนละ 20 ปี

 

ส่วน "นายเจษฎา" จำเลยที่ 3 ให้จำคุก 4 กระทงๆ ละ 3 ปี 4 เดือน เป็นจำคุก 12 ปี 16 เดือน และ "นายชรินทร์" จำเลยที่ 4 ฆราวาสซึ่งทำหน้าที่ติดต่อหาวัด จำเลยที่ 4   จำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยจำเลยที่ 3-4 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งให้จำคุก "นายเจษฎา" จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน ส่วน "นายชรินทร์" จำเลยที่ 4 จำคุก 1 ปี 8 เดือน

 

 

นอกจากนี้ ศาลให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันคืนเงิน 12 ล้านบาทแก่สำนักงาน พศ. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 ฆราวาส ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อหาวัด ให้รับผิดคืนเงิน 3 ล้านบาท ตามที่อัยการมีคำขอด้วย ซึ่งคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

 

 

อย่างไรก็ดี นอกจากการกล่าวหาร่วมทุจริตจัดสรรเงินงบประมาณสำนักงาน พศ. แล้ว ยังมีคดีกล่าวหาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในวัดพื้นที่ กทม.หลายแห่ง รวมทั้งต่างจังหวัดอีกด้วย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินการทุจริตจัดสรรงบประมาณสำนักงาน พศ. ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯกลาง ก็มีคำตัดสินคดีฟอกเงินฯไปแล้ว 2 สำนวน ประกอบด้วย

 

 

1. คดีหมายเลขดำ อท.38/2561 กล่าวหาฟอกเงินจากการที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อายุ 61 ปี อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. (ตัวยังหลบหนี) คดีทุจริตจัดสรรงบประมาณ จำนวน 28 ล้านบาท ให้วัด 12 แห่งในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ , ตาก , นครสวรรค์ ชุมพร โดยมิชอบ ที่ลงโทษจำคุก "นายสมเกียรติ ขันทอง" อดีตพระครูกิตติ พัชรคุณ อดีตเจ้าคณะอำเภอชนแดน จ.เพชรบูรณ์ และอดีตเจ้าอาวาสวัดลาดแค อายุ 56 ปี รวม 13 กระทง เป็นเวลา 26 ปี (ตัดสินวันที่ 18 เม.ย.62 คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยไม่ได้ประกันตัว)

 

 

2. คดีหมายเลขดำ อท.196/2561 กล่าวหาฟอกเงินจำนวน 5 ล้านบาท ในงบส่วนอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งที่ไม่มีการดำเนินโครงการ โดยเจ้าอาวาสวัดสามพระยา นำงบที่ได้มานั้นไปใช้ก่อสร้างอาคารร่มธรรมแทน ทั้งที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินนั้นมาตั้งแต่แรก ที่ลงโทษ 2 กระทง "นายเอื้อน กลิ่นสาลี" อายุ 75 ปี อดีตพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา , กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) , เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี  และ "นายสมทรง อรรถกฤษณ์" อายุ 53 ปี อดีตพระอรรถกิจโสภณและเลขาเจ้าคณะกรุงเทพ จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี (ตัดสินวันที่ 16 พ.ค.62 คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ทั้งสองได้ประกันตัวคนละ 2 ล้านบาท) โดย "นายเอื้อน กลิ่นสาลี" อายุ 75 ปี อดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ยังถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 5 ในคดีหมายเลขดำ อท.254/2561 ร่วมกับนายพนม อดีต ผอ.สำนักงาน พศ. และพวกรวม 5 คนที่มีทั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่ กับฆราวาส ร่วมกันทุจริตเงินงบประมาณ พศ.อีก 1 สำนวนด้วย (คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา)

 

 

 

 

ที่มา : ไทยรัฐ-ผู้จัดการ-คมชัดลึก : 19 กุมภาพันธ์ 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264