แกะรอยมติมหาเถรสมาคม

 

นัดไหน ใครเป็นประธาน และออกมติอะไรบ้าง ?

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้รับการสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม จึงมีพระสังฆราชกิจต้องเสด็จไปประทับเป็นประธานในการประชุมมหาเถรสมาคม ที่พุทธมณฑล อยู่เป็นประจำ ซึ่งมหาเถรสมาคมนั้น จะประชุมเดือนละ 3 ครั้ง คร่าวๆ กำหนดไว้ในวันที่ 10-20-30 ของทุกเดือน แต่ถ้าในเดือนนั้น วันไหนตรงกับวันพระใหญ่ หรือตรงกับวันสำคัญของชาติ หรือมีเทศกาลสำคัญของประเทศชาติ ก็อาจจะเลื่อนหรือยกเลิกการประชุมได้

 

 

อย่างไรก็ตาม หากสมเด็จพระสังฆราช ทรงไม่สามารถเสด็จมาร่วมประชุมมหาเถรสมาคมได้ ด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ย่อมจะทรงมีพระอำนาจรับสั่งให้สมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง เป็นประธานแทน หรือหากมิได้มีพระบัญชาเป็นการเฉพาะ กฎหมายก็ระบุให้ สมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เป็นประธานการประชุมแทน

 

 

 

 

ตารางการประชุมมหาเถรสมาคมที่มีวาระสำคัญ

 

 

วันประชุม

ประธานการประชุม

ออกมติสำคัญ

20 กรกฎาคม 60 สมเด็จพระวันรัต
วัดบวรนิเวศวิหาร
ตั้งพระราชปริยัติสุนทร เป็นเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
20 พฤศจิกายน 62 สมเด็จพระวันรัต
วัดบวรนิเวศวิหาร
ตั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และเจ้าคณะภาคทั่วประเทศ
8  มกราคม 63 สมเด็จพระธีรญาณมุนี
วัดเทพศิรินทราวาส
ตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีต ผอ.พศ. เป็นบอร์ดพระปริยัติธรรม

 

 

 

 

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า วาระไหน ที่สมเด็จพระสังฆราช มิได้เสด็จมาเป็นประธานในการประชุมมหาเถรสมาคม ก็มักจะมีมติที่สำคัญๆ ออกมา และบางมติก็มีปัญหา อาทิเช่น

 

 

 

 

 

 

 

20 กรกฎาคม 60

ประชุม มส. ตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา

 

 

วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2560 หลังจากมีสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ได้เพียง 5 เดือน ก็เกิดเรื่องใหญ่ เมื่อในวันนั้น สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระประชวร สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และอยู่ในที่ประชุมด้วย จึงได้รับหน้าที่ประธานการประชุม มส. ในวันนั้น

 

 

ครั้นเสร็จการประชุมแล้ว ก็มีข่าวว่า ทางมหาเถรสมาคม โดยการเสนอของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม ได้เสนอให้แต่งตั้ง "พระราชปริยัติสุนทร" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม เจ้าคณะอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งว่างลง เพราะอดีตเจ้าคณะจังหวัดเกษียณอายุครบ 80 ปี

 

 

แต่มีปัญหาเข้ามาแทรก เมื่อมีหนังสือร้องเรียนจาก พระธรรมมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม ระบุว่า พระราชปริยัติสุนทร ไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ในหลายประเด็น โดยเฉพาะก็คือ เคยถูกสั่งพักงานในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงนานถึง 5 ปี จึงขอให้มหาเถรสมาคมทบทวนมติดังกล่าว

 

 

 

 

 

 

พงศ์พร จอมฟ้อง

 

 

หนังสือฉบับดังกล่าว ยื่นผ่านเลขาธิการมหาเถรสมาคม คือ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งในวันนั้น พ.ต.ท.พงศ์พร มิได้เข้าประชุมมหาเถรสมาคมด้วย แต่ได้มอบหมายให้ นายกนก แสนประเสริฐ รอง ผอ.พศ. มาประชุมแทน แต่อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.พงศ์พร ก็ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และรีบนำไปทูลถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อทรงโปรดพิจารณา ซึ่งปรากฏต่อมาว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมนัดต่อมา สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาร่วมประชุมด้วย และทรงรับรองมติมหาเถรสมาคม เรื่องการแต่งตั้งพระราชปริยัติสุนทร เป็นเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรานั้น ถูกต้องชอบธรรมทุกประการ เรื่องก็เลยเงียบไป

