เล็งเป้าเจ้าคุณประสาร !

 

ผู้จัดการจับมัดสามเส้า

เข้ากับธรรมกายและพรรคเพื่อไทย

ตั้งข้อหาหนัก "ลดอำนาจ" สำนักพุทธฯ

 

 

 

 

 

 

 

อา.. อุตส่าห์สับขาหลอก ออกนอกไปรับตำแหน่ง "กรรมการบริหาร" วัดพระธาตุดอยสุเทพ ยูเอสเอ ก่อนจะตีกรรเชียงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกลับมาขึ้นเวทีรัฐสภา ก็ยังถูกจับไต๋จนได้ว่า..อิงอาศัยการเมือง และเอื้ออาทรธรรมกาย

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

 

 

คำตอบก็น่าจะเป็นดังที่เห็น คือเจ้าคุณประสาร "เลือก" ที่จะเดินเข้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ภายใต้แบรนด์ "ชินวัตร" ซึ่งเพิ่งจะประกาศ "อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล" ไปหยกๆ กว่าจะถึงวันเชือดจริง ก็คงจะมีรายการแบไต๋อีกหลายรอบ

 

 

แต่แรกนั้น เจ้าคุณประสาร ออกมาส่งเสียงเรียกร้องขอความเป็นธรรมว่า การที่ตนเองไปรับตำแหน่งอนุกรรมาธิการศาสนานั้น น่าจะไม่ผิด เพราะเป็นเรื่องศาสนา แม้ว่าจะเกี่ยวกับการเมืองก็เลี่ยงไม่ได้ ไม่ได้เป็นกรรมาธิการการทหารหรือการเงินซักหน่อย อีกอย่าง ในอดีตก็เคยมีพระเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการมาแล้วหลายรุ่น ไม่เห็นมีปัญหา แต่พอเจ้าคุณประสารจะเป็นมั่ง ทำไมตั้งป้อมค้าน ตอบแบบนี้ถือว่าสมเหตุสมผล คนค้านก็ค้านไม่ขึ้น แต่ครั้นไปดูสมาชิกในอนุกรรมาธิการคณะนี้ ก็ปรากฏว่ามีชื่อ "ทีมธรรมกาย" ซึ่งสังกัดพรรคเพื่อไทย นั่งอยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่ตำแหน่งประธานยันเลขานุการ ทำเอาเจ้าคุณประสาร "จีวรสีเทา" เหมือนพระวัดป่าบ้านตาดไปในบัดดล ผู้จัดการจึงไม่ลังเลที่จะ..ตีปลาหน้าไซ ดึงชายจีวรไว้ตั้งแต่ยังมิทันเข้าห้องประชุม

 

 

และแล้วจากนั้นไม่กี่เพลา สิ่งที่ผู้จัดการ "หมายตา" เอาไว้ก็ไม่พลาด นั่นคือ จู่ๆ เจ้าคุณประสารก็เดินไปยังรัฐสภาเพียงคนเดียว ประกาศเสนอร่าง พรบ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งถ้าผ่านสภามาได้ ก็จะกลายเป็นเสือตัวใหม่ในวงการพระศาสนา เพราะว่าจะมีอำนาจคุ้มครองพระพุทธศาสนา ไปตราบนานเท่านาน งบประมาณก็มากมาย

แต่ดูสมาชิกรัฐสภา (ส.ส.) ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนและร่วมแถลงข่าวกับเจ้าคุณประสารในวันนั้น มันก็อดคิดไม่ได้ว่า "มาถูกทางหรือเปล่า" เพราะล้วนแต่เป็นสมาชิกของ..พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีหลายบทบาท

 

 

 

1. เป็นพรรคของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งบัดนี้ยังไม่ได้กลับเมืองไทย เพราะอะไรก็รู้ๆ กันอยู่

 

 

2. เป็นพรรคฝ่ายค้าน อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล แน่นอนว่าย่อมจะมีเสียงสนับสนุน "น้อยกว่า" ฝ่ายรัฐบาล การยื่นผ่านฝ่ายค้านจึงถือว่าน่าห่วง เพราะตามหลักการและเหตุผลแล้ว กฎหมายสำคัญๆ ต้องผ่านรัฐบาล จึงจะสง่างาม ถามว่ารัฐบาลจะปล่อยให้กฎหมายฝ่ายค้านผ่านไปอย่างไร ในเมื่อต้องใช้เงินงบประมาณที่รัฐบาลต้องหามาจ่าย แต่ผลงานกลับเป็นของฝ่ายค้านน่ะ ใครปล่อยให้ผ่านก็โง่บัดซบซีคะ อยากถูกตราหน้าว่าโง่ "สาม ป." ก็ลองดูซี เล่นการเมืองไม่เอาคะแนนเสียงแล้วเอาอะไร ?

 

 

3. แน่นอน เจ้าคุณประสาร ย่อมจะอ้างหลักการว่า "การทำงานเพื่อประเทศชาติพระศาสนา ไม่ควรแบ่งแยกเป็นฝ่ายไหน ใครก็ได้ที่ทำดี ก็ควรให้โอกาสเขา ไม่ควรเอาเรื่องสีมาเกี่ยวข้อง" ซึ่งก็ตรงกับคำประกาศของ "บิ๊กตู่" ที่คุยเว่อร์ว่า "ประเทศชาติเป็นของทุกคน ต้องช่วยกัน" แต่เอาเข้าจริงๆ มันทำได้จริงหรือเปล่า ในทางปฏิบัตินะ มิใช่ทฤษฎีที่ใครๆ ก็โม้ได้

 

 

4. ความจริงแล้ว พรบ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนานั้น เริ่มร่างกันในสมัยรัฐบาลทักษิณและสมเด็จเกี่ยวเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราช แต่พอถูก "หลวงตามหาบัว" ออกมาต่อต้าน หาว่าจะเป็นการ "ยึดอำนาจพระสังฆราชไปให้แก่มหาคณิศร" เท่านั้นเอง ทักษิณก็เก็บใส่ลิ้นชัก หลังจากนั้นก็เรื้อรังกันมาเรื่อยๆ จนเจ้าคุณประสาร "ปัดฝุ่น" ขึ้นมาใหม่ จะให้พรรคเพื่อไทยเข็นออกมาใช้ในวันนี้ ถามว่า พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ทั้งทักษิณ-สมัคร-ยิ่งลักษณ์ ได้เป็นรัฐบาลเป็นนายกฯ มาหลายสมัย ทำไมไม่ยอมผ่าน พรบ.ฉบับนี้ ทำไมเพิ่งจะมากระดี้กระด้าเอาในตอนนี้ ตอนที่ตกที่นั่งฝ่ายค้าน

 

 

5. ในร่างกฎหมายฉบับนี้ มีบางหมวด และหลายมาตรา ซึ่งถือว่าจะมีอิทธิพลมาก ทั้งด้านการเงินและบทลงโทษ ซึ่งจะมีอำนาจในการบริหารจัดการ โดยไม่ต้องผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการสร้างหน่วยงานใหม่ใหญ่กว่าสำนักพุทธฯ เหมือนเมื่อครั้งกรมการศาสนาจะสร้าง "พุทธสภา" นั่นแหละ ตอนนั้นสำนักพุทธฯ รีบระดมนักเตะออกมาเตะตัดขาจนล้มหายตายจากไปจนบัดนี้ ซึ่งมีข้อหาร้ายแรงว่า "ตั้งหน่วยงานซ้อนหน่วยงาน" แต่ตอนที่ตั้งสำนักพุทธฯ แยกออกจากกรมการศาสนาและใหญ่กว่ากรมการศาสนานั้น เรื่องมันนั้นมาแล้ว ก็แล้วๆ กันไป อย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ

 

 

6. แต่ถามว่า พระพุทธศาสนาเป็นของใคร ? เหตุใดจึงให้เจ้าคุณประสารทำงานอยู่คนเดียว มหาเถรสมาคมเอย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเอย หรือเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วไทย ไม่ว่าจะเป็นมหานิกายหรือธรรมยุต ทำไมไม่มีใครออกหน้ามาเดินเคียงข้างเจ้าคุณประสาร หรือจะรอรับอานิสงส์เหมือนสังฆทานจนเคยตัว มองมุมนี้ ก็ต้องถือว่าเจ้าคุณประสารกล้าเสี่ยงทำเพื่อคนมากมาย แม้จะมีสาวกธรรมกายรายล้อมก็ตาม มันก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อไม่มาตามนัดเอง ไม่มีจิตอาสาเพื่อพระศาสนา จะบวชมาทำไม มีมหาเถรสมาคมไว้ทำไม มีสังฆราชไว้ทำไม มีสำนักพุทธฯไว้ทำไม ???

 

 

7. ปัญหาธรรมกายนั้น จะไล่ตีไล่ต้อนตัวเล็กๆ เช่นเจ้าคุณประสาร ไม่มีทางทำอะไร "ท่านธัมมชโย" ได้หรอก ขนาด สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ออกพระลิขิตมาตั้งหลายเวอร์ชั่น แถมรัฐบาล คสช. ก็ออก ม.44 สั่งปิดวัด-ตรวจค้น อยู่นานเป็นเดือน ยังทำอะไรไม่ได้ ราชสำนักช่วย "ถอดยศ" ออกก็ยังหนีไปได้ จนป่านนี้ไม่รู้อยู่ไหน

 

 

8. ทำไม "ผู้จัดการ" ไม่เรียกร้องให้ "สังฆราชอัมพร" และ "รัฐบาลบิ๊กตู่" ไล่บี้ธรรมกายให้จนตรอก ออกมาด่าทำไมเจ้าคุณประสาร ซึ่งเป็นเพียงเบี้ยบนกระดาน ตัวเล็กๆ เท่านั้น หรือว่าได้ตำแหน่งสังฆราชและได้อำนาจรัฐมาแล้ว ก็สบายแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ข้อหา "ล้มล้างศาสนา ล้มเจ้าล้มนาย" เขามีไว้เพื่อเป็นเงื่อนไขให้ทหาร "ยึดอำนาจ" เท่านั้น

 

 

9. ตะที "สมเด็จช่วง" จะได้โอกาสเป็นสังฆราช ก็ถูกต่อต้านด้วยข้อหา "สนับสนุนและไม่ทำอะไรธรรมกาย" พอได้สังฆราชอัมพรมาเป็นแทน ก็เกิดโรคอุปาทานหมู่ ลืมข้อหานี้เสียสนิท ไม่มีใครพูดถึงเลย และไม่มีมีใครทำอะไรเลย

สรุปว่า ความบริสุทธิ์ยุติธรรม จะถูกนำมาใช้อ้าง ก็ต่อเมื่อมีผู้ต่อต้านรัฐ หรือมิใช่พรรคพวกของเรา แต่ถ้าเป็นพรรคพวกของเรา ถึงไม่ทำห่าอะไร พวกเราก็จะปล่อยไป เพราะพวกเราได้ประโยชน์ สมประโยชน์กันแล้ว  วังเวงประเทศไทย !