 

 

เหตุผลประการหนึ่ง ซึ่งเป็นข่าวก็คือ มีการอ้างว่า การประชุมมหาเถรสมาคม วันที่ 20 กรกฏาคม 2560 นั้น ไม่ชอบธรรม เพราะสมเด็จพระสังฆราช มิได้เสด็จมาประชุม ทำนองว่า มีการลักไก่ในที่ประชุม เอามติสำคัญเข้าประชุมในวันที่พระสังฆราชไม่อยู่ ซึ่งทางรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ได้ให้ความเห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช ย่อมทรงมีพระอำนาจในการกลับหรือเปลี่ยนแปลงมติมหาเถรสมาคมได้ ทั้งนี้ก็โดยวิธีการโปรดให้มหาเถรสมาคมพิจารณาใหม่ เหมือนมติคณะรัฐมนตรี ทำดังนี้ก็ไม่มีปัญหา

 

 

 

 

 

 

20 พฤศจิกายน 62

ประชุม มส. ตั้งเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาคทั่วประเทศ

 

 

 

ต่อมาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 มีการประชุมมหาเถรสมาคมที่พุทธมณฑล โดยสมเด็จพระสังฆราช มิได้เสด็จมาประชุม สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้มีอาวุโสสูงสุด จึงได้รับหน้าที่เป็นประธานการประชุมอีกครั้ง และครั้งนี้ มีการนำเอาโผเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ฝ่ายมหานิกาย และโผเจ้าคณะภาคทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย ทั่วประเทศ เข้ามาให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาด้วย โดยผู้ที่นำเข้ามาก็คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธ ในฐานะเลขานุการในสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้สมเด็จสุชินอ้างว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงโปรดให้นำเอาโผเจ้าคณะหน-เจ้าคณะภาค ให้มหาเถรสมาคมพิจารณารับทราบ ตามที่เจ้าคณะใหญ่ทั้งธรรมยุตและมหานิกายเสนอมา

 

 

แต่ปรากฏว่า มีหลายชื่อ หลายตำแหน่ง ในโผนั้น ที่มีปัญหาค้างคา ทั้งด้านคดีความที่ยังไม่สิ้นสุด และผลงานในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง และเกิดเหตุการณ์สำคัญทั้งด้านศาสนจักรและอาณาจักร นั่นคือ กรณีธรรมกายและพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องคดีอาญา แต่ไม่ยอมมอบตัว และหนีคดีไปจนบัดนี้ จึงถูกรัฐบาลและสำนักพระราชวัง สั่งถอดยศ ทั้งเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถือเป็นคดีใหญ่ในรอบพันปีของคณะสงฆ์ไทยเลยทีเดียว

 

 

จึงเกิดคำถามต่อการพิจารณาบัญชีรายชื่อพระสังฆาธิการระดับ "หน-ภาค" ครั้งนี้ ของมหาเถรสมาคมว่า ถูกต้อง เหมาะสม ชอบธรรม หรือไม่เพียงใด หาไม่แล้ว ก็จะเป็นบรรทัดฐานของการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในกาลภายหน้า แบบว่าท้าทายต่อบทบาทของมหาเถรสมาคมชุดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นชุดที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยตรง หากลงมติไปแล้วเกิดความเสียหายต่อกิจการพระศาสนา หรือกระทบต่อทางราชการบ้านเมือง ย่อมจะกระทบไปถึง "พระราชอำนาจ" อีกต่างหากด้วย เพราะทั้งสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม มาจากพระบรมราชโองการโดยตรง

 

 

กรณีนี้จึงถือว่าไม่ธรรมดา และปรากฏว่า นับจากวันที่ 20 พ.ย. 2562 ถึงวันนี้ 31 ม.ค. 2563 ร่วมๆ 3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งเจ้าคณะหน-เจ้าคณะภาคลงมา มีเพียงข่าวจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ระบุว่า