 

 

 

 


 

 

 

มจร. เขตปลอดบุหรี่ แต่ไม่ปลอดการเมือง

 

 

 

 

 

 

 

ถ้าไม่เล่นการเมือง การเมืองก็จะเล่นท่าน

แต่ถ้าเล่นการเมือง ท่านก็จะจมน้ำครำการเมือง

 

 

 

 

 

 

 

 

ไผเป็นไผ ในร่าง พรบ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา

 

 

 



 

 

 

เจ้าคุณประสารดัน พ.ร.บ.อุปถัมภ์ฯ-ลดอำนาจสำนักพุทธฯ

 

เจ้าคุณประสารรุกหนัก จับมือ "พรรคเพื่อไทย-ศิษย์ธรรมกาย" ในร่างอนุกรรมาธิการศาสนาฯ เดินหน้าสุดตัวดันร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ฉบับใหม่ สานฝันตั้งกองทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ขอเงินรัฐบาลประเดิมพันล้าน ลดบทบาทสำนักพุทธฯ ไปในตัว ส่วนคณะกรรมการประจำจังหวัด สอดรับกับสมาพันธ์ชาวพุทธฯ เคยตั้งไว้ก่อนหน้า



ภายหลังการตั้งอนุกรรมาธิการศาสนาขึ้นมาช่วยงานกรรมาธิการศาสนา(ชุดใหญ่) ได้ไม่นานนัก อนุกรรมาธิการชุดนี้ก็คลอดผลงานออกมาเป็นร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ออกมา โดยหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่เปิดแถลงข่าวถึงความสำเร็จคือพระเมธีธรรมาจารย์ ที่รู้จักกันดีในนามเจ้าคุณประสาร ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการ

โดยมีนายนิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทยและคณะ ที่ได้เสนอกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ต่อรัฐสภา เมื่อ 18 ธันวาคม 2562 และมีนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านและคณะให้การสนับสนุน

เจ้าคุณประสารโต้โผ

เจ้าคุณประสารกล่าวว่า ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในปีใหม่ 2563 พ.ร.บ.นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการพระศาสนา เพราะจะเป็นเรื่องของการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและยั่งยืนสืบไป

พระพุทธศาสนาจะมั่นคง ยืนยาวได้ด้วยเหตุหลักคือ 1.คณะสงฆ์และพุทธบริษัทเข้มแข็ง 2.รัฐให้การอุปถัมภ์ ปกป้องและคุ้มครอง ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาจะเห็นได้ชัดว่าเมื่อพระพุทธศาสนาไปเจริญในประเทศใดๆ ก็มักจะมองเห็นสาเหตุทั้ง 2 ประการนี้เป็นสิ่งที่เกื้อหนุนกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้

อาตมาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะช่วยกันพิจารณาด้วยจิตอันเป็นกุศลและตามกรอบระยะเวลาที่ควรจะเป็น หวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นด้วยและให้การสนับสนุนในทุกพรรคการเมือง แน่นอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมไม่สมบูรณ์ทั้งหมดแต่อยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการในวาระแรกและไปช่วยกันแก้ไขแต่งเติมให้สมบูรณ์ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ และในการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาต่อไป


แจงเพิ่มพึ่งเพื่อไทย


แต่การเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ถูกตั้งข้อสังเกตจากบุคคลภายนอกไม่น้อย ถึง ส.ส.ที่เข้ามาร่วมกันเสนอร่างฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคเพื่อไทย รวมถึงบทบาทของพระสงฆ์ที่เข้ามาทำงานให้กับภาคการเมือง

เจ้าคุณประสารได้ออกโรงชี้แจงแทนว่า ส.ส.ดร.นิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ท่านเคยบวชเรียนเป็นพระมหาและเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นธรรมดาที่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านใดเมื่อจะเสนอพระราชบัญญัติใดๆในสภาฯ จะต้องแสวงหาพรรคพวกในพรรคตัวเองเป็นหลัก เมื่อพบกันในที่ประชุมพรรคบ้าง นั่งในห้องเดียวกันบ้างก็ขอแรงช่วยเซ็นเสนอ พ.ร.บ.ให้หน่อยเพื่อให้ครบตามจำนวนชื่อที่รัฐธรรมนูญกำหนด

พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นถึงพระสงฆ์ต้องเข้ามาร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้ รายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่ารูปร่างหน้าตาควรจะออกมาอย่างไรนั้น อันนี้ล่ะควรจะเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่จะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง ไม่เพิกเฉย พระสงฆ์จึงสมควรยิ่งที่จะมีบทบาทสำคัญในส่วนของขั้นตอนนี้

ปัดฝุ่นของเก่า-เติมของใหม่

แหล่งข่าวด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์ฯ นี้เคยมีการเสนอมาในหลายยุคหลายสมัย ในช่วงปี
2558 ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็เคยมี แต่สุดท้ายก็ถูกสกัดในชั้นต่างๆ อย่างรอบนี้ที่เจ้าคุณประสารเป็นโต้โผ เชื่อว่าน่าจะเป็นการนำเอาของเดิมบางส่วนมาปรับใช้ ตัดส่วนที่ไม่ต้องการและเพิ่มส่วนที่อยากให้เป็นเข้าไป

ร่าง พ.ร.บ.นี้เผยแพร่เฉพาะกับกลุ่มที่มีความคิดเห็นในทางเดียวกัน มีทั้งหมด 7 หมวด 52 มาตรา โดยให้เหตุผลว่า

พระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักใน 3 สถาบัน คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งศาสนาพุทธเป็นสถาบันศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และศาสนบุคคลซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาสั่งสอนให้คนในชาติตั้งอยู่ในศีลธรรม มีสติปัญญาและความเข้มแข็งอันเป็นหลักในการค้ำจุนชาติไทยมาโดยตลอด สมควรสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นพลังสร้างความมั่นคงแก่ชาติไทย

แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะได้รับความอุปถัมภ์และส่งเสริมกิจการจากรัฐอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมงานหลักของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ทั้งประชาชนทั่วไปยังมิได้มีส่วนร่วมในการให้ความอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จำต้องมีกำลังเสริมให้งานพระพุทธศาสนาดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาของรัฐร่วมกับภาคเอกชนเป็นการผนึกกำลังกันเสริมความมั่นคงแก่พระพุทธศาสนาและสร้างประสิทธิภาพในการนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเสริมสร้างความมั่นคงแก่ชาติไทยมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ตัวอย่างมาตรา

สำหรับรายละเอียดในบางมาตราอย่าง มาตรา 6 การอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐจัดให้มีการระดมเงินและทรัพยากรทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ และต่างประเทศมาใช้เพื่อการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมและให้แรงจูงใจในการระดมเงินและทรัพยากรดังกล่าว โดยการใช้มาตรการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีตามความเหมาะสมและความจำเป็น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติ"



มาตรา 17 ให้มีคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด

มาตรา 38 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรียกว่า
"กองทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา" เพื่อเป็นทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา

มาตรา 52 ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรเงินเข้าบัญชีกองทุนตามมาตรา 38 เป็นจำนวน "หนึ่งพันล้านบาท" เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน


ลดบทบาทสำนักพุทธฯ

นี่เป็นเพียงเฉพาะบางมาตราที่มีการเปิดเผยออกมาเท่านั้น อย่างในร่างฉบับก่อนๆ ได้มีบทลงโทษสำหรับบุคคลหรือพระที่สร้างความเสียหายให้กับพระพุทธศาสนา ทั้งโทษปรับและจำคุก


นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกประการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอให้มีกองทุนอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ตรงนี้เท่ากับเป็นการลดบทบาทของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติลง เพราะเดิมงบประมาณบูรณะต่างๆ จะต้องขอจากสำนักพุทธฯ อีกเรื่องอย่างคณะกรรมการอุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด ซึ่งสำนักพุทธฯ ก็มีทุกจังหวัดเช่นกัน และที่น่าจับตามองนั่นคือก่อนหน้านี้สมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทยของ ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ก็เคยมีการตั้งคณะกรรมการในแต่ละจังหวัด ก่อนที่จะแปรสภาพสมาพันธ์ฯ เป็นพรรคแผ่นดินธรรม และยกให้นายกรณ์ มีดี ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

เคยเรียกร้องมาก่อน

ก่อนหน้านี้สายของพระผู้ใหญ่กลุ่มนี้ต่างเคยเสนอเรื่องให้บรรจุว่า ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มาแล้วแต่ไม่ประสบผล หรือเคยนำเสนอเรื่องธนาคารพุทธ แต่ก็ถูกสกัดไปก่อนหน้าเช่นกัน กลุ่มนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยได้ไปกราบสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ซึ่งเป็นการย้อนรอยกรณีที่รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ผู้นับถือศาสนาอิสลามไปประกอบพิธีฮัจญ์

หากย้อนกลับไปจะพบว่าท่านเจ้าคุณประสารเองเคยคัดค้านเรื่องแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ มาตรา 7 เนื่องจากหนุนสมเด็จช่วงฯ วัดปากน้ำ ขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จนเกิดการก่อม็อบพระที่พุทธมณฑล เคยคัดค้านเหตุที่ไม่มีการจัดตั้งธนาคารพุทธ

แม้ไม่พบความเกี่ยวข้องกับสายของวัดพระธรรมกาย แต่เป็นที่ชัดเจนว่าท่านสนับสนุนสายของอดีตพระผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม ที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งไปบ้าง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เป็นสายเดียวกันเข้ามารับหน้าที่แทน


ผนึก ธรรมกาย-พระผู้ใหญ่-เพื่อไทย


การเลือกตั้งในรอบนี้แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ท่านเจ้าคุณประสารยังสามารถเข้ามาร่วมทำงานกับสายงานของพรรคเพื่อไทยได้ในส่วนของกรรมาธิการศาสนา ที่มีนางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล เป็นรองประธานคนที่ 1 และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการอีกตำแหน่งหนึ่ง ส.ส.ชัยภูมิจากพรรคเพื่อไทยรายนี้เป็นศิษย์วัดพระธรรมกายและยังมีนามสกุลเดียวกับพระถวัลย์ศักดิ์ ยติสักโก รอง ผอ.สำนักพัฒนาทรัพยากร วัดพระธรรมกาย


และยังมีทนายความพระธัมมชโยอย่างนายสัมพันธ์ เสริมชีพ เป็นอนุกรรมาธิการ ท่านเจ้าคุณประสารเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ แถมด้วยนางสาวลีลาวดี วัชโรบล ศิษย์วัดพระธรรมกายตัวยง เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการศาสนา

อีกทั้งภายในการทำงานคณะอนุกรรมาธิการศาสนายังพบพระสงฆ์หลายรูปเข้ามาร่วมทำงานด้วย หนึ่งในนั้นคือ พระครูปลัดกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่งเป็นทีมงานของศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย โดยเจ้าคุณประสาร ยังเป็นเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขณะที่ พระธรรมกิตติเมธี เจ้าคณะภาค 16-17-18 (ธ) ประธานศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และยังเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ทีมงานชุดนี้ เกาะเกี่ยวกันมาตลอดตั้งแต่ในอดีต ในช่วงรัฐบาล คสช. อาจถูกสกัดจนต้องลดบทบาทตัวเองลงไปบ้าง แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีช่องทางให้กลับเข้ามาได้ตามกรอบกติกา และพวกเขาได้กลับเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในการผลักดันสิ่งที่เป็นเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้

ส่วนจะสมหวังหรือไม่ ยังคงมีอีกหลายด่านที่ต้องฝ่าฟัน ทั้งในเวทีสภาผู้แทนราษฎรและยังต้องผ่านความเห็นชอบจากทางมหาเถรสมาคม ซึ่งร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์ฯ ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยผ่านด่านเหล่านี้มาได้เลย

 

 

 

ที่มา : ผู้จัดการ : 2 กุมภาพันธ์ 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264