 

 

"สาเหตุที่การแต่งตั้งเจ้าคณะหน-เจ้าคณะภาคล่าช้า เพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดำเนินตาม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2561 โดยเคร่งครัด ถือว่ายังอยู่ในช่วงการลงพระบัญชาแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช"

 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "สมเด็จพระสังฆราช ย่อมจะทรงสามารถปรับเปลี่ยนมติมหาเถรสมาคมได้ โดยผ่านการพิจารณาใหม่ของมหาเถรสมาคม เหมือนมติคณะรัฐมนตรี" กรณีนี้จึงอาจจะมีพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้นำเอาบัญชีรายชื่อเจ้าคณะหน-เจ้าคณะภาค เข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประกาศไว้แล้ว

 

 

 

 

 

 

8 มกราคม 63

มส. ตั้งพงศ์พรเป็นบอร์ดพระปริยัติธรรม

 

 

ครั้นวันที่ 8 มกราคม 2563 ก็มีข่าวใหญ่ในวงการพระศาสนาอีกครั้ง เมื่อวันนั้น สมเด็จพระสังฆราช ทรงงดการประชุมมหาเถรสมาคม และในที่ประชุม มส. วันนั้น สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ จึงได้เป็นประธานการประชุมแทน

 

 

ปรากฏว่า มีวาระสำคัญ คือ การเสนอแต่งตั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านกิจการพระพุทธศาสนา ให้ดำรงตำแหน่ง "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" หรือบอร์ดพระปริยัติธรรม ตาม พรบ.พระปริยัติธรรม ฉบับใหม่ ซึ่งรวบเอาการศึกษาคณะสงฆ์ 3 แผนก คือ นักธรรม บาลี และปริยัติสามัญ มาอยู่ในที่เดียวกัน ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการชุดใหม่ ใหญ่กว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสมือนการตั้งกระทรวงศึกษาธิการของคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่

 

 

 

 

 

 

 

ข้อที่น่าสังเกตก็คือว่า พงศ์พร ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบอร์ดพระปริยัติธรรมครั้งนี้ ผ่านการประชุมมหาเถรสมาคม นัดที่สมเด็จพระสังฆราชมิได้เสด็จเป็นประธานการประชุม ซึ่งถ้านำไปเปรียบเทียบกับการประชุม มส. นัดตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 แล้ว ก็เหมือนกันมาก นั่นคือ สมเด็จพระสังฆราช ทรงงดประชุม แต่ครั้งแรกนั้น พงศ์พร ได้ออกมาต่อต้านการประชุม มส. (นัดที่ไม่มีพระสังฆราช) ว่าไม่ชอบธรรม จึงนำคำร้องเรียนไปทูลถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อโปรดพิจารณาทบทวนมติ มส.

 

ครั้งนี้ กลับปรากฏว่า พงศ์พร ยินยอมรับตำแหน่งกรรมการบอร์ดพระปริยัติธรรม ซึ่งผ่านการพิจารณาของมหาเถรสมาคม เหมือนครั้งตั้งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งตนเองเห็นว่าไม่ชอบธรรมไปแล้วนั้น มันก็น่าฉงน

 

น่าฉงนเพราะว่า เป็นมติมหาเถรสมาคมเหมือนกัน สมเด็จพระสังฆราชมิได้เสด็จมาประชุมเหมือนกัน แต่การยอมรับของพงศ์พร กลับไม่เหมือนกัน เหมือนกับว่า ถ้าตนเองไม่ได้ หรือไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบ ต้องฟ้องพระสังฆราช แต่ถ้าตนเองได้ ก็เงียบ ไม่มีปากมีเสียงเลย ก็ต้องดูกันต่อไป ว่าไผเป็นไผ

 

 

ไม่มีอะไรจะตัดสินคนได้ดีเท่ากับ..พฤติกรรม หรือการกระทำ

 

 

 

 

อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม รายงาน : 1 กุมภาพันธ์ 2563

 

 

 

 

WWW.ALITTLEBUDDHA.COM WAT THAI LAS VEGAS 2920 MCLEOD DRIVE LAS VEGAS NEVADA 89121  U.S.A.  PHONE. 702-384-2